posttoday

การนิรโทษกรรมจะป้องกันไม่ให้ต่างด้าวหลบหนี

23 ธันวาคม 2563

มีเขื่อนไขมากกมายที่ทำให้การป้องปราบแรงงานต่างด้าวไม่ได้ผล แต่มีวิธีเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งอาจช่วยลดแรงกดดันให้ทุกฝ่ายได้

และแล้วสิ่งที่หลายคนกังวลก็กลายเป็นจริง เมื่อมีข่าวเรื่องนายจ้างที่ จ. สมุทรสาครลอยแพลูกจ้างเมียนมาซึ่งไม่มีหลักฐานอนุญาตทำงาน จากการสอบสวนยังทราบว่านายจ้างพาหลบหนีออกมาเพราะกลัวตำรวจเข้ามาตรวจ และกำลังจะนำแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไปส่งต่อที่ จ.ระยอง แต่ทั้งหมดปฏิเสธจึงต้องนำตัวไปส่งญาติที่บางพลี แต่ญาติไม่ยอมรับเพราะรู้ว่ามาจาก จ.สมุทรสาคร จึงลอยแพทิ้งไว้เสียอย่างนั้น

กรณีแบบนี้คงไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียว ตราบใดที่ยังมีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง คนเหล่านี้ก็จะใช้วิธีหลบหนีต่อไป ไม่ยอมออกมามอบตัว และนายจ้างจะใช้วิธีพาไปส่งที่ไกลๆ เพื่อทำงานตามท้องไร่ท้องนาไกลหูไกลตาเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หรือลอยแพ้ทิ้งไว้กลางทางเสียเลย

แรงงานเหล่านี้กระทำความผิด แต่ความผิดของพวกเขาเกิดจากความกระเสือกกระสนหางานทำช่วงที่โควิด-19 ทำให้พวกเขามีสภาพที่ยากแค้นในบ้านเกิดเมืองนอน แน่นอนว่าแม้จะมีเรื่องน่าเห็นใจแต่มันยังเป็นความผิดอยู่ดี และยังทำให้คนไทยเห็นใจได้ยากเพราะทำให้คนไทยพลอยเสี่ยงติดโรคไปด้วย

หากแรงงานต่างด้าวผิดจนเห็นใจได้ยากแล้ว คนที่นำพวกเขาเข้ามาและว่าจ้างแรงงานเหล่านี้ยิ่งผิดมากกว่า ได้กระทำทั้งเรื่องผิดกฎหมายอย่างการจ้างแรงงานเถื่อน ช่วยเหลือผู้ลักลอบเข้าเมือง และขาดจิตสำนึกเพราะทำให้เพื่อนร่วมชาติเสี่ยงกับโรคระบาดเพียงเพื่อจะทำธุรกิจ นายจ้างเหล่านี้จึงมี "โทษมหันต์"

แต่การเอาโทษคนเหล่านี้รังแต่จะเป็นภัยต่อประเทศไทย เพราะอย่างที่กล่าวไปว่าในเมืองแรงงานเข้ามาแบบเถื่อนๆ ถูกจ้างแบบเถื่อนๆ คนเหล่านี้ไม่มีทางกล้ามาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ มีแต่จะถูกส่งไปที่ไกลๆ หรือทิ้งไว้เป็นภาระคนไทยเสียอีก

หนึ่งในวิธีการเฉพาะหน้าคือรัฐบาลอาจจะต้อง "ประกาศนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายและนายจ้างแรงงานผิดกฎหมาย"

โดยเริ่มทดลองการนิรโทษกรรมในพื้นที่ Ground zero หรือจุดที่เกิดการระบาดแรกเริ่มก่อนคือ จ. สมุทรสาคร หากได้ผลจึงค่อยขยายให้ครอบคลุมในที่อื่นๆ

การนิรโทษกรรมควรประกาศให้ชัดว่า แรงงานผิดกฎหมายจะไม่ถูกลงโทษ นายจ้างจะไม่ถูกเอาความ และผู้นำเข้ามาจะไม่ถูกดำเนินคดีเป็นชั่วคราว

เมื่อแรงงานมามอบตัวแล้วจัดการตรวจโรคและสอบถามความสมัครใจว่าจะกลับประเทศต้นทางหรือจะขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานถูกกฎหมาย (วิธีการนี้มาเลเซียใช้ในเดือนธันวาคมนี่เอง)

รัฐบาลต้องกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนว่าจะครอบคลุมช่วงเวลาใดและสิ้นสุดระยะใด เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนฉวยโอกาสที่มีการละเว้นโทษแล้วนำแรงงานเข้ามาสวมรอย และในเวลาเดียวกันเจ้าหน้าที่ชายแดนและหน่วยสกัดตามจุดต่างๆ ต้องทำงานเข้มข้นขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีแรงงานฉวยโอกาสที่มีการนิรโทษกรรมเพื่อที่จะลักลอบข้าประเทศ

การประกาศนิรโทษกรรมแรงงานต่างด้าวถูกนำมาใช้ในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ หรือแม้แต่สหรัฐ โจ ไบเดนก็เสนอจะนิรโทษกรรมแรงงานต่างด้าว

ในกรณีของเกาหลีใต้มีการนิรโทษกรรมตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19 คือเมื่อปี 2019 โดยเป้าหมายของการนิรโทษกรรมคือการลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองซึ่งต้องทำงานหนักเพราะจำนวนผู้อพยพผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น และการอพยพแรงงานผิดกฎหมายออกจากเกาหลีโดยความสมัครใจทำต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้

เกาหลีใต้จึงไม่ใช้การนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 เหมือนกับประเทศไทย แต่มีประเด็นหนึ่งน่าสนใจก็คือความไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่าจะทำอย่างที่พูดหรือไม่ (คือไม่เอาผิดแรงงานผิดกฎหมาย) ในเรื่องนี้หัวหน้าคณะกรรมาธิการกิจการตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ (KIS) เคยให้สัมภาษณ์กับ The Korea Times ว่ารัฐบาลจะออกหนังสือยืนยันให้ ตราบใดที่มารายงานตัวตามกำหนด พวกเขาจะได้รับวีซ่าเข้าออกหลายครั้งในคราวต่อไป

สิ่งสำคัญก็คือหัวหน้า KIS บอกว่า จะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันทีละน้อยๆ

หัวใจของการนิรโทษกรรมก็คือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ หากรัฐบาลไทยจะใช้วิธีนี้จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่าแรงงานที่ผิดกฎหมายที่มารายงานตัวไม่ถูกลงโทษจริง และได้รับบริการตรวจเชื่อจริง และจะมีการจัดระเบียบจริงๆ เพื่อที่พวกเขาจะไม่ต้องถูกขึ้นบัญชีดำในอนาคต

ในกรณีของมาเลเซียไม่ได้นิรโทษกรรมแบบฟรีๆ เพราะมีการปรับนายจ้างด้วยและต้องจ่ายภาษี ซึ่งไม่ใช่เงินจำนวนมากนัก แต่ยังดีกว่าโทษทางอาญาที่รุนแรงกกว่านี้และยังช่วยลดแรงกดดันให้กับทุกฝ่ายด้วย

สถานะอย่างประเทศไทยที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายหลายแสนคนหรืออาจจะหลายล้านคน ทางเลือกที่จะกวาดคนเหล่านี้มาควบคุมให้อยู่กับที่ "เป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรง"

แต่หากปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างจริงใจ และยืนยันว่าจะไม่มีการเอาผิดหากมอบตัวในเวลาที่กำหนด เชื่อว่านายจ้างและแรงงานต่างด้าวจะมาแสดงตัวอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

สิ่งที่ไทยต่างจากเกาหลีใต้และมาเลเซียก็คือ พรมแดนทั้งสี่ทิศของไทยประชิดเพื่อนบ้านทั้งสี่ทิศ โดยที่มีพรมแดนติดกับเมียนมายาวที่สุดและควบคุมยากที่สุดด้วย

เกาหลีใต้นั้นติดแค่เกาหลีเหนือซึ่งมีพรมแดนที่เข้มงวดที่สุดในโลก แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นพวก "หนีวี" คือเข้ามาทางเครื่องบินด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวแล้วโดดทัวร์ไปทำงาน

มาเลเซียมีพรมแดนติดกับไทยแค่ทางเหนือเท่านั้น โดยแรงงานส่วนใหญ่เข้ามาทางประเทศไทยนั่นเองและจำนวนไม่น้อยก็เป็นคนไทย คนเมียนมา คนกัมพูชา และโรฮิงยา/บังกลาเทศ เมื่อไทยปิดพรมแดนมาเลเซียจึงกังวลน้อยลง เหลือแค่นิรโทษกรรมคนเดิมที่อยู่ตกค้างในประเทศเท่านั้น

ดังนั้นระยะเวลานิรโทษกรรมของมาเลเซียจึงลากยาวไปถึง 30 มิถุนายน 2021 สาเหตุก็เพราะมาเลเซียไม่ต้องกังวลมากนักว่าจะมีแรงงานทะลักเข้ามาอีก และในช่วงเดือนมิถุนายนก็น่าจะเป็นเวลาที่หลายประเทศได้รับวัคซีนที่สั่งไปแล้ว

ความท้าทายของไทยคือ ถึงแม้จะนิรโทษกรรมไปแล้ว ยังมีโอกาสที่แรงงานผิดกฎหมายจะทะลักเข้าอีก คราวนี้ไม้ควรจะใช้ไม้อ่อนอีก ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องใช้ไม้แข็งแบบไม่ต้องเกรงหน้าอินทร์ หน้าพรหม หรือเกรงใจเพื่อนพ้อง เครือข่ายผลประโยชน์หน้าไหนอีก

อย่าลืมว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศไม่ใช่ไม่มีกฎหมาย แต่มีกฎหมายแล้วไม่บังคับใช้จริงจัง เช่นเดียวกันเมื่อจะใช้วิธีนิรโทษกรรมก็ต้องใช้อย่างจริงใจเช่นกัน ไม่ใช่ว่าปากบอกว่าไม่เอาผิดแล้วฉวยโอกาสข่มขู่รีดไถ

ไม่เช่นนั้นต่อให้ใช้กี่ครั้งก็ไม่มีวันสำเร็จ

Photo by Jack TAYLOR / AFP