posttoday

เทศกาลไหว้ขนมบ๊ะจ่าง

19 มิถุนายน 2564

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฎิทินจันทร์คติหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าปฎิทินจีนนั่นแหละครับ เป็นวันเทศกาลไหว้ขนมบะจ่างหรือถ้าเรียกเป็นภาษาจีน ก็เรียกว่า “ตวนหวู่เจ๋” ชาวจีนทุกประเทศทั่วโลกต่างทำขนมบะจ่างมาไหว้เจ้าที่เจ้าทางกัน ก็มีเพื่อนถามไถ่มาว่าที่ประเทศเมียนมามีการไหว้กันหรือไม่

ผมก็ตอบไปว่า “มีครับ” เพราะที่ประเทศเมียนมาก็มีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่กันเยอะมาก โดยเฉพาะชาวจีนยูนนานที่อาศัยอยู่ทางแถบตอนเหนือของประเทศเมียนมานั้นมีเยอะจริงๆ ถ้าอยู่ในกรุงย่างกุ้ง ก็จะมีอาศัยอยู่ที่ไชน่าทาวน์ หรือแถบถนนมหาบันดูล่า และถนนอนอระธา

โดยหากจะแบ่งแยกกันเหมือนสมัยก่อน ด้านซ้ายมือของถนนมหาบันดูล่า จะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน และทางฝั่งขวามือก็จะเป็นชาวจีนกวางตุ้ง เกือบจะทุกซอกซอยบนถนนนี้ จะมีชมรมหรือสมาคมชาวจีนต่างๆ มากเป็นหลายสิบสำนักอาศัยอยู่บนอาคารเหล่านั้น แน่นอนทุกๆชมรมหรือสมาคมชาวจีน ก็จะมีศาลเจ้าบรรพบุรุษตั้งอยู่ที่นั่นด้วย

พอถึงวันเทศกาลก็จะมีชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง ต่างจัดของไหว้มาไหว้เจ้ากัน แน่นอนว่าเทศกาลไหว้บะจ่างก็จึงเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่มีการมาไหว้กันครับ

ส่วนความเป็นมาของเทศกาลตวนหวู่เจ๋หรือเทศกาลไหว้ขนมบะจ่างนี้ มีความเป็นมาอย่างไร ผมเชื่อว่าชาวจีนรุ่นใหม่ๆ หรือเด็กๆที่ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์จีนมา ก็จะไม่ทราบ เอาเป็นว่าผมขออนุญาตแบ่งปัน เพื่อเป็นเกล็ดความรู้เล็กๆน้อยๆก็แล้วกันนะครับ เรื่องมีอยู่ว่า

ในยุคของ “ราชวงศ์ชุนชิวสือไต้” หรือประมาณก่อนปีคริสต์ศักราชปีที่ 770-476 ยุคนั้นประเทศจีนแบ่งออกเป็นหลากหลายประเทศมาก ต่างก็รบราฆ่าฟันกัน เพื่อแย่งพื้นที่การปกครอง มีประเทศหนึ่งเรียกว่า “ฉู่กั๋ว” มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งมีพระนามว่า “ฉู่ ฮ่วย หวาง” พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ปรีชาสามารถและชาญฉลาดมาก ทรงมองเห็นบ้านเมืองที่มีแต่การเล่นพรรคเล่นพวก คนที่จะเข้ามารับใช้ประชาชนเป็นข้าราชการ จึงมีแต่พวกลูกท่านหลานเธอทั้งหลาย พระองค์จึงทรงมีพระราชดำรัสเป็นพระราชโองการให้มีการสอบเข้ารับราชการ โดยจะคัดเลือกเอาคนที่มีความสามารถเท่านั้นเข้ามารับใช้ประชาชน ทำให้เกิดความไม่พอใจของเหล่าขุนนางกังฉินและไฮโซไฮซ้อทั้งหลาย จึงเกิดการประท้วงกันวุ่นวายไปหมด

แต่ก็มีขุนนางตงฉินท่านหนึ่ง ชื่อว่า “ฉวี แหยน”ได้ตระหนักถึงความเลวร้ายของระบบขุนนางแบบเก่า จึงได้ออกมานิพนธ์บทกลอนหลายฉบับ รำพึงรำพันถึงความเลวร้าย และพยายามที่จะสื่อให้เห็นถึงอันตรายของบ้านเมือง หากไม่ทำตามที่กษัตริย์ ฉู่ ฮ่วย หวาง ทรงมีพระราชดำริไว้ แต่ความพยายามนั้นก็ไม่เป็นผล

เพราะในสังคมน้ำเน่ามันมีมากกว่าน้ำดี (เหมือนที่ไหนก็ไม่รู้เนอะ) ต่อมาได้มีประเทศฉินได้เข้ามารุกรานดินแดนของฉู่กั๋ว และเข้าตีเมืองหลวงของฉู่กั๋วได้สำเร็จ ทำให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจต่อประชาชนผู้จงรักภักดีต่อบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั้งถึงวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฎิทินจันทร์คติ ท่านขุนนางตงฉิน ฉวี แหยน จึงได้ไปที่ริมน้ำ “หยาง หลอ เจียง” แล้วเอาก้อนหินผูกติดกับตัวท่านเอง แล้วจึงกระโดดน้ำกระทำอัตถวิบัติกรรม หลังจากนั้นชาวบ้านได้ทราบข่าว จึงมาร้องไห้กันที่ริมตะลิ่งแม่น้ำหยางหลอเจียง และช่วยกันงมหาศพแต่ไม่เจอ

ในขณะนั้นมีชาวบ้านบางคน ก็คิดว่าถ้าศพเน่าเปื่อย ฝูงปลาก็จะมาเทะกินศพ ซึ่งชาวบ้านที่มีความรักและศัทธาต่อความรักชาติบ้านเมืองและยอมเสียสละชีวิตของท่านขุนนางฉวี แหยน ชาวบ้านจึงทำขนมข้าวต้มมัด ที่ทำด้วยข้าวเหนียว แล้วนำไปโยนลงแม่น้ำหยางหลอเจียงกัน จึงได้มีการสืบทอดเป็นประเพณีมากันยาวนาน จนถึงปัจจุบันนี้เลยครับ

ทางรัฐบาลจีนเองก็ได้ประกาศให้วันดังกล่าวนี้เป็นวันหยุดประจำชาติ เพื่อเป็นสัญญาลักษณ์ของความรักชาติ นี่คือตำนานของขนมบะจ่างที่เราๆท่านๆได้นำมาไหว้เจ้าที่เจ้าทางกันจนถึงบัดนี้ครับ

ในช่วงชีวิตผมก็มีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่ผมได้ไปเรียนหนังสืออยู่ที่ไต้หวัน ผมไปในฐานะของนักเรียนที่เป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลคนหนึ่ง (ที่นั่นเขาเรียกว่า “เฉียวเซิน”)  และในยุคที่ผมไปอยู่ที่นั่น นักเรียนเฉียวเซินที่ไปเรียนที่นั่น จะเป็นเด็กลูกหลานคนมีฐานะกันทั้งนั้น แต่ไม่ใช่พวกเด็กดอยแม่สะลองอย่างพวกผมนะครับ

พวกเราเด็กดอยไปกันนั้นจะเป็นเด็กที่ฐานะยากจนครับ ผมต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย งานที่ผมไปทำก็เป็นประเภทขุดถนน วางท่อระบายน้ำ หรือไม่ก็พนักงานส่งของ (ก็เด็กรถนั่นแหละครับ ผมแกล้งเรียกให้ดูดีนิดหนึ่ง) ขับรถเท็กซี่ ทำงานโรงงาน จำได้ว่ามีอยู่ปีหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ที่ใกล้กับวันไหว้บะจ่างหรือตวนหวู่เจ๋นี่แหละครับ

ผมไปขุดถนนวางท่อปะปาอยู่ พอเที่ยงก็นั่งทานข้าวบนฟุตบาทข้างทางกัน แล้วก็เอนหลังนอนพักผ่อนบนกระดาษหนังสือพิมพ์ เผอิญวันนั้นมีเพื่อนร่วมห้องเรียนเดินผ่านมาเห็นเข้า ก็เข้ามาทักทายผม และถามไถ่พอได้ความ ปรากฎว่าเพื่อนก็นำเอาเรื่องที่พบผมข้างถนนไปเล่าให้เพื่อนๆที่โรงเรียนฟังกัน ปรากฎว่าทุกคนคงคิดว่าผมน่าสงสารและอดยาก พอวันไหว้บะจ่างหรือตวนหวู่เจ๋มาถึง ต่างก็เอาขนมบะจ่างมาฝากผม วันนั้นผมแบกขนมบะจ่างกลับบ้านแถบไม่ไหวเลยครับ

คิดดูว่าเอามาให้คนละลูกสองลูก ไม่รู้กี่ร้อยคน เล่นเอาผมต้องกินบะจ่างกันเป็นเดือนโดยไม่ต้องกินอย่างอื่นเลยครับ นี่คือความมีน้ำใจของเพื่อนนักเรียนชาวไต้หวัน

ทุกวันนี้ผมก็ยังมีการติดต่อกับเพื่อนๆเหล่านั้นอยู่เลยครับ