posttoday

เมื่อดอลลาร์ระแวงหยวนดิจิทัล เปิดศึกชิงความเป็นเจ้าสกุลเงิน

21 เมษายน 2564

หลายคนพูดกันมานานหลายปีว่าอีกไม่ช้าเงินหยวนจะโค่นเงินเหรียญสหรัฐหรือเงินดอลลาร์ขึ้นมาเป็นสกุลเงินหลักของโลก

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตั้งแต่ปี 2014 ธนาคารกลางของจีนได้ดำเนินโครงการที่เรียกว่า DCEP (Digital Currency Electronic Payment) มักเรียกกันว่า "หยวนดิจิทัล" (ภาษาจีนเรียกว่า ซู่จื้อ เหรินหมินปี้) เนื่องจากจะได้รับการสนับสนุนจากเงินหยวนและเริ่มรวบรวมธนาคารที่จะเข้าโครงการพัฒนา จนกระทั่งในปี 2020 ก็เริ่มใช้เมืองในใหญ่ 4 เมืองคือเซินเจิ้น, เฉิงตู, สยงอัน และซูโจว โดยจีนตั้งเป้าที่จะใช้ สกุลเงินใช้ DCEP ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022

จนถึงตอนนี้เรายังไม่รู้ชัดว่าหยวนดิจิทัลใช้เทคโนโลยีอะไร แต่มันไม่เหมือนเงินคริปโตเคอร์เรนซี่อยาง Bitcoin ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน และที่ต่างออกไปอีกอย่างคือคริปโตฯ เป็นเงินดิจิทัลที่ "กระจายอำนาจ" คือผลิตขึ้นมาโดยกิจกรรมของปัจเจกบุคล แต่เงินดิจิทัลหยวนเป็นเงินดิจิทัลที่ "รวมศูนย์" เพราะออกโดยธนาคากลางของจีน และที่กำลังเป็นประเด็นก็คือคริปโตฯ ทั่วๆ ไปปกปิดความลับเรื่องตัวตนผู้ใช้ได้รัดกุม ส่วนหยวนดิจิทัลทางการจีนอ้าว่าจะปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลเช่นกัน แต่ฝ่ายที่วิจารณ์จีนชี้ว่าจีนจะใช้เทคโนโลยีนี้แกะรอยธุรกรรมอยาวละเอียด

แต่ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศคู่กรณีของจีนคือกลัวกันว่าหยวนดิจิทัลจะมาแทนที่เงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินหลักของโลก มันมีความเป็นไปได้แค่ไหนกัน?

1. เมื่อวันที่ 16 เมษายน เจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) แสดงทัศนะว่าเงินหยวนดิจิทัลของจีนไม่มีศักยภาพที่จะคุกคามสถานะของเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองหลักของโลก และสกุลเงินดิจิทัลต้องการการสนับสนุนจากสาธารณะเป็นอันดับแรก

2. “สถานะของเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินหลักทั่วโลกจะไม่เปลี่ยนไปอย่างง่ายดาย” คาซึชิเงะ คามิยามะหัวหน้าแผนกระบบการชำระเงินของ BOJ และผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบสกุลเงินดิจิทัลของญี่ปุ่นกล่าว “ในความเป็นจริง ความได้เปรียบของเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นอีกหากสหรัฐก้าวไปพร้อ มกับกระบวนการทำให้เป็นดิจิทัล”

3. ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) เริ่มลงมือผลักดันสกุลเงินดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2014 และตอนนี้เริ่มขยับเข้าใกล้การเป็นธนาคารกลางรายใหญ่แห่งแรกที่เปิดตัวสกุลเงินเสมือนจริงโดยเปิดให้ทดลองใช้กับผู้บริโภคและธุรกิจในเมืองต่างๆทั่วประเทศ นั่นแสดงว่าจีนเริ่มแสวงหาการสนับสนุนจากสาธารณะแล้ว

4. อย่างไรก็ตาม อีก 1 วันหลังจากที่เจ้าหน้าที่ BOJ บอกว่าหยวนดิจิทัลจะยังไม่มีโอกาสแซงเงินดอลลาร์ โจวเสี่ยวชวน อดีตผู้ว่าการ PBOC ระหว่างปี 2002 – 2018 (เขาคือผู้ผลักดันคนสำคัญของจีนในการทำให้หยวนเป็นสากล) กล่าวในงาน Boao Forum ที่ประชุมด้านเศรษฐกิจที่เมืองปั๋วอ๋าว มณฑลไห่หนานทางตอนใต้ของจีนว่า แผนเริ่มต้นของจีนที่ริเริ่มสกุลเงินดิจิทัลไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะใช้ข้ามพรมแดนและจะมุ่งเน้นไปที่การใช้สกุลเงินดังกล่าวในประเทศเป็นอันดับแรก

5. ต่อมาวันที่ 18 เมษายน หลี่ปั๋ว รองผู้ว่าการ PBOC คนปัจจุบันก็ย้ำอีกว่า เป้าหมายของจีนในการทำให้สกุลเงินหยวนเป็นสากลมากขึ้นไม่ใช่การแทนที่ดอลลาร์ และความพยายามในการสร้างหยวนดิจิทัลก็มีเป้าหมายเพื่อใช้ในประเทศ เขายังบอกด้วยว่าขณะนี้ธนาคารกลางของจีนกำลังทดสอบการใช้หยวนดิจิทัลในโครงการนำร่องต่างๆทั่วประเทศ ไม่มีไทม์ไลน์สำหรับการเปิดตัวทั่วประเทศ แต่ PBOC ตั้งใจที่จะเพิ่มขอบเขตของการทดสอบ

6. “ในส่วนของการทำให้เงินเหรินหมินปี้ (เงินหยวน) มีความเป็นสากลนั้น เราได้กล่าวหลายครั้งแล้วว่าเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ และเป้าหมายของเราไม่ใช่การแทนที่ดอลลาร์สหรัฐหรือสกุลเงินระหว่างประเทศอื่นๆ ผมคิดว่าเป้าหมายของเราคือการให้ตลาดมีตัวเลือก เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ”

7. หลี่ปั๋วกล่าวในงาน Boao Forum เช่นกันว่าแรงจูงใจสำหรับ e-Yuan ในตอนนี้อย่างน้อยก็มุ่งเน้นไปที่การใช้ภายในประเทศเป็นหลัก แต่ความสามารถในการใช้งานระหว่างประเทศเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากและทางจีนยังไม่รีบเร่งที่จะหาทางแก้ไขใดๆ โดยเฉพาะ

8. แต่หลี่ปั๋วแย้มว่าถึงตอนนี้จะยังต้องใช้ในประเทศแต่อาจจะมีการใช้ข้ามพรมแดน “ในระยะยาว” การแย้มพรายออกมานี้สอดคล้องกับการที่มีรายงานของทางการสหรัฐเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้วมาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไบเดนกำลังเพิ่มการตรวจสอบความคืบหน้าของจีนเกี่ยวกับเงินหยวนดิจิทัลท่ามกลางความกังวลว่าจีนอาจเริ่มต้นความพยายามในระยะยาวเพื่อแทนที่ดอลลาร์

9. มาถึงวันที่ 21 เมษายน โจวเสี่ยวชวนออกมาย้ำอีกครั้งใน Boao Forum เช่นกันอีกว่า เงินหยวนดิจิทัลซึ่งส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการชำระเงินเพื่อการค้าปลีกในประเทศ แต่คราวนี้เขาแย้มพรายออกมา (เหมือนหลี่ปั๋ว) ว่าหยวนดิจิทัลมีแนวโน้มที่จะนำใช้สำหรับการชำระเงินข้ามพรมแดนเหมือนกัน แต่การทำแบบนั้นต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนเช่นข้อจำกัดเพราะมันอาจไปพัวพันกับการฟอกเงินและการระดมทุนของผู้ก่อการร้ายและการพนัน (แต่โปรดสังเกตว่าเมื่อปีก่อนๆ PBOC กลับอ้างว่าสามารถใช้เงินหยวนดิจิทัลเพื่อลดการฟอกเงิน, การพนัน, การทุจริต และการจัดหาเงินทุนเพื่อการก่อการร้าย)

10. โจวเสี่ยวชวนย้ำว่าการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านเงินหยวนดิจิทัลไม่ใช่เรื่องง่ายเขากล่าว "เราไม่สามารถเร่งมันได้" และเงินหยวนดิจิทัลจะขึ้นอยู่กับสถานะการยอมรับในระดับสากลของเงินหยวน (หมายถึงเงินจริง หรือ Fiat money) สถานะนี้ก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของจีน, เสถียรภาพของสกุลเงิน และความสามารถในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของเงินหยวน

11. โจวเสี่ยวชวนตอบเรื่องความกังวลจากต่างประเทศว่าเงินหยวนดิจิทัลอาจเป็นภัยคุกคามต่อระบบการเงินโลกที่มีอยู่ มีบางส่วนในสหรัฐได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของจีนที่จะหวังโค่นเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินหลักของโลก แต่โจวเสี่ยวชวนบอกว่า "ในความเป็นจริงมันจะไม่ร้ายแรงขนาดนั้น" เขากล่าวว่าเงินหยวนยังคงตามหลังดอลลาร์ในแง่ของการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

12. การออกมาพูดพร้อมๆ กันของระดับบริหารของธนาคารกลางจีนเป็นสิ่งที่น่าสังเกตมาก เหมือนเป็นการออกตัวว่า "เงินหยวนไม่ใช่ศัตรูของดอลลาร์" ซึ่งเราอาจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นการสงวนท่าทีเพื่อหลีกเลี่ยงอะไรบางอย่าง เมื่อเทียบกับท่าทีของจีนก่อนหน้านี้แล้วเรียกว่าตรงกันข้ามเลย โดยเฉพะในยุคของโจวเสี่ยวชวนที่ผลักดันให้เงินหยวนเป็นสากลมากขึ้น

13. "อะไรบางอย่าง" อาจมาจากรายงานของ Bloomberg อ้างถึงคนที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้ว่ารัฐบาลสหรัฐเพิ่มการตรวจสอบหยวนดิจิทัลของจีน เจ้าหน้าที่รัฐบาลบางคนกังวลว่าสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางจีน “อาจเริ่มต้นการแผนการระยะยาวเพื่อโค่นเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองที่โดดเด่นของโลก”

14. นอกจากกลัวว่าจะถูกโค่นจากเบอร์หนึ่งแล้ว ยังมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลัง, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงกลาโหม และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐกำลังเพิ่มความพยายามในการทำความเข้าใจผลกระทบต่อสหรัฐที่อาจเกิดขึ้นจากสกุลเงินดิจิทัลของจีน เช่นว่าเงินหยวนดิจิทัลจะถูกแจกจ่ายอย่างไร และสามารถใช้เพื่อหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐได้หรือไม่ ในขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ประสานด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะออก "ดอลลาร์ดิจิทัล" แต่ก็ถือว่าช้ากว่าธนาคารกลางอื่นๆ เป็นอยางมากยิ่งไม่ต้องไปเทียบกับจีน

15. ท่าทีของจีนต้องถ่อมตนเข้าไว้เพราะเอาแค่ในปีนี้สหรัฐพูดถึงหยวนดิจิทัลบ่อยครั้งจนน่ากลัวทั้งภาครัฐและภาคเอ็นจีโอที่ทำงานประสานกับภาครัฐของสหรัฐ เช่นศูนย์ Center for New American Security (CNAS) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในประเด็นด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐและการผงาดของเอเชียในฐานะศูนย์กลางอำนาจระดับโลก พวกเขาออกรายงานเล่มหนึ่งคือ "สกุลเงินดิจิทัลของจีน: เพิ่มข้อมูลทางการเงินให้กับเผด็จการดิจิทัล" ซึ่งวิเคราะห์การถือกำเนิดของหยวนดิจิทัลไว้หลายแง่มุม ด้วยทัศนะที่ตั้งธงไว้ว่าจีนต้องใช้งานมันเพื่อเสริมการปกครองแบบอำนาจนิยมแน่นอน 

16. โปรดสังเกตว่าก่อนหน้าที่หยวนดิจิทัลจะแรงๆ ขึ้นมาจนถูกจับตา "กูรู" ไปจับตากันที่เงินหยวนจริงๆ ว่าจะเป็นเงินสกุลหลักของโลกบางคนที่เชียร์จีนหนักๆ ถึงกับคิดว่าหยวนจะแทนที่ดอลลาร์ในที่สุด ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปยากมาก แม้แต่รัฐบาลสหรัฐเองก็ไม่ยี่หระกับการวิเคราะห์ทำนองนี้ แต่กับหยวนดิจิทัล หรือ DCEP แล้วสหรัฐมีปฏิกิริยาตรงกันข้ามเลยทีเดียว เพราะมันเอี่ยวกับการเมืองและมันยังดูมีอนาคตมากทีเดียว

17. ในเวลานี้ดูเหมือนว่าจีนเล็งเป้าไว้ที่การใช้ภายในประเทศ และไม่น่าจะเป็นการสับขาหลอกสหรัฐ เพราะจีนมีความจำเป็นที่จะต้องรวมศูนย์เศรษฐกิจให้อยู่ในกำมือรัฐบาลมากขึ้น เราเห็นการเบรกฟินเทคและเล่นงานบริษัทใหญ่ด้วยข้อหาผูกขาดตลา นั่นไม่ใช่การตั้งข้อหาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่น่าจะมีเหตุมาจากจีนต้องการรวบอำนาจธุรกิจการเงินก่อนที่มันจะคุมได้ยากเกินไป เพราะที่ผ่านมาหลายปีบริษัทใหญ่ เช่น Alibaba และ Tencent มีอิทธิพลในชีวิตของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะระบบเพย์เมนต์

18. อย่างรายงานของ CNAS ระบุว่า "กลยุทธ์ DCEP ของ PBOC ได้รับแรงจูงใจจากหลายปัจจัย การครอบงำของบริษัทชำระเงินมือถือส่วนตัวในจีนทำให้บริษัทเหล่านั้นมีบทบาทในการค้าปลีก ทำให้บริษัทเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในระบบเศรษฐกิจ PBOC กำลังมองหาสกุลเงินดิจิทัลเพื่อควบคุมส่วนแบ่งการตลาดและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของบริษัทการเงินเอกชนและเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเงินของผู้บริโภคชาวจีนได้ดีขึ้น"

19. ทางการจีนจะไม่เข้าไปขวางระบบเพย์เมนต์ เพียงแต่จะเป็นผู้ผลิตเงินในระบบดิจิทัล แล้วเวลาใช้งานประชาชนจะมีสิทธิ์เลือกระบบเพย์เมนต์หรือกระเป็าเงินดิจิทัลของบริษัทต่างๆ ได้ การที่ธนาคารกลางเป็นผู้กำหนดเงินดิจิทัลด้วยตัวเองจะยิ่งทำให้ระบบเพย์เมนต์ถูกผูกขาดน้อยลง และบริษัทอื่นๆ เขามาเป็นตัวเล่นใหม่ๆ ในธุรกิจนี้มากขึ้น และธนาคารกลางจะไม่เข้าไปแทรกแซง ณ จุดนี้ แต่จะพัฒนาให้มันก้าวหน้ายิ่งขึ้น เช่น ทำให้มันเป็นระบบเพย์เมนต์ที่ทำงานออฟไลน์ได้เพียงแค่แตะสมาร์ทโฟนก็จ่ายเงินได้แล้ว

20. จะเห็นได้ว่าแม้ว่าจีนจะย้ำว่าหยวนดิจิทัลเอามาใช้ในประเทศในระยะเฉพาะหน้า แต่มันมีความเย้ายวนใจมากในแง่เทคโนโลยีจนในระยะยาวมันอาจจะเป็นสกุลเงินหลักของโลกได้จริงๆ และความที่สหรัฐต้วมเตี้ยมมากในเรื่องนี้ สหรัฐก็จะหาวิธีการสกัดหยวนดิจิทัลด้วยการประโคมว่ามันไม่ปลอดภัยในแง่ความเป็นส่วนตัว เพราะระบบบงการโดยรัฐบาลจีน ไม่ว่าจีนจะย้ำว่าหยวนดิจิทัลรักษาความเป็นส่วนตัวแค่ไหนก็ตาม มันก็ยังเป็นจุดอ่อนอยู่ดี

21. รายงานของ CNAS ระบุว่า "การผลักดันสกุลเงินดิจิทัลนี้เป็นก้าวสำคัญในการขยายอำนาจเผด็จการทางดิจิทัลของพรรคโดยเพิ่มข้อมูลทางการเงินแบบเรียลไทม์ลงในกลยุทธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสำหรับการกำกับดูแลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความก้าวหน้าของ PBOC กับ DCEP จะช่วยเสริมและน่าจะช่วยหนุน - ความพยายามของปักกิ่งในการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์และข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการเฝ้าระวังภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น สิ่งที่จะยากขึ้นสำหรับปักกิ่งคือการโน้มน้าวคนอื่น ๆ ทั่วโลกว่าเงินหยวนดิจิทัลใหม่ทำให้สกุลเงินจีนน่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับการเงินทั่วโลก"

22. ดังนั้นเราจึงเห็นว่าสหรัฐย้ำจุดอ่อนเรื่องนี้ให้คนเคลือบแคลงหยวนดิจิทัลมาตลอดและเร่งขึ้นในปีนี้ว่ามันจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองของพรรคคิมมิวนิสต์จีน (เราจะเห็นได้ว่าระยะหลังสหรัฐปลุกผีคอมมิวนิสต์มาโจมตีจีนบ่อยๆ เหมือนสมัยสงครามเย็น) หากจีนไม่หวังจะแทนที่ดอลลาร์จริงๆ ก็คงจะไม่ต้องกังวลกับการโจมตีนี้ แต่ถ้าระบบของจีนดีจริงต่อให้มีจุดน่ากังวลแค่ไหนหากชาวโลกรับได้ ในที่สุดมันก็มีโอกาสท้าทายดอลลาร์ได้เหมือนกัน

23. โอกาสที่มันจะถูกทำให้หยวนดิจิทัลเป็นสากลก็คือมันอาจจะถูกใช้โดยประเทศที่ต้องการหลีกเลี่ยงเงินดอลลาร์ เช่นประเทศที่เป็นคู่กรณีกับสหรัฐหรือถูกสหรัฐคว่ำบาตรทางการค้า ที่ผ่านมาสหรัฐใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธมาโดยตลอด แม้ว่ามันจะเป็นเงินสกุลหลักของโลกและเป็นทุนสำรองหลัก แต่ประเทศต่างๆ ทั้วที่เป็นศัตรูและเป็นพันธมิตรล้วนกังวลกับการถือดอลลาร์มากเกินไป - เพราะไม่รู้ว่าวันไหนมันจะถูกสหรัฐใช้เป็นอาวุธโจมตี

24. หากมองในแง่การปกครองแบบรวมศูนย์ที่จีนใช้อยู่การควบคุม Big data เป็นสิ่งที่ต้องทำและหยวนดิจิทัลจะช่วยสร้างคลังข้อมูลมหาศาลในการจับตาความเคลื่อนไหวของประชาชน แต่ระบบแบบนี้ใช้กับที่อื่นได้ยากโดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมที่ให้ค่าความเป็นส่วนตัวสูง นี่เป็นค่านิยมการเมืองที่ต่างกันของสองโลกคือ โลกของจีนที่นิยม Collectivism และโลกตะวันตกที่เป็น Individualism และสะท้อนมาที่ระบบการเงินแห่งอนาคตด้วย บางทีในอนาคต การเมืองและเศรษฐกิจโลกอาจจะแยกกันด้วยสองแนวคิดนี้ก็เป็นได้

AFP PHOTO / Fred DUFOUR