posttoday

ตระกูลแวนเดอร์บิลต์ โคตรเศรษฐีอเมริกัน จากชาวนา คนรับใช้ กลายเป็นมหาเศรษฐี

30 กันยายน 2564

เปิดเส้นทางความมั่งคั่งของตระกูลแวนเดอร์บิลต์ที่สร้างเนื้อสร้างตัวจากศูนย์จนผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดของสหรัฐ

ในยุคก่อนหากเอ่ยถึงตระกูลที่โด่งดังและมั่งคั่งในสหรัฐ ผู้คนมักจะนึกถึงตระกูลแวนเดอร์บิลต์ (Vanderbilt family) ที่เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมทางรถไฟและการขนส่งทางเรือของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคที่สหรัฐอเมริกาก้าวเข้าสู่ความมั่งคั่ง (Gilded Age) จนสามารถก้าวขึ้นเป็นตระกูลที่มั่งคั่งที่สุดของสหรัฐ

หลักฐานความมั่งคั่งของตระกูลนี้คือ ถนนสายที่ 5 (Fifth Avenue) อันมีชื่อเสียงของเกาะแมนฮัตตันของเมืองนิวยอร์ก ที่เป็นที่ตั้งของแมนชันหรู 10 หลัง คฤหาสน์ฤดูร้อนที่เมืองนิวพอร์ต รัฐโรดไอส์แลนด์ บ้านบิลมอร์ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา และบ้านหรูอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งงานศิลปะชิ้นโบแดง

ต้นตระกูลของตระกูลแวนเดอร์บิลต์คือ แยน อาร์ตเซิน (Jan Aertson) ชาวนาชาวดัตช์จากหมูบ้านเดอบิลต์ เมืองอูเทรคต์ของเนเธอร์แลนด์ที่อพยพไปยังนิวเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นอาณานิคมของดัตช์ในฐานะคนรับใช้ตามสัญญา (indentured servant) ของตระกูลฟานเกาเวินโฮเฟนในปี 1650

ที่มาของชื่อตระกูลมาจากคำว่า “van der” ในภาษาดัตช์ซึ่งแปลว่า “ของ” บวกกับคำว่า “Bilt” ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านที่เป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษของตระกูล เป็นคำว่า van der Bilt ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น Vanderbilt ในภาษาอังกฤษ

ความมั่งคั่งของตระกูลแวนเดอร์บิลต์เริ่มขึ้นในยุคของ คอร์เนเลียส แวนเดอร์บิลต์ (Cornelius Vanderbilt) เขาเริ่มทำงานในธุรกิจเรือเฟอร์รีข้ามฝั่งที่ท่าเรือนิวยอร์กของพ่อตั้งแต่เด็กๆ และลาออกจากโรงเรียนขณะอายุเพียง 11 ปี

คอร์เนเลียสในวัย 16 ปีตัดสินใจเริ่มกิจการเรือข้ามฟากระหว่างเกาะสแตเทนและแมนฮัตตันของตัวเองในปี 1810 ด้วยการยืมเงินทุนตั้งต้นจากแม่ราว 100 เหรียญสหรัฐเพื่อซื้อเรือ แต่บันทึกเกี่ยวกับชีวิตของเขาครั้งแรกซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 1853 ระบุว่า เรือลำนี้เป็นของพ่อและคอร์เนเลียสได้ส่วนแบ่งกำไรครึ่งหนึ่ง

ความขยันขันแข็งของคอร์เนเลียสทำให้คนขับเรือที่รู้จักคุ้นเคยกันพากันเรียกเขาว่า “ผู้บังคับการเรือ” จนกลายเป็นชื่อเล่นที่ติดตัวคอร์เนเลียสไปตลอดชีวิต

กิจการเรือข้ามฟากของคอร์เนเลียสเริ่มต้นจากเรือเพียงลำเดียวก่อนจะค่อยๆ ขยับขยายมาใช้เรือยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไอน้ำ จนกลายเป็นเจ้าแห่งลำน้ำนิวยอร์ก

ปี 1813 คอร์เนเลียสในวัย 19 ปีแต่งงานกับ โซเฟีย จอห์นสัน ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง แล้วพากันย้ายมาอยู่ที่หอพักในแมนฮัตตัน โดยทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 13 คน

ปี 1817 โธมัส กิบบอนส์ เจ้าของกิจการเรือข้ามฟากว่าจ้างให้คอร์เนเลียสเป็นกัปตันเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไอน้ำของเขาที่เดินเรือระหว่างนิวเจอร์ซีย์และนิวยอร์ก ก่อนจะขยับให้คอร์เนเลียสเป็นผู้จัดการธุรกิจเดินเรือในขณะที่คอร์เนเลียสยังทำธุรกิจของตัวเองควบคู่ไปด้วย

การทำงานกับกิบบอนส์ทำให้คอร์เนเลียสเรียนรู้การทำธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกิจการของเขาในอนาคต

ตระกูลแวนเดอร์บิลต์ โคตรเศรษฐีอเมริกัน จากชาวนา คนรับใช้ กลายเป็นมหาเศรษฐี

จากนั้นคอร์เนเลียสก้าวเข้าไปลงทุนสร้างทางรถไฟและเป็นเจ้าของ New York Central Railroad ซึ่งแผ่ขยายไปทั่วสหรัฐ ทำให้คอร์เนเลียสผูกขาดธุรกิจรถไฟเข้าออกเมืองนิวยอร์กแต่เพียงผู้เดียวในช่วงศตวรรษที่ 19

ครั้งหนึ่ง New York Central Railroad เคยเป็นทางรถไฟที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหรัฐ โดยมีรางระยะทาง 17,703 กิโลเมตรแผ่ขยายใน 11 รัฐของสหรัฐและอีก 2 มณฑลของแคนาดา

กิจการของคอร์เนเลียสเติบโตแบบก้าวกระโดด ทรัพย์สินงอกเงย ส่งผลให้เข้าขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้ชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

ที. เจ. สไตลส์ ผู้เขียนชีวประวัติของคอร์เนเลียสพูดถึงเขาว่า “เขาปรับปรุงและขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศอย่างมากมาย ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ของสหรัฐ เขานำเทคโนโลยีใหม่และรูปแบบองค์กรธุรกิจใหม่มาใช้ในการแข่งขัน เขาช่วยสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยองค์กรธุรกิจที่ช่วยนิยามสหรัฐในศตวรรษที่ 21”

ก่อนที่คอร์เนเลียสจะเสียชีวิตในปี 1877 ขณะอายุ 82 ปี เขาบริจาคทรัพย์สินถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซีของสหรัฐ

ขณะที่มีรายงานว่าจนถึงปี 1877 คอร์เนเลียสสั่งสมความมั่งคั่งไว้ราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าทรัพย์สินของกระทรวงการคลังของสหรัฐในขณะนั้น

คอร์เนเลียสทิ้งทรัพย์สินส่วนใหญ่ (95%) ไว้ให้ วิลเลียม เฮนรี แวนเดอร์บิลต์ (William Henry Vanderbilt) บุตรชายคนโต ซึ่งวิลเลียมเป็นลูกไม้ใต้ต้น สามารถเพิ่มผลกำไรให้กิจการต่างๆ ของพ่อ ขยายการให้บริการทางรถไฟ New York Central Railroad ซึ่งมีหุ้นอยู่ 87% ส่งผลให้ทรัพย์สินของตระกูลแวนเดอร์บิลต์เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว

วิลเลียมคือทายาทคนแรกในตระกูลแวนเดอร์บิลต์ที่สร้างแมนชันหรูแห่งแรกซึ่งจะกลายเป็นแมนชันอีกหลายหลังของตระกูลบนถนนสายที่ 5 (Fifth Avenue) ที่บ้านเลขที่ 640 Fifth Avenue

คอร์เนเลียสเคยสั่งเสียไว้ว่าให้ส่งมอบทรัพย์สินของตระกูลให้กับทายาทเพียง 1 คน ทว่าหลังจากวิลเลียมเสียชีวิตในปี 1885 เขามอบหุ้นของบริษัทให้กับลูกชายทั้งสองคนคือ คอร์เนเลียส แวนเดอร์บิลต์ที่ 2 (Cornelius Vanderbilt II) และวิลเลียม คิสซัม แวนเดอร์บิลต์ (William Kissam Vanderbilt) โดยการแบ่งทรัพย์สินของตระกูลให้ทายาทรุ่นที่ 3 นี้เกิดขึ้นในช่วงที่ผลกำไรใน New York Central Railroad ลดลงก่อนจะขาดทุนในที่สุด

คอร์เนเลียส แวนเดอร์บิลต์ที่ 2 บริหารกิจการรถไฟกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1899 จากนั้นวิลเลียม คิสซัม แวนเดอร์บิลต์เข้ามารับช่วงต่อเป็นระยะสั้นๆ ก่อนจะลาออกแล้วหันไปสนใจการเพาะพันธุ์ม้าและเรือยอชต์แทน

จากหนังสือ Fortune's Children: The Fall of the House of Vanderbilt ที่เล่าประวัติของครอบครัวแวนเดอร์บิลต์ที่เขียนโดย อาร์เธอร์ ที. แวนเดอร์บิลต์ที่ 2 วิลเลียม คิสซัม แวนเดอร์บิลต์ เคยพูดไว้ว่า “ทรัพย์สมบัติที่รับสืบทอดมาเป็นอุปสรรคขัดขวางความสุข...มันทำให้ฉันไม่มีอะไรให้คาดหวัง ไม่มีอะไรให้แสวงหาหรือมุ่งมั่นทำให้มันเกิดขึ้น”

นอกจากนี้ คนของตระกูลแวนเดอร์บิลต์ยังขึ้นชื่อเรื่องความใจบุญสุนทาน วิลเลียม คิสซัม แวนเดอร์บิลต์ บริจาคเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างตึกแถวให้คนเข้ามาพักในเมืองนิวยอร์ก รวมทั้งบริจาคเงินอีกหลายแสนเหรียญสหรัฐให้มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย องค์กร YMCA แวนเดอร์บิลต์คลินิก และมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์

และในเจนเนอเรชันที่ 3 อีกเช่นกันที่ทายาทตระกูลแวนเดอร์บิลต์หยุดสร้างความมั่งคั่งเพิ่มเติม การบริจาคเงินและการใช้จ่ายของวิลเลียม คิสซัม แวนเดอร์บิลต์ ทำให้ทรัพย์สินของตระกูลที่สั่งสมมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษลดลงเหลือเท่ากับจำนวนที่เขารับมรดกต่อจากพ่อเมื่อปี 1885

ตระกูลแวนเดอร์บิลต์ โคตรเศรษฐีอเมริกัน จากชาวนา คนรับใช้ กลายเป็นมหาเศรษฐี

ทายาทแวนเดอร์บิลต์รุ่นที่ 4 ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคือ เรจินัลด์ เคลย์พูล แวนเดอร์บิลต์ (Reginald Claypool Vanderbilt) นักเสี่ยงโชคและเพลย์บอยตัวยง ซึ่งเป็นพ่อของ กลอเรีย แวนเดอร์บิลต์ (Gloria Vanderbilt) ทายาทรุ่นที่ 5 และตาของ แอนเดอร์สัน คูเปอร์ (Anderson Cooper) ผู้ประกาศข่าวชื่อดังของ CNN ทายาทรุ่นที่ 6

ทรัพย์สินของตระกูลแวนเดอร์บิลต์กระจายไปยังทายาทหลายต่อหลายรุ่น ในที่สุดด็เกิดความเปลี่ยนแปลงกับ New York Central Railroad โดยธรุกิจขนส่งพุ่งสู่จุดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1920 แต่หลังจากนั้นธุรกิจขนส่งสินค้าก็เริ่มเข้าสู่ขาลงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีเรือท้องแบน เครื่องบิน รถบัสเข้ามาแทนที่

ในที่สุดตระกูลแวนเดอร์บิลต์ก็ขายหุ้น New York Central Railroad ก่อนที่องค์การขนส่งมวลชนแห่งชาติ หรือ Amtrak จะเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการในปี 1971

ความหรูหรามั่งคั่งของตระกูลแวนเดอร์บิลต์ยืนยาวจนถึงกลางศตวรรษที่ 20 ก็เริ่มเกิดการล่มสลายที่ถูกขนานนามว่าเป็น “การล่มสลายของราชวงศ์แวนเดอร์บิลต์” (Fall of the House of Vanderbilt) เมื่อบ้านที่ถนนสายที่ 5 ในเขตแมนฮัตตันทั้งหมดต้องถูกทำลายลงในปี 1947

เช่นเดียวกับบ้านหรูอื่นๆ ของตระกูลต้องขายและกลายเป็นพิพิธภัณฑ์หรือกิจการอื่นๆ อาทิ ประตูที่ทำจากเหล็กบริสุทธิ์ของแมนชันแวนเดอร์บิลต์กลายเป็นทางเข้าของสวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์ก หรือบ้านของอลิซ แวนเดอร์บิลต์บนถนนสาย 57 ของแมนฮัตตันที่ตอนนี้กลายเป็นของห้างสรรพสินค้าหรู Bergdorf Goodman

เมื่อมาถึงทายาทรุ่นที่ 5 อย่างกลอเรีย แวนเดอร์บิลต์ ทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกทอดของตระกูลก็ร่อยหรอลงไปมาก เว็บไซต์ Page Six รายงานว่า กลอเรียได้รับกองทุนทรัสต์ที่มีมูลค่า 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 35 ล้านเหรียญสหรัฐหากคิดตามค่าเงินในปัจจุบัน

และเมื่ออายุ 21 ปีเธอก็ได้ครอบครองทรัพย์สินมรดกมูลค่า 4.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 53 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อคิดตามค่าเงินในปัจจุบัน

ถึงจะมีเงินมรดกกลอเรียก็ยังทำงานอยู่ตลอด เริ่มจากการเป็นนางแบบในช่วงวัยรุ่น รวมทั้งเป็นศิลปิน นักแสดง และนักเขียน เธอสร้างอาณาจักรแฟชั่น จำหน่ายเสื้อผ้าของดีไซเนอร์และน้ำหอมซึ่งมีมูลค่าถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทว่าต่อมาธุรกิจแฟชั่นเริ่มเข้าสู่ขาลง ส่วนกลอเรียต้องเจอทั้งคดีและมีปัญหาทางการเงิน รวมทั้งคดีที่เธอฟ้องทนายความส่วนตัวและจิตแพทย์ว่าขโมยเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐและจำหน่ายทรัพย์สินโดยไม่ได้รับอนุญาตในปี 1993

ต่อมากลอเรียต้องขายแมนชัน 7 ห้องนอนในย่านเซาท์แธมตันและทาวน์เฮ้าส์ 5 ชั้นในแมนฮัตตันเพื่อจ่ายภาษีย้อนหลังและหนี้สินอื่นๆ ทว่าแม้จะมีปัญหาการเงินแต่กลอเรียก็ยังใช้เงินก้อนโตไปกับการบริจาคและจับจ่ายใช้สอยส่วนตัว ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินมรดกร่อยหรอ

ตระกูลแวนเดอร์บิลต์ โคตรเศรษฐีอเมริกัน จากชาวนา คนรับใช้ กลายเป็นมหาเศรษฐี

เมื่อมาถึงทายาทรุ่นที่ 6 อย่าง แอนเดอร์สัน คูเปอร์ บุตรชายของกลอเรีย เขาได้รับมรดกจากแม่เพียง 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับคนทั่วไปอาจเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจ แต่สำหรับทายาทของตระกูลแวนเดอร์บิลต์ที่เคยร่ำรวยที่สุดในสหรัฐ อีกทั้งบรรพบุรุษยังเคยเป็นหนึ่งในชายที่มั่งคั่งที่สุดในโลก เคยมีการคาดการณ์กันว่าแอนเดอร์สันน่าจะได้รับมรดกถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถึงอย่างนั้นตัวแอนเดอร์สันซึ่งมีรายได้ราว 11 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีจากการเป็นผู้ประกาศข่าวก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจในเรื่องนี้ เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ ฮาเวิร์ด สเติร์น เมื่อปี 2014 ว่า “แม่ผมบอกไว้ชัดเจนว่าไม่มีกองทุนทรัสต์ ไม่มีอะไรทั้งนั้น”

และบอกอีกว่า “ผมไม่เชื่อเรื่องการรับมรดก...มันคือคำสาป...ตั้งแต่โตมา ถ้าผมรู้สึกว่ามีทรัพย์สมบัติรอผมอยู่ ผมก็ไม่รู้ว่าจะมีแรงจูงใจอย่างนี้ไหม”

อย่างไรก็ดี แม้ว่ามรดกตกทอดของตระกูลแวนเดอร์บิลต์จะเหลือไม่มากพอให้ทายาทได้ติดอันดับตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในสหรัฐของนิตยสารฟอร์บส์ แต่ยังมีทรัพย์สินของตระกูลที่ยังเป็นประโยชน์กับสาธารณชนอย่างมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ และถนนแวนเดอร์บิลต์ (Vanderbilt Avenue) ในแมนฮัตตันและบรูคลิน

ซึ่งบ่งบอกว่าครั้งหนึ่งตระกูลแวนเดอร์บิลต์เคยโด่งดังและมั่งคั่งที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ