posttoday

จับตาอาการ 'โอไมครอน' แพทย์เผยต่างจาก 'เดลตา' อย่างสิ้นเชิง

01 ธันวาคม 2564

แม้ว่าขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเชื้อโอไมครอนร้ายแรงขนาดไหน แต่แพทย์เผยอาการเบื้องต้นที่พบมีดังนี้

ขณะนี้โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้แพร่กระจายไปอย่างน้อย 20 ประเทศแล้ว ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์นี้มีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายต่อไปและก่อให้เกิดความเสี่ยงระดับโลกสูงมาก ท่ามกลางความกังวลว่าไวรัสจะสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรง เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ในหลายตำแหน่ง

ทว่า ก่อนหน้านี้ดร.แองเจลีค คูตซี ประธานสมาคมการแพทย์แห่งแอฟริกาใต้กล่าวว่าผู้ติดเชื้อเท่าที่เธอพบแสดงอาการไม่รุนแรง อาทิ เหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอแห้ง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย และฟื้นตัวเต็มที่โดยไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล

นอกจากนี้เธอยังไม่พบผู้ป่วยคนใดสูญเสียกลิ่นหรือรับรส รวมถึงไม่พบว่าผู้ป่วยมีระดับออกซิเจนลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย ซึ่งต่างจากสายพันธุ์เดลตา 

ทั้งนี้ เธอรักษาผู้ป่วยประมาณ 30 รายและพบว่าอาการทั่วไปส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเป็นอาการเหนื่อยล้า โดยผู้ป่วยทั้งหมดที่เธอพบมีอายุไม่เกิน 40 ปี และเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ดร.คูตซี เตือนว่าไม่ควรชะล่าใจเนื่องจากขณะนี้ยังไม่ทราบถึงผลกระทบของสายพันธุ์โอไมครอนในผู้ป่วยสูงอายุ "เราไม่ได้บอกว่าจะไม่มีโรคร้ายแรงเกิดขึ้น แต่สำหรับตอนนี้ยังไม่พบอาการป่วยรุนแรงแม้ในผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน"

เช่นเดียวกับอุนเบ็น พิลเลย์ ผู้เชี่ยวชาญจากแอฟริกาใต้ซึ่งกล่าวในการบรรยายสรุปโดยกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ว่า ผู้ติดเชื้อเท่าที่พบขณะนี้มีอาการไม่รุนแรง โดยทั่วไปแล้วจะเป็นอาการไอแห้ง มีไข้ ปวดตามร่างกาย ซึ่งผู้ที่ได้รับวัคซีนจะแสดงอาการน้อยกว่ามาก

ขณะที่นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและหัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์ของรัฐบาลสหรัฐมองว่าแม้ข้อมูลเบื้องต้นจากแอฟริกาใต้ระบุว่ายังไม่พบอาการผิดปกติ แต่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสามารถตอบได้ว่าโอไมครอนจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงหรือไม่

ด้านไคย์ลี ควินน์ นักภูมิคุ้มกันวิทยาและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย RMIT ในเมลเบิร์น กล่าวว่า โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ที่มากผิดปกติซึ่งบรรดาผู้ผลิตวัคซีนต่างจับตามอง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังเร่งศึกษาเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของไวรัส ซึ่งรวมถึงอาการที่จะเกิดขึ้นหากติดเชื้อ ตลอดจนศักยภาพของไวรัสในการแพร่เชื้อและการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ซึ่งคาดว่าต้องให้เวลา 2 ถึง 3 สัปดาห์จึงจะสามารถหาข้อสรุปได้

ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนแล้วอย่างน้อย 247 รายใน 20 ประเทศและดินแดน ได้แก่ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร บอตสวานา เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส อิตาลี ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี ออสเตรีย อิสราเอล เดนมาร์ก สวีเดน สเปน บราซิล เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก เกาะเรอูนียงของฝรั่งเศส ฮ่องกง และญี่ปุ่น

ที่มา: The Guardian, Euro News, CNBC, South China Morning Post

ภาพ: VLADIMIR SIMICEK / AFP