posttoday

ผู้เชี่ยวชาญชี้ Bitcoin มีจุดอ่อนเพียบ

16 มิถุนายน 2564

บทความของหนังสือพิมพ์ The New York Times ชี้จุดอ่อนของ Bitcoin สกุลเงินดิจิทัลที่ขึ้นลงเหมือนรถไฟเหาะ

The New York Times ระบุว่า Bitcoin มีความผันผวนมาตั้งแต่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2009 เมื่อต้นปีที่ผ่านมาราคา Bitcoin 1 เหรียญทะยานทะลุ 60,000 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 8 เท่าในเวลา 12 เดือน แต่หลังจากนั้นมูลค่าตกลงเกือบครึ่งภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่ถึงอย่างนั้นมูลค่ารวมของสกุลเงินดิจิทัลยังสูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

แล้วอนาคตของสกุลเงินดิจิทัลจะเป็นอย่างไร เราควรใช้หรือลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลหรือไม่? แล้วราคาที่แกว่งไปแกว่งมา โดยมูลค่าหายไปเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ส่อแววว่าระบบการเงินมีปัญหาใช่หรือไม่?

ในบทความนี้ผู้เขียนของ The New York Times ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของ Bitcoin ไว้ดังนี้

มักถูกนำมาใช้ในเรื่องผิดกฎหมาย

Bitcoin ถูกสร้างขึ้น (โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร) เพื่อใช้ทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ต้องผ่านบุคคลที่สามที่เชื่อถือได้อย่างธนาคารกลางหรือสถาบันการเงิน การทำธุรกรรมผ่าน Bitcoin ใช้เพียงการยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัล ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนได้ในระดับหนึ่ง จุดนี้ทำให้ Bitcoin ถูกนำมาใช้ในเรื่องผิดกฎหมายอย่างการแฮกระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเรียกค่าไถ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสหรัฐ

ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายในการใช้

ในขณะที่ Bitcoin ได้รับความนิยมมากขึ้น การใช้ Bitcoin กลับยุ่งยาก ช้า และมีค่าใช้จ่ายสูง การทำธุรกรรมโดยใช้สกุลเงินดิจิทัลส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาราว 10 นาทีในการตรวจสอบความถูกต้อง และมีค่าทำธุรกรรมเฉลี่ยราว 20 เหรียญสหรัฐ หรือ 623 บาท

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังระบุว่า มูลค่าของ Bitcoin ที่แกว่งไปแกว่งมาทำให้ไม่เหมาะกับการเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน โดยเปรียบเทียบกับการใช้ธนบัตรว่า วันหนึ่งเราสามารถซื้อเบียร์ในราคา 10 เหรียญสหรัฐ แต่อีกวันหนึ่งเงินเท่ากันสามารถซื้อไวน์ได้เลยทีเดียว

ไม่ได้ปกปิดตัวตนได้ 100%

Bitcoin ไม่ได้ให้การปกปิดตัวตนอย่างแท้จริงและไม่ใช้ธุรกรรมที่ตามรอยไม่ได้อีกต่อไป เพราะเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลสหรัฐสามารถตามรอย Bitcoin ที่บริษัท Colonial Pipeline จ่ายให้กับแฮกเกอร์ DarkSide ที่โจมตีระบบคอมพิวเตอร์ และนำกลับคืนมาได้ส่วนหนึ่ง

กลายเป็นการเก็งกำไร

Bitcoin กลายเป็นการลงทุนแบบเก็งกำไร Bitcoin ไม่มีมูลค่าที่แท้จริงและไม่มีอะไรหนุนหลัง ผู้ที่เชื่อมั่นใน Bitcoin อาจจะบอกว่า Bitcoin ก็เหมือนทองคำที่มูลค่าเกิดขึ้นจากความหายากของมัน (อัลกอรึทึมกำหนดให้ Bitcoin ทั่วโลกขุดได้เพียง 21 ล้านเหรียญเท่านั้น โดยขณะนี้ขุดไปแล้วเกือบ 19 ล้านเหรียญ)

ทว่าผู้เขียนระบุว่า ความหากยากอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างมูลค่าให้ Botcoin นักลงทุน Bitcoin ดูเหมือนจะต้องพึ่งพาทฤษฎีคนที่โง่กว่า (greater fool theory) นั่นคือ หากอยากได้กำไรจากการลงทุนก็ต้องหาคนที่ต้องการซื้อ Bitcoin ในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อมา

ยังไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุม

ผู้เขียนบอกว่า แม้ว่า Bitcoin จะมีมูลค่าสูงในกระดาษ แต่การล่มสลายของ Bitcoin หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ไม่อาจทำให้ระบบการเงินสั่นสะเทือนได้ เนื่องจากธนาคารไม่ได้เข้ามาเล่นในสนามสกุลเงินดิจิทัล แต่คนที่เสี่ยงที่จะขาดทุนที่สุดคือ นักลงทุนที่ขาดประสบการณ์ซึ่งเข้าร่วมปาร์ตี้ Bitcoin ช้าเกินการณ์

รัฐบาลควรเตือนนักลงทุนรายย่อยว่าต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง และแม้จะมีกฎเกณฑ์มาควบคุมการลงทุนในหลักทรัพย์ที่สามารถเก็งกำไร Bitcoin แล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลทำได้หรือควรทำก็มีไม่มากนัก

สิ้นเปลืองพลังงาน

การทำธุรกรรมเกี่ยวกับ Bitcoin ใช้พลังงานมหาศาล จากการประเมินคร่าวๆ พบว่าเครือข่าย Bitcoin ใช้พลังงานเท่ากับพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในประเทศอาร์เจนตินาและนอร์เวย์ ยังไม่ต้องพูดถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากเครื่องมือพิเศษที่ใช้ในการขุดบิตคอยน์ที่เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วอีก

สร้างความไม่เท่าเทียม

ทว่า นวัตกรรมทางการเงินนี้อาจตอกย้ำความไม่เท่าเทียม ทักษะทางการเงินและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ไม่เท่าเทียมอาจส่งผลให้นักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญได้ประโยชน์ ในขณะที่คนที่ด้อยประสบการณ์เลือกเสี่ยงกับสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้

อีกทั้งอัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์อาจทำให้การเหยียดเชื้อชาติหรือความลำเอียงอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วในการประเมินคะแนนเครดิตและการให้สินเชื่อแย่ลงอีก

ผู้เขียนของ The New York Times ชี้ว่าแม้ว่าผู้คนจะให้ความสนใจกับราคาของ Bitcoin ที่ผันผวนเหมือนรถไฟเหาะ แต่ผลที่ตามมาที่มากกว่านั้นคือ การปฏิวัติด้านการเงินที่เกิดขึ้นซึ่งในท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบกับเราทุกคนทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย

Photo by INA FASSBENDER / AFP