posttoday

ประเทศไม่ใช่ของนายทุน จีนจึงต้องบดขยี้การผูกขาด

24 พฤศจิกายน 2564

สิ่งที่น่ากลัวของระบอบทุนนิยมคือการที่รัฐเอื้ออำนวยให้ทุนใหญ่รวมพลังกันเพื่อผูกขาด

การผูกขาดนับว่าไม่เป็นธรรมแล้ว แต่หากอำนาจรัฐช่วยทุนเข้าไปอีกแรง มันยิ่งเป็นความอยุติธรรมอย่างที่สุด เพราะเท่ากับติดอาวุธให้ทุนขูดเลือดขูดเนื้อผู้บริโภค

นักคิดฝ่ายมาร์กซิสต์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ทุนนิยมผูกขาดโดยรัฐ" (State monopoly capitalism) เมื่อรัฐผนึกกำลังกับธุรกิจใหญ่ๆ ที่รวมตัวกันผูกขาดหรือรวมเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่กำหนดราคาในตลาด (คาร์เทล)

นี่คือสถานการณ์ที่รัฐอุ้มชนชั้นนำทางการเมืองละเศรษฐกิจหรือพวก "คณาธิปไตย" เพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มนี้ไว้ บนความเสียหายของ "ประชาธิปไตย" หรือคนหมู่มาก

การผูกขาดแบบนี้เป็นอันตรายต่อทุนนิยมอย่างมากเพราะมีแนวโน้มจะกัดกร่อนตัวมันเองและปลุกระดมความไม่พอใจของประชาชน ดังนั้นแม้แต่เจ้าแห่งทุนนิยมอย่างสหรัฐก็ยังต้องปรับตัวด้วยการมี "กฎหมายต่อต้านการผูกขาด"

สหภาพยุโรปนั้นเข้มงวดกับการผูกขาดอย่างมาก เราจะเห็นว่าบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ มักถูกฟ้องร้องในในยุโรปข้อหาผูกขาด ไม่ใช่เปิดประตูอ้าซ่าให้ทุนใหญ่เข้ามากินเรียบ จนทำลายระบบนิเวศที่สร้างธุรกิจขนาดย่อมและโอกาสลืมตาอ้าปากของคนเดินดิน

ดังนั้น ในทางปฏิบัติ การที่รัฐเอื้อให้เกิดการผูกขาดจึงยากจะเกิดขึ้น เพราะทุกคนย่อมรู้ว่าถ้าปล่อยให้มันเกิดขึ้น รัฐเองนั่นแหละที่จะพังไปด้วย

ล่าสุดคือจีน แม้จีนจะมุ่งมั่นเป็นนายทุนใหม่มาสามสี่ทศวรรษแล้ว (โดยแปะฉลากสังคมนิยมแบบจีนเอาไว้พอเป็นพิธี) แต่เมื่อทุนนิยมวิวัฒนาการมาถึงจุดที่บริษัทหนึ่งๆ รวยจนครอบงำตลาดได้ จีนก็เริ่มหันมาทบทวนจิตวิญญาณสังคมนิยมของตัวเอง แลบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่เข้มงวด

ดังจะเห็นว่าบริษัทสายเทคโนโลยีถูกเรียกไปเตือน ปรับ และเบรกการเข้าตลาดหุ้นกันเป็นพัลวัน จนกระทั่ง ณ เวลาที่บทความนี้เขียนขึ้น (ปลายเดือนพฤศจิกายน) จีนก็ยังปรับและเตือนบริษัทเทคใหญ่ๆ ในข้อหาผูกขาด

และวันที่ 18 พฤศจิกายน จีนยังตั้งสำนักงานแห่งรัฐเพื่อต่อต้านการผูกขาด (State Anti-Monopoly Bureau) แสดงถึงความจริงจังในที่จะกวาดล้างพวกผูกขาดและคาร์เทลทั้งหลาย

นี่เป็นการหวนคืนสู่หลักการสังคมนิยมหรือไม่? อาจเป็นไปได้ แต่ในเวลาเดียวกันทางการจีนก็ยืนยันนั่งยันว่าจะไม่แทรกแซงกรรมสิทธิ์ของเอกชน นั่นหมายความว่าจะส่งเสริมทุนนิยมต่อไปตราบเท่าที่มันไม่กลายร่างเป็นการผูกขาดและคาร์เทล

ตามหลักสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์นั้น กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนั้นไม่มี ทุกสิ่งนั้นเป็นของรัฐ เพียงแต่จีนปรับให้เป็น "สังคมนิยมอันมีคุณลักษณะแบบจีน" ให้เป็นทุนนิยมที่ทุกคนมีเสรีในการครอบครองกรรมสิทธิ์และการลงทุน โดยรัฐกำกับดูแลไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางเกินไป

จีนมีสภาพเป็นนายทุนในครอบภายนอกมานานจนคนคิดว่าจีนเป็นสังคมทุนนิยม แต่ไม่ใช่เลย จีนยังเป็นสังคมนิยมในทางอุดมการณ์ และยิ่งแก่กล้าขึ้นในยุคของสีจิ้นผิง

การโยนข้อหาผูกขาดให้กับบริษัทเทคเป็นเรื่องที่พอคาดเดาได้สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องการผูกขาดตามหลักมาร์กซิสต์/มาร์กเซียน

นักคิดสายนี้เฝ้าส้งเกตการณ์การผูกขาดที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา แต่หลายประเทศมองไม่เห็นมัน คือกระบวนการผูกขาดการสื่อสาร/โทรคมนาคม (monopolization of communications)

ในสหรัฐการผูกขาดของบริษัทอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมนั้นรุนแรงมาก จนทำให้บริการเหล่านี้มีราคาแพง แต่เพราะมันมีผู้เล่นไม่กี่รายในตลาด ทำให้ผู้บริโภคต่อรองไม่ได้ เมื่อสัญญาณที่ไม่เสถียรเป็นปัญหา ก็ไม่สามารถหาทางเลือกอื่น นี่คือการผูกขาดต่อหน้าต่อตา แต่ทำอะไรไม่ได้

ทำไมมันถึงผูกขาดได้โดยไม่ผิดกฎหมาย? เพราะมีนายทุนไม่กี่รายที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมได้นั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐยังกลายร่างเป็น "ทุนนิยมผูกขาดโดยรัฐ" เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นเอื้ออำนวยให้บริษัทใหญ่ๆ ทางอ้อม เช่น มี 18 รัฐที่ผ่านกฎหมายที่ทำให้การให้บริการบรอดแบนด์โดยหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องยากขึ้น เท่ากับจำกัดการแข่งขันในตลาด และเปิดทางให้ทุนใหญ่เข้าครอบงำ

กฎหมายพวกนี้ออกโดยพรรครีพับลิกันที่ขึ้นชื่อเรื่องการรักษาผลประโยชน์ให้พวก "คณาธิปไตย" โดยอ้างว่าเพื่อพิทักษ์เสรีภาพในการลงทุนโดยปลอดการแทรกแซงโดยรัฐและเพื่อปกป้อง "ความฝันอเมริกัน"

ดังน้น แม้จะมีกฎหมายป้องกันการผูกขาด มันจะเอาผิดได้ก็แต่การ "ผูกขาดแบบทึ่มๆ" ที่เห็นได้ชัดเจน แต่มีนายทุนที่ไหนบ้างที่โง่ขนาดนั้น? ยิ่งทุนวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ มันยิ่งชาญฉลาดและหาช่องทางผูกขาดตลาดได้อย่างไร้มลทิน

เราจะเห็นว่าในเศรษฐกิจสหรัฐนั้น ธุรกิจสำคัญใหญ่ๆ มีผู้เล่นในระบบน้อยจึงทำให้เกิดการผูกขาดที่ไม่ผิดกฎหมาย

มิหนำซ้ำยังมีการควบรวม (Consolidation) ระหว่างบริษัทต่างๆ จนหลายผู้เล่นในตลาดน้อยลงไปอีก นี่เป็นวิวัฒนาการของทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่ลดการแข่งขันกันเองเพื่อ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง สร้างกำไรร่วมกัน"

มีการประเมินว่าการผูกขาดเนียนๆ แบบนี้ทำให้ครัวเรือนอเมริกันเสียเงินไปถึงปีละ 5,000 ดอลลาร์ให้กับภาคธุรกิจ

คิดว่าจีนเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกาหรือไม่?

กระบวนการผูกขาดการสื่อสาร/โทรคมนาคมสำหรับรัฐบาลจีนไม่ใช่เรื่องเบาๆ เหมือนเมืองไทยมองเห็นในการทำ Consolidation ระหว่าง "ทรู-ดีแทค" ไม่ใช่แค่เรื่องของค่าบริการที่อาจจะเพิ่มขึ้น หรือสถานการณ์แบบที่ไทยอาจต้องเจอแบบคนอเมริกัน

แต่จีนมองไปถึงยุคแห่ง Dataism ยุคที่ดาต้ากลายเป็นศาสนาใหม่ เป็น "คุณค่าอันสูงสุด" (supreme value ตามคำกล่าวของยูวัล ฮารารี) ของผู้คน

ผู้คนในจีนเวลานี้่เสพติดกิจกรรมออนไลน์อย่างหนัก หนักจนหลายคนจินตนาการไม่ออก ชีวิตของประชาชนผูกติดกับกิจกรรมออนไลน์แทบจะทุกมิติแล้ว และในขณะที่ Facebook เริ่มก้าวแรกกับ Metaverse จีนก็เริ่มมันไปพร้อมๆ กัน

ในอเมริกานั้นการผูกขาดดาต้าของทุนใหญ่ๆ ส่งผลถึงการเมืองอย่างหนักอย่างที่เราเห็นกรณี Facebook–Cambridge Analytica ที่บงการผลลัพธ์ทางการเมืองได้โดยอาศัยดาต้าสร้างฐานข้อมูลในเชิงจิตวิทยาของประชาชน

มันคือการใช้ดาต้าสร้างความเชื่อใหม่นั่นเอง มันถึงกับชี้นำได้ว่า อะไรถูกอะไรผิดโดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรองด้วยตนเอง

ดาต้าเป็น "ทุน" ใหม่ที่ทรงพลังขึ้นเรื่อยๆ และเป็น หากจีนปล่อยให้นายทุนกุมเอา "ทุน" ใหม่เอาไว้ เท่ากับยื่นอาวุธให้คนอื่นเชือดคอตนเอง ดังนั้น จีนจึงเริ่มเชือดบริษัทเทคที่เก็บดาต้าเยอะๆ โดยมอบข้อหาละเมิดความเป็นส่วนตัวผู้ใช้ให้กับบางบริษัท

หลังจากเริ่มเชือดเบาๆ ในปี 2017 จีนเร่งเครื่อง "เก็บ" บริษัทเทคในปี 2021 แบบไม่ยั้งมือ โดยมอบข้อหาผูกขาดให้บริษัทแล้วบริษัทเล่า

อย่างเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน หน่วยงานกำกับดูแลการตลาดแห่งรัฐของจีน (SAMR) ออกเอกสารระบุว่าได้กำหนดบทลงโทษทางปกครองสำหรับ 43 คดีของการดำเนินการอย่างผิดกฎหมายจากการกระทำอันเป็น "การกระจุกตัวของกิจการ" (concentration of undertakings) ซึ่งเป็นการผูกขาดอย่างหนึ่ง

"การกระจุกตัวของกิจการ" คืออะไร จีนระบุว่า ข้อแรก คือ การรวมตัวของผู้ประกอบการ ข้อสอง ผู้ประกอบการได้รับการควบคุมเหนือผู้ประกอบการรายอื่นโดยการซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ ข้อสาม ผู้ประกอบการได้รับการควบคุมเหนือผู้ประกอบการงานรายอื่นผ่านสัญญา หรือพวกเขาสามารถใช้อิทธิพลชี้ขาดต่อผู้ประกอบการงานรายอื่นได้

นั่นหมายความว่าจีนเอาผิด Consolidation เพื่อลดคู่แข่งในตลาดนั่นเอง และเล่นงานพวกบริษัทเทคหนักมากในข้อหานี้ คือ Baidu, Alibaba, Tencent, Meituan, ByteDance, JD.com, Suning.com, Sina และ 58 Group เป็นต้น

ตรงกันข้ามกับสหรัฐที่บริษัทใหญ่ๆ รอดข้อหานี้มาได้และผูกขาดแบบไม่ผิดกฎหมายต่อไป แม้ว่ามันจะมีเหตุการณ์ที่สังคมโกลาหลเพราะบริษัทพวกนี้ใช้ดาต้าที่เก็บเกี่ยวมาชี้นำทิศทางการเมือง

นี่คือความน่ากลัวที่หลายๆ คนในสหรัฐมองเห็น และพยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายให้บริษัทผู้กขาดดาต้าต้องแชร์ข้อมูลกับคู่แข่ง หรือทำให้เกิด Interoperability เพื่อลดอำนาจการกุมตลาดเอาไว้ ไม่ให้ดาต้าเป็นอาวุธในมือของคนไม่กี่คน

ไม่อย่างนั้นการผูกขาดที่ถูกกฎหมายนี้จะทำลายระบบตลาดและประชาธิปไตยในที่สุด

การผูกขาดของโทรคมนาคมจึงไม่ใช่แค่จะทำให้ค่าบริการสูงขึ้น แต่มันกำหนดชะตากรรมของประเทศได้

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Fabrice COFFRINI / AFP