posttoday

Evergrande รับสภาพคล่องอาการหนัก จ้างที่ปรึกษาเคลียร์หนี้ก้อนโต

14 กันยายน 2564

บริษัท Evergrande เผยความคืบหน้าปัญหาหนี้กว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เร่งแก้สถานการณ์ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจจีน

Evergrande Group บริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของจีนกล่าวว่าบริษัทเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องที่ "มหาศาล" และได้ว่าจ้างที่ปรึกษาด้านการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรับมือกับวิกฤต เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ 1.97 ล้านล้านหยวน (305,300 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทในการชำระหนี้นำไปสู่การเทขายพันธบัตรและหุ้น โดยพันธบัตรออฟชอร์ของ Evergrande ลดลงเหลือน้อยกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าที่ตราไว้ ขณะที่การซื้อขายพันธบัตออนชอร์หยุดชั่วคราว และราคาหุ้นตกต่ำลง ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดลดลงมากกว่า 3 ใน 4 ในปีนี้

ในช่วงเช้าวันนี้ (14 ก.ย.) หุ้นของ Evergrande ที่จดทะเบียนในตลาดฮ่องกงร่วงลงมากถึง 10% และในภาพรวมตลอดทั้งปีนี้หุ้นของบริษัทร่วงไปประมาณ 80%

Reuters ระบุว่า Evergrande กำลังตกลงอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลหลังยืนกรานว่าจะไม่ยอมล้มละลาย โดยบรรดานักลงทุนได้ออกมาประท้วงบริเวณสำนักงานใหญ่ในเซินเจิ้น ขณะที่บริษัทกล่าวว่ากำลังเผชิญกับ "ปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" แต่ปฏิเสธข่าวลือที่ว่าบริษัทกำลังจะล้มละลาย

โดยในวันนี้บริษัทได้แถลงถึงการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ทั้งหมด และเพื่อบรรเทาวิกฤติทางการเงินที่บริษัทกำลังเผชิญ

ในส่วนของแผนการขายหุ้นในหน่วยบริการรถยนต์ไฟฟ้าและอสังหาริมทรัพย์นั้น Evergrande กล่าวว่า "ไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ"

ความเชื่อมั่นใน Evergrande เริ่มแย่ลงตั้งแต่เดือนพ.ค. และตามมาด้วยการประท้วงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยผู้ซื้อบ้าน นักลงทุนรายย่อย และพนักงานที่ไม่พอใจ

ขณะที่ Bloomberg ชี้ว่าขอบเขตของการสูญเสียที่นักลงทุนเผชิญส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับว่าทางการจีนและธนาคารของรัฐจะดำเนินการเพื่อจำกัดผลกระทบหรือไม่

หากปราศจากการแทรกแซงจากรัฐ ความเสี่ยงคือ Evergrande จะตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายและยากจะควบคุม โดยนักพัฒนากล่าวว่ายอดขายอสังหาริมทรัพย์ในเดือนนี้จะลดลงเนื่องจากความเชื้อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง อันจะส่งผลให้เม็ดเงินของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างแรงกดดันมหาศาลต่อสภาพคล่องของบริษัท

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าบริษัทพัฒนาอสังหาฯ อื่นๆ ของจีนที่มีหนี้สินตะเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ในอนาคต ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจของประเทศ และหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบต่อธนาคารและนักลงทุนอย่างมาก

REUTERS/Bobby Yip/File Photo