posttoday

วัคซีนจะไหวไหม? ผู้เชี่ยวชาญห่วงโควิด B.1.1.529 กลายพันธุ์โหด

26 พฤศจิกายน 2564

B.1.1.529 กลายพันธุ์อย่างก้าวกระโดด หวั่นหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน

ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกำลังจับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 อย่างใกล้ชิด หลังจากพบการแพร่ระบาดในบอตสวานา ทวีปแอฟริกา ซึ่งพบการกลายพันธุ์มากถึง 50 ตำแหน่ง มากกว่าสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดอย่างหนักในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าการกลายพันธุ์มากกว่า 30 ตำแหน่งเกิดขึ้นที่โปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ ท่ามกลางความกังวลจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้ไวรัสมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีน

ศาสตราจารย์ทูลิโด เดอ โอลิเวียรา ผู้อำนวยการศูนย์รับมือโรคระบาดในแอฟริกาใต้กล่าวว่า B.1.1.529 มีการกลายพันธุ์ที่ "ผิกปกติ" และแตกต่างจากโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งนับว่าเป็นการกลายพันธุ์อย่างก้าวกระโดด

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้หารือเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในทวีปแอฟริกา ซึ่งพบว่ามีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ โดยส่วนหนึ่งมาจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและผลข้างเคียงของวัคซีน

"การวิเคราะห์เบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าไวรัสสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์จำนวนมาก และจะต้องได้รับการศึกษาเพิ่มเติม" องค์การอนามัยโลกกล่าว

หากไวรัสดังกล่าวได้รับการจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) ทางองค์การอนามัยโลกจะมีการตั้งชื่อเป็นตัวอักษรกรีกต่อจากอัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา

โดยขณะนี้มีรายงานผู้ติดโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529 แล้วอย่างน้อย 59 รายจากบอตสวานา แอฟริกาใต้ และฮ่องกง

ขณะที่สหราชอาณาจักรได้ระงับเที่ยวบินจาก 6 ประเทศ ได้แก่ บอตสวานา, แอฟริกาใต้, นามิเบีย, ซิมบับเว, เอสวาติ และเลโซโท เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ

Photo by Lizabeth MENZIES / Centers for Disease Control and Prevention / AFP