posttoday

แบงก์เข้มปล่อยกู้สินเชื่อ ฉุดยอดขายรถใหม่ร่วง

22 มิถุนายน 2566

ส.อ.ท.โชว์ยอดส่งออกรถยนต์ 5 เดือนแรกปี66 โต 17.09% อนิสงส์ตลาดคู่ค้าขยายตัวดี ขณะที่ตลาดในประเทศยอดขายรถ กระบะ-บรรทุกร่วง หลังแบงก์คุมเข้มสินเชื่อ ผลจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง หวังมีรัฐบาลใหม่ดันเศรษกิจโต-ขยายมาตรการหนุนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่จะหมดอายุสิ้นปีนี้

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน พ.ค.66 อยู่ที่ 86,358 คัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.25% จากเดือน พ.ค.65

 

ขณะที่มีมูลค่าการส่งออก 54,969.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.91% จากเดือน พ.ค.65 เนื่องจากยอดขายของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดี เช่น อินโดนีเซียเติบโต 65%  ญี่ปุ่นเติบโต 25%  ฝรั่งเศส  24%มาเลเซีย  21% อังกฤษ  23% สหรัฐฯโต 22%

 

ทั้งนี้ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปทั้งสิ้น 439,990 คัน เพิ่มขึ้น 17.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าส่งออก 273,255. 84  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.06% หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน 

 

ส่วนการผลิตในเดือน พ.ค.66 มีจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ 150,532 คัน เพิ่มขึ้น 16.48% จากเดือน พ.ค.65 โดยผลิตส่งออก 89,709 คันและผลิตขายในประเทศ 60,823 คัน

 

สำหรับการผลิตส่งออกและผลิตขายในประเทศทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะเพิ่มขึ้นจากฐานต่ำของปีก่อน เนื่องจากขาดแคลนชิปจากสงครามยูเครนและการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน และเพิ่มขึ้น 27.96% จากเดือน เม.ย.66

 

ทั้งนี้ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 775,955 คัน เพิ่มขึ้น 6.72% หากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 65,088 คัน เพิ่มขึ้น 0.55% จากเดือน พ.ค.65 และเพิ่มขึ้น 9.34% จากเดือน เม.ย.66 เพราะรถยนต์นั่งที่เติบโตถึง 29.4% จากฐานต่ำในเดือน พ.ค.65 จากการขาดชิ้นส่วนชิป เพราะสงครามยูเครนและการล็อกดาวน์ของประเทศจีนจากโควิด-19

 

โดยรถกระบะยอดขายลดลง 23.3% จากการเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มียอดขายรถยนต์รวม 341,691 คัน ลดลง 4.91 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


"ยอดขายรถระบะและรถบรรทุก ในประเทศลดลงจากการเข้มงวด การปล่อยสินเชื่อหลังตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และมีการนำเข้ารถราคาถูกเข้ามาตีตลาด และหวังว่าช่วงครึ่งปีหลังที่มีรัฐบาลใหม่แล้วเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโต" 

 

ทั้งนี้ เป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ยังคงเดิม ทั้งยอดการผลิต 1.95 ล้านคัน แบ่งเป็นการส่งออก 1.05 ล้านคัน เนื่องจากคู่ค้ายังมีการเติบโตที่ดี และยอดขายในประเทศ 9 แสนคัน  คาดว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังฟื้นตัว 

 

ส่วนกรณีสถาบันการเงินของเมียนมาถูกคว่ำบาตรไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ เนื่องจากเมียนมาได้ห้ามนำเข้ารถยนต์ตั้งแต่กลางปี 65 แล้ว ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ที่ลดลงก็เป็นจังหวะดีที่ยอดชขายรถจักร ยานยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
 

 

ขณะที่ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงพบว่า

- BEV ในเดือน พ.ค.66 ยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่จำนวน 7,132 คัน เพิ่มขึ้น 355.14% จากเดือน พ.ค.65 ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสม 33,365 คัน เพิ่มขึ้น 485.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

- HEV ยานยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV จดทะเบียนใหม่จำนวน 8,013 คัน เพิ่มขึ้น 49.44% จากเดือน พ.ค.65 ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้มียานยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 38,647 คัน เพิ่มขึ้น 42.65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

- PHEV ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV จดทะ เบียนใหม่จำนวน 1,025 คัน ลดลง 2.94% จากเดือน พ.ค. 65 ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มียานยนต์ประเภทไฟ ฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 5,197 คัน เพิ่ม ขึ้น 6.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ทั้งนี้ นักลงทุนหวังว่ารัฐบาลใหม่จะขยายมาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าที่จะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ออกไปอีก ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ