posttoday

ได้ไม่คุ้มเสีย! ผู้เชี่ยวชาญเตือนอย่าเสี่ยงติด Omicron เพื่อแลกภูมิคุ้มกัน

08 มกราคม 2565

ผู้เช่ยวชาญเตือนไม่จำเป็นต้องทำให้ตัวเองติดเชื้อเพื่อแลกกับภูมิคุ้มกัน เพราะเราได้รับการปกป้องจากวัคซีนและวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่แล้ว

นิตยสาร Times รายงานว่า เจสสิกา คิส แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจากรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐที่ตอบคำถามเกี่ยวกับ Covid-19 มาหลากหลายคำถามผ่าน TikTok @AskDrMom เผยว่า เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมาซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อของสหรัฐพุ่งทุบสถิติ เธอได้รับคำถามสุดเซอร์ไพรส์นั่นคือ “ควรจงใจติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) หรือไม่”

แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผู้คนส่วนใหญ่จะพยายามหลีกเลี่ยง Covid-19 กันสุดฤทธ์ แต่ขณะนี้เริ่มมีบางคนพยายามทำตรงกันข้าม เพื่อหวังจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองเช่นในกรณีของการติดโรคอีสุกอีใสที่จะเกิดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต

ทว่า คิสตอบไว้ใน TikTok ของเธอว่า “มันไม่ใช่ไอเดียที่ดีทั้งก่อนหน้านี้ทั้งในขณะนี้”

Times ระบุว่า โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้ง่ายทั้งในผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วและยังไม่ได้ฉีด ซึ่งข่าวที่ว่าเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมามีชาวอเมริกันกว่า 1 ล้านคนติดเชื้อทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนเริ่มสรุปว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงเชื้อไวรัสไปได้ตลอด การติดเชื้อแม้ฉีดวัคซีนแล้วจะกลายเป็นเรื่องปกติ และสำหรับคนที่ฉีดวัคซีนและได้รับเข็มกระตุ้นแล้วอาการจะไม่รุนแรง

ทว่าผู้เชี่ยวชาญบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การจงใจทำให้ตัวเองติดเชื้อไม่ใช่เรื่องฉลาด

เลาลู ฟายานจู ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของ Oak Street Health ในรัฐโอไฮโอเผยว่า มันเป็นเหมือนการพนันที่ไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และสำหรับคนที่ยังไม่ฉีด มันเหมือนกับการเล่นรัสเชียนรูเล็ตต์กับปืนออโตเมติก

อะกิโกะ อิวาซากิ นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยลซึ่งศึกษาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันไวรัสเผยว่า วิธีนี้มีปัญหาอยู่หลายประการ ประการแรก เราไม่มีทางรู้เลยว่าอาการป่วยจะรุนแรงแค่ไหน

ประการที่สอง วัคซีนและวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถให้การปกป้องที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว และประการที่สาม ทุกๆ การติดเชื้อสามารถสร้างโดมิโนเอฟเฟกต์ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อบุคคลอื่น

“เมื่อคำนวณผลได้ผลเสียก็ชัดเจนมากว่าความเสี่ยงมีมากกว่าประโยชน์ที่เราจะได้รับ” อิวาซากิเผยกับ Times

จนถึงขณะนี้ข้อมูลบ่งชี้ว่า คนที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีโอกาสเข้ารักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าคนที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา และคนที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลก็ไม่ป่วยหนักเมื่อเทียบกับระลอกก่อนหน้า

ทว่าแม้ว่าโอมิครอนจะรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น แต่มันอาจเป็นหายนะสำหรับบางคน โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความเปราะบางทางการแพทย์ซึ่งมีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ดี ไม่มีการการันตี 100% สำหรับทุกคนเช่นกันว่าจะปลอดภัย

ทั้งยังไม่มีทางที่เราจะรู้ว่าเรากำลังสัมผัสกับโอมิครอนหรือเดลตาที่กำลังระบาดและเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงกว่า เนื่องจาก ATK ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของสายพันธุ์ได้

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าห่วงคือ ภาวะ Long Covid หรืออาการหรือความผิดปกติที่ยังคงอยู่แม้ว่าจะหายจากการติดเชื้อแล้ว อาทิ เหนื่อย เพลีย สมองล้า และแม้อาการจาก Covid-19 จะไม่รุนแรงก็สามารถนำมาสู่ภาวะ Long Covid ได้เช่นกัน และแม้ว่าจะมีผลวิจัยบอกว่าวัคซีนสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long Covid ได้ ก็ยังเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะนี้หลังการติดเชื้อทั้งที่ฉีดวัคซีนแล้ว (breakthrough infection)

อิวาซากิเผยว่า ไม่มีเหตุผลที่จะตั้งใจรับความเสี่ยงนั้น

Times ตั้งคำถามต่อว่า แล้วที่บอกว่าการหายป่วยจาก Covid-19 ช่วยสร้างสุดยอดภูมิคุ้มกัน (super immunity) สำหรับคนที่ฉีดวัคซีนแล้วล่ะ

จริงอยู่ที่การติด Covid-19 แต่ละครั้งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติในระดับหนึ่ง และการผสมผสานการป้องกันเหล่านั้นเข้ากับการฉีดวัคซีนดูเหมือนจะให้การตอบสนองที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อีกทั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) ก็ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนบุคคลที่เคยติดเชื้อมาก่อนช่วยเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอย่างมีนัยสำคัญ และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ตามมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่าคนที่ติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น อาทิ งานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ที่พบว่า กลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้นกลุ่มเล็กๆ มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นหลังฟื้นตัวจากการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน (breakthrough infections)

และงานวิจัยกลุ่มเล็กๆ อีกชิ้นหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญ (peer reviewed) พบว่า ทั้งคนที่ฉีดและยังไม่ฉีดวัคซีนที่ติดโอมิครอนมีภูมิคุ้มกันต่อเดลตา

ข้อดีเหล่านี้เป็นประโยชน์กับผู้ที่บังเอิญติดเชื้อ แต่อิวาซากิเผยว่า ไม่จำเป็นที่ต้องตั้งใจทำให้ตัวเองติดเชื้อเพื่อแลกกับภูมิคุ้มกัน เพราะเราได้รับการปกป้องจากวัคซีนและวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่แล้ว ทั้งยังไม่มีการการันตีว่าการติดโอมิครอนจะปกป้องเราจาก Covid-19 สายพันธุ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

และอีกเหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ไม่ควรตั้งใจให้ตัวเองติดเชื้อคือ ภาระที่จะมีต่อบุคคลที่เปราะบางและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เหนื่อยล้า เนื่องจากผู้ติดเชื้อแต่ละรายสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่น รวมทั้งผู้ที่มีความเปราะบางทางการแพทย์ หรืออายุน้อยเกินไปที่จะฉีดวัคซีน หรือไม่ได้ป้องกันตนเอง

ฟายานจูเผยว่า หากมีใครสักคนที่จงใจให้ตัวเองติดเชื้อ อาจก่อให้เกิดห่วงโซ่ของการระบาด (chain of transmission) ซึ่งมีศักยภาพที่จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้น และท่วมท้นระบบสาธารณสุขที่ตึงตัวอยู่แล้ว

Photo by DANIEL MUNOZ / AFP