posttoday

Hovding หมวกกันน็อกล่องหน สตาร์ทอัพความหวังของวงการนักปั่น 

17 มีนาคม 2564

มีนวัตกรรมชิ้นหนึ่งที่นอกจากจะล้ำแล้ว ยังเป็นประโยชน์มหาศาลกับผู้ใช้รถจักรยาน นวัตกรรมที่ว่านี้คือ แอร์แบ็ก หรือถุงลมนิรภัยสำหรับคนปั่นจักรยาน ที่ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรก

หลายคนอาจไม่เชื่อสายตาตัวเองเมื่อพบคำว่า “ถุงลมนิรภัย” สำหรับจักรยาน จนเกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่าเราคงจะสื่อสารผิดและคงจะเป็นหมวกนิรภัยมากกว่ากระมัง และเมื่อดูจากภาพยิ่งน่าเชื่อว่ามันคือหมวกกันน็อกแน่ๆ หาใช่แอร์แบ็กไม่

ขอยืนยันอีกครั้งว่าเจ้าสิ่งนี้เป็นแอร์แบ็กจริงๆ และภาพที่เห็นคล้ายกับหมวกกันน็อกครอบศีรษะผู้ใช้รถจักรยานเกิดขึ้นจากการทำงานของแอร์แบ็กแบบครบวงจรแล้ว โดยก่อนหน้านั้นผู้ใช้และผู้พบเห็นแทบจะไม่รู้สึกเลยว่าใกล้ๆ ตัวมีแอร์แบ็กซุกซ่อนอยู่เป็นแก็ดเจ็ทช่วยชีวิตแบบเนียนๆ

ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจกับกลไกของเจ้าสิ่งนี้ เรามาทำความรู้จักกับเจ้าของไอเดียสะเทือนโลกกันก่อน

ผู้คิดค้นแอร์แบ็กแห่งศตวรรษใหม่ คือ เฮิฟดิง (Hövding) สตาร์ทอัพสุดฮอตจากเมืองมัลเมอ ประเทศสวีเดน มีหัวเรือใหญ่คือ อันนา เฮาพท์ กับ เทเรส อัลสติน สองสาวเพื่อนซี้ที่ระดมสมองร่วมกันมาตั้งแต่ตอนยังเรียนออกแบบอุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยลุนด์

ภายหลังในปี 2006 ทั้งสองร่วมกันก่อตั้งบริษัท เฮิฟดิง โดยต่อยอดมาจากวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา โดยโปรเจกต์หลักของบริษัทนี้ คือการออกแบบหมวกกันน็อกรุ่นใหม่ที่ตอบสนองกับความต้องการของผู้คน

ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ย่อมมีที่มาที่ยาวนาน

ในช่วงปี 2005 สวีเดนเพิ่งจะผ่านกฎหมายบังคับเยาวชนที่อายุไม่ถึง 15 ปีต้องสวมหมวกกันน็อกขณะใช้จักรยาน กฎหมายนี้ก่อให้เกิดวิวาทะไปทั่วประเทศว่าควรที่จะเพิ่มเติมข้อบังคับให้ครอบคลุมถึงผู้ใหญ่ด้วยหรือไม่

ไม่เฉพาะในสวีเดนเท่านั้น ประเด็นที่ว่ายังเป็นเรื่องสากลเพราะในยุโรปที่ค่อนข้างจริงจังกับกฎจราจร ยังมีผู้ใช้จักรยานเพียง 20% เท่านั้นที่สวมหมวกกันน็อก (ตัวเลขปี 2014)

สาเหตุที่ไม่ชอบใส่เพราะหนักศีรษะ บางคนไม่ยอมใส่เพราะไม่ชอบดีไซน์

เฮาพท์ กับ อัลสติน มองเห็นโอกาสในวิวาทะประเด็นนี้ จึงนำวิทยานิพนธ์มาขัดสีฉวีวรรณเสียใหม่ แล้วหาแนวทางพัฒนาหมวกกันน็อกที่ผู้สวมใส่รู้สึกแฮปปี้กับมัน ไม่ว่าจะถูกบังคับให้สวมหรือเต็มใจสวมก็ตาม

ผลของการต่อยอด คือไอเดียที่จะผลิตหมวกกันน็อกลูกครึ่งแอร์แบ็ก แต่มีแค่ไอเดียก็คงจะจบแค่นี้ ขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้กันคือการปั้นไอเดียให้เป็นรูปธรรม เฮาพท์ กับ อัลสติน จึงเสนอแผนการกับบริษัทอินโนเวชั่นส์บรอน (Innovationsbron) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายด้านนวัตกรรมที่โยงใยทางภาคธุรกิจ วิชาการ และสังคม ก่อนจะได้รับการยอมรับ หลายคนไม่เชื่อว่าแนวคิดที่ว่าจะเป็นไปได้ เพราะไม่เคยมีอะไรอย่างนี้มาก่อนในตลาด

อัลสติน บอกเหมือนเป็นเรื่องที่พอรับได้ว่า ทุกครั้งที่มีการนำเสนอสิ่งที่แปลกใหม่ สาธารณชนก็มักมีปฏิกิริยาตกตะลึงพรึงเพริดอยู่แล้ว วิธีการที่จะสยบอาการตกตะลึงจนรับไม่ได้คือทำให้พวกเขามั่นใจว่า เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในสิ่งที่จะนำเสนอจริงๆ

แต่ปรากฏว่าการนำเสนอแผนการนี้สำเร็จ ทั้งคู่จึงเดินเครื่องผลิตอย่างจริงจัง จนกระทั่งออกมาเป็น “เฮิฟดิง” หมวกกันน็อกซ่อนรูปที่จะออกมาปกป้องศีรษะของผู้สวมใส่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ แนวคิดนี้ทั้งเก๋ไก๋และล้ำสมัย จึงไม่น่าแปลกใจที่จะคว้ารางวัล Venture Cup ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับสตาร์ทอัพดาวรุ่งของสวีเดน และหลังจากนั้นก็ได้รับรางวัลแบบปีเว้นปี จนกระทั่งในเวลานี้กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปภายนอกสวีเดน จากการรายงานของสื่อกลุ่มหนึ่ง

นี่เองที่ทำให้เราได้รู้จักกับเฮิฟดิงเป็นครั้งแรกหลังเปิดตัวได้ 2 ปีในยุโรป และหากนับรวมกระบวนการก่อรูปจากไอเดียเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง จะกินเวลานานถึง 7 ปี เพราะต้องผ่านการทดสอบการกระแทกในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง รวมถึงการล้มบนวัตถุประเภทต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเฮิฟดิงปลอดภัยหายห่วง

นอกจากจะปลอดภัยใช้ได้จริงแล้ว หมวกกันน็อกล่องหนยังสามารถผ่อนแรงกระแทกได้ดีกว่าหมวกกันน็อกทั่วๆ ไปถึง 3 เท่า

ไม่เพียงเท่านั้น เทคโนโลยีนี้ยังสามารถต่อยอดเพื่อนำไปใช้กับการขับขี่มอเตอร์ไซค์ การเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม หรือแม้แต่กับผู้ป่วยโรคลมชัก

แม้ผลิตภัณฑ์นี้จะไปได้สวย แต่ เฮาพท์ กับ อัลสติน ผู้เป็นต้นคิดนวัตกรรมกลับโบกมือลาออกจากบริษัทในปี 2014 และ 2015 ตามลำดับ ตอนนี้ บริษัทเฮิฟดิงดำเนินการโดยมีพนักงาน 20 คน แต่ก็ยังสานต่อแนวคิดที่หญิงสาวทั้งสองคนได้ปูทางไว้

ปัจจุบันนี้เฮิฟดิงดำเนินมาถึงรุ่นที่ 3 ที่มีชื่อว่า Hovding 3 ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2019 ซึ่งมาพร้อมกับการปรับปรุงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นขนาดที่เล็กลง อัจฉริยะขึ้น และอายุแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้น ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นผ่านบลูทูธ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งาน อาทิ จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง รวมทั้งข้อมูลเชิงลึกว่าผู้ผลิตควรปรับปรุงโครงสร้างของจักรยานอย่างไรเพื่อให้การขี่ปลอดภัยขึ้น  

อีกจุดหนึ่งที่เป็นเครื่องการันตีความปลอดภัยคือ ผลการทดสอบประสิทธิภาพโดยบริษัทประกันภัย Folksam ในสวีเดนเมื่อปี 2020 พบว่า Hovding 3 มีประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บได้มากกว่าหมวกกันน็อกสำหรับนักปั่นทั่วไปถึง 8 เท่า  

เมื่อปีที่แล้ว เฮิฟดิงเปิดเผยตัวเลขว่ามีนักปั่นหันมาใช้หมวกกันน็อกอัจฉริยะนี้ถึง 185,000 คน โดย 5,200 คนรายงานว่าหมวกกันน็อกนี้สามารถปกป้องชีวิตของพวกเขาจากอาการบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุ  

เฮิฟดิงทำงานอย่างไร

1.แอร์แบ็กมีระบบเซ็นเซอร์ 200 ตัว ที่มีอัตราตรวจจับความเร็ว 1/10 ต่อวินาที คอยจับความเคลื่อนไหวอันเกิดจากการกระแทก ตัวแอร์แบ็กถูกออกแบบให้สะดวกต่อการสวมใส่ โดยเก็บไว้ในซองผ้าร่มคล้ายซองเก็บฮู้ดของเสื้อกันหนาว แต่มีขนาดกะทัดรัด สามารถสวมไว้รอบคอของผู้ใช้จักรยานโดยไม่รู้สึกรำคาญ

2.แอร์แบ็กจะซ่อนตัวอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีใครสังเกต เพราะดูเหมือนส่วนปกเสื้อหนาๆ แต่เมื่อเกิดการกระแทก หรืออุบัติเหตุ เซ็นเซอร์จะสั่งการให้อุปกรณ์เก็บก๊าซฮีเลียม และปล่อยก๊าซออกมาจนแอร์แบ็กพองตัวกลายเป็นอุปกรณ์ครอบศีรษะคล้ายหมวกกันน็อกในชั่วเวลาเพียง 1 ส่วน 10 วินาที หรือก่อนที่ศีรษะจะกระแทกกับพื้นหรือรถยนต์ที่พุ่งชน

ภาพ: Hövding