posttoday

"AF" เสนอแนวทางรัฐช่วย SMEs - ลุยปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง GREEN Project

15 พฤษภาคม 2567

"ไอร่า แฟคตอริ่ง(AF)"ชี้ต้นทุนดอกเบี้ยสูง-แบงก์คุมเข้มปล่อยสินเชื่อ กดดันภาพรวมสินเชื่อ SMEs ปีนี้โต 1-2% พร้อมประกาศแผนปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง GREEN Project-สินเชื่อธุรกิจทางการแพทย์-อาหารและเครื่องดื่ม-โลจิสติกส์ คาดยอดปล่อยสินเชื่อรวมทั้งปีเติบโต 10-12%

     นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AF ธุรกิจให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจระดับมหภาคมองว่ายังไม่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ คาด GDP ปีนี้ขยายตัว 2.5-3% มีเพียงบางภาคเศรษฐกิจที่เติบโต เช่น บริการและท่องเที่ยว แต่ธุรกิจอื่นๆยังไม่เติบโตมากนัก ผลจากการใช้งบของรัฐบาล การลงทุนและการบริโภคของเอกชน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงต้นทุนการเงินสูงจึงมีผลกระทบต่อการเติบโตของอัตราการปล่อยสินเชื่อ SMEs ในปีนี้

     โดยภาพรวมอุตสาหกรรมสินเชื่อ SMEs ปีนี้คาดว่าจะเติบโตราว 1-2% จากปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากภาวะต้นทุนดอกเบี้ยสูง ประกอบกับสถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ SMEs ดังนั้นธุรกิจ SMEs เน้นประคองตัวและคุณคุณภาพสินเชื่อ คาดว่าจะกระทบต่อสินเชื่อแฟคตอริ่งในภาพรวม เนื่องจากแฟคตอริ่งเป็น Post Finance คาดว่าอัตราการเติบโตของตลาดสินเชื่อแฟคตอริ่งปีนี้ไม่น่าเกินกว่า 2% จากปีก่อน

     "ในฐานะผู้ประกอบการด้านแฟคตอริ่งอยากให้ภาครัฐสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ ดังนี้ ในระยะแรกเพื่อให้เกิดการเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเท่าเทียมเสนอให้ภาครัฐ เช่น หน่วยงานภาครัฐต่างๆพิจารณาสนับสนุนคู่ค้าของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นผู้จำหน่ายสินค้าและบริการแก่รัฐด้วยการร่วมมือกับผู้ให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่ง ข้อดี คือ ไม่ต้องใช้หลักประกัน และ เน้นพิจารณาความเสี่ยงขึ้นกับผู้ซื้อภาครัฐ ในฐานะแหล่งจ่ายเงินค่าสินค้า โดยสถาบันการเงินจะรับมอบสิทธิ์เรียกร้องจากผู้ขายในการรับชำระหนี้จากรัฐแทน ซึ่งจะทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนสำหรับ SMEs ทันที

     ส่วนในระยะยาวปัจจุบันการให้บริการแฟคตอริ่งไทยใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงิน ซึ่งประเทศอื่นมีกฎหมายแฟคตอริ่งเฉพาะทำให้การให้บริการการเข้าถึงและการดำเนินทางกฎหมายง่ายกว่า กรณีที่รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันให้มีกฎหมายแฟคตอริ่งในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ธุรกิจแฟคตอริ่งเติบโตได้อีกหลายเท่า"

 

ลุยปล่อยสินเชื่อ 4 กลุ่มหลัก

     กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปีนี้บริษัทเดินหน้าปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง 4 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน (GREEN Project), กลุ่มธุรกิจทางการแพทย์, กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ เนื่องจากธุรกิจอยู่ในเทรนด์การเติบโตที่ดี มีดีมานด์ความต้องการสินเชื่อค่อนข้างสูง และที่สำคัญคือเพื่อกระจายความเสี่ยงการปล่อยสินเชื่อให้หลากหลายธุรกิจ บริษัทมั่นใจว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยให้ยอดการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งโดยรวมในปีนี้เติบโตราว 10-12% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเม็ดเงินปล่อยใหม่ราว 600 ล้านบาท

     ทั้งนี้การปล่อยสินเชื่อผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้ non factoring credit อาทิ โครงการประหยัดพลังงาน(GREEN Project) ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน โดยเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วม รักษาสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทาง ESG พัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ล่าสุดบริษัทปล่อยสินเชื่อให้กลุ่ม GREEN Project และกลุ่มทางการแพทย์ตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 จนถึงปัจจุบันมากกว่า 100 ล้านบาท ถือเป็นยอดปล่อยสินเชื่อที่สูงกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้

     "ที่ผ่านมาเราปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งกระจายหลากหลายกลุ่มธุรกิจ เพื่อกระจายความเสี่ยงหากเกิดผลกระทบอะไร ซึ่งปีนี้เราจะเน้นปล่อยสินเชื่อ 4 กลุ่มธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยงมากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าเฟดจะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยช่วงไหนและแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยในปีนี้หรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือคุมความเสี่ยงธุรกิจ โดยขยายฐานลูกค้าที่ทำธุรกิจอยู่ในเทรนด์เติบโต และดูแลลูกค้าที่มีอยู่ให้สามารถเติบโตต่อไปได้ เราค่อนข้างมีความยืดหยุ่นในการทำงาน ดังนั้นเชื่อว่าแผนที่เราทำน่าจะช่วยให้ธุรกิจมีทิศทางที่ดี"

     ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในปีนี้ บริษัทพยายามรักษาระดับต่ำกว่า 4% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.7% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่ามุมมองบางหน่วยงานที่ประเมินภาพรวม NPL ปีนี้อยู่ที่ 7.7% อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องติดตามคือสถานการณ์ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งอาจไม่นับรวมภาคการท่องเที่ยวหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าธุรกิจอื่นๆ นั่นหมายความว่าเมื่อต้นทุนทางการเงินของแต่ละอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูงย่อมส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้านั่นเอง

     อย่างไรก็ดี แฟคเตอริ่ง (Factoring) คือ บริการรับซื้อลูกหนี้การค้า เป็นสินเชื่อเพื่อธุรกิจและเป็นสินเชื่อระยะสั้นที่ให้กับผู้ประกอบการ เจ้าของ ธุรกิจ SME นำ Invoice หรือ เอกสารทางการค้า เช่น ใบสั่งซื้อ, ใบแจ้งหนี้ค้างชำระ, ใบวางบิล หรือใบตรวจรับพัสดุที่มีอยู่มาขาย เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดใช้หมุนเวียนในธุรกิจเสริมสภาพคล่อง 

     โดย ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ SME ส่งมอบงานหรือดำเนินงานเสร็จสิ้นแล้ว สามารถนำ Invoice มาขาย เบิกเงินสดกับทาง AF ได้รับเงินราว 80-90% ของมูลค่าเอกสาร (ขึ้นอยู่กับการพิจารณาในแต่ละกรณี) จากนั้น ทาง AF จะเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากคู่ค้าเมื่อครบเครดิตเทอมการค้า หลังจากหักภาระแล้ว ทางผู้ประกอบการจะได้รับเงินส่วนต่างที่เหลือ (Reserve) ซึ่งสินเชื่อแฟคตอริ่งถือเป็นทางเลือกที่สะดวกและรวดเร็ว แก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับเจ้าของธุรกิจและเป็นสินเชื่อที่ไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันทำให้ผู้ประกอบการสามารถขยายธุรกิจได้โดยไม่ต้องรอคอยเครดิตเทอมที่ยาวนานของลูกค้า