posttoday

จีนเล่นเกมอันตราย "ซ่อนดาบในรอยยิ้ม" กับเมียนมา

03 กุมภาพันธ์ 2564

ขณะที่หลายประเทศออกมาต่อต้านเมียนมากรณีรัฐประหาร พันธมิตรอย่างจีนอาจใช้โอกาสนี้ขยายอิทธิพลในภูมิภาค แต่ด้วยกลยุทธ์ที่ค่อนข้างอันตรายต่อเสถียรภาพในเมียนมา

1. หลังเกิดเหตุรัฐประหารในเมียนมาก็ดูเหมือนว่าสหรัฐจะเริ่มตีตัวออกห่างด้วยเหตุที่ว่าเมียนมาสร้างความถดถอยในกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย หนำซ้ำโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐยังออกมาประกาศกร้าวเตือนเมียนมาว่าอาจนำมาตรการคว่ำบาตรมาใช้กับเมียนมาอีกครั้งด้วย

2. ถึงกระนั้นเมียนมาก็ยังมีพันธมิตรที่แน่นแฟ้นอย่างจีนที่ไม่ได้ออกมาประณามเหตุรัฐประหารในครั้งนี้อย่างที่นานาประเทศทำ เพียงแต่กล่าวว่ารับทราบและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมขอให้ทุกฝ่ายสามารถแก้ไขความขัดแย้งได้โดยเร็วเท่านั้น อีกทั้งสื่อจีนอย่างโกลบอลไทม์ยังเลี่ยงที่จะใช้คำว่า "รัฐประหาร" (coup) โดยเรียกว่า "ปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี" (cabinet reshuffle) แทน

3. ทั้งนี้ จีนเละเมียนมาได้จับมือเซ็นสัญญาโครงการระหว่างประเทศหลายโครงการด้วยกัน อีกทั้งเมียนมายังเป็นประเทศที่สำคัญของนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (Belt and Road Initiative : BRI) ซึ่งรวมถึงการที่จีนสร้าง "ท่าเรือน้ำลึกเจาะพยู" ในรัฐยะไข่ของเมียนมาด้วย

4. ท่าเรือดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (CMEC) ซึ่งจะกลายเป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียของจีน และเอื้อให้จีนสามารถนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางและส่งออกสินค้าได้โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาซึ่งถูกปิดกั้นโดยสหรัฐ

5. นอกจากท่าเรือดังกล่าวแล้วจีนและเมียนมายังมีข้อตกลงร่วมกันภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (CMEC) อย่างการสร้างเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งเชื่อมจากมณฑลยูนนานของจีนที่ไม่มีทางออกทางทะเลไปสู่ชายฝั่งทางฝั่งตะวันตกของเมียนมา ตลอดจนแผนการปรับปรุงและขยายเขตปริมณฑลของนครย่างกุ้งด้วย

6. การจับมือกันระหว่างจีนและเมียนมาในครั้งนั้นจะส่งผลให้จีนได้ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และสามารถแพร่กระจายอิทธิพลของตนไปได้ทั่วภูมิภาค

7. อย่างไรก็ตามหลังจากที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ประกาศว่าจะมีการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมา ประเทศจีนก็ได้ใช้สิทธิออกเสียยับยั้งหรือวีโต้ หากที่ประชุมมีมติลงโทษเมียนมาในกรณีรัฐประหารซึ่งสวนทางกับท่าทีของประเทศอื่นๆ

8. อาจกล่าวได้ว่าการรัฐประหารในเมียนมาครั้งนี้ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มตีตัวออกห่างเมียนมา ในขณะที่จีนยังคงให้การสนับสนุนในฐานะพันธมิตรที่ดี อาจส่งผลให้จีนสามารถคว้าโอกาสในการใกล้ชิดกับเมียนมาครั้งนี้ขยายอิทธิพลของตนเพิ่มขึ้นไปอีก

9. เช่นเดียวกับยาสุฮิเดะ นากายามะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นที่มองว่าการรัฐประหารในเมียนมาอาจกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเพิ่มอิทธิพลของจีนในภูมิภาค และญี่ปุ่นไม่ควรระงับความร่วมมือกับเมียนมาเพราะจะทำให้เมียนมาและจีนมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นและกลายเป็นการสร้างโอกาสในการขยายอิทธิพลให้กับประเทศจีน

10. IANS สำนักข่าวของอินเดียยังรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่าการรัฐประหารโดยกองทัพของเมียนมาอาจเกี่ยวข้องกับการที่ประเทศจีนเข้ามาใกล้ชิดกับประเทศเมียนมา อย่างในช่วงปี 1990 ถึง 2000 ช่วงที่เมียนมาปกครองด้วยรัฐบาลทหารก็ได้รับการสนับสนุนโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน

11. พล.อ. มินอ่องหล่าย ผู้นำการยึดอำนาจยังค่อนข้างใกล้ชิดกับจีน โดยเขาเดินทางจีนบ่อยครั้งที่สุดรองจากไทย เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมนี่เองที่หวางอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเดินทางมาเยือนเมียนมาและได้เข้าพบกับมินอ่องหล่ายด้วย โดยย้ำว่าประเทศทั้งสองมีสัมพันธ์แบบ Paukphaw 

12. Paukphaw เป็นภาษาพม่าที่หมายถึง "พี่น้องท้องเดียวกัน"คนพม่าใช้เรียกคนจีนด้วยความสนิทสนม และแนวคิดเรื่องเมียนมา-จีนเป็นพี่น้องกัน หรือ Paukphaw ถูกย้ำหลายๆ ครั้ง เช่นตอนที่สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนเดินทางมาเยือนเมียนมาเมื่อปีที่แล้วก็เอ่ยถึงคำๆ นี้หลายครั้ง

13. เมื่อหวางอี้มาหยอดคำหวานเรื่องพี่เรื่องน้องแล้ว ก็เอ่ยว่าจีนหวังที่จะเห็นโครงการ CMEC เดินหน้าแบบเต็มสูบอีกครั้งหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว (โปรดสังเกตว่าตอนนั้นเมียนมาเพิ่งจะเลือกตั้งเสร็จมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 แต่มีปัญหาเรื่องพรรคของกองทัพไม่ยอมรับผลเลือกตั้งที่พรรคของอองซานซูจีชนะถล่มทลาย)

14. ตอนที่พบกับหวางอี้ รัฐบาลใหม่ยังไม่มี สมาชิกสภายังไม่สาบานตน มินอ่องหล่ายได้ตอบหวางอี้ไปว่ากองทัพเมียนมากสนับสนุนทั้งสองประเทศในการเร่งโครงการ CMEC แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดก็ตาม ในเวลานี้มินอ่องหล่ายอำนาจในมือเต็มที่แล้ว เชื่อได้ว่าโครงการ CMEC เดินหน้าแน่ๆ

15. คำถามก็คือจีนจะใช้ประโยชน์จาก CMEC นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจหรือไม่? เพราะมีการพูดถึงกันมานานแล้วว่าจีนอาจใช้ประโยชน์จากท่าเรือท่าเรือน้ำลึกเจาะพยูด้วยเหตุผลอื่น เช่น อาจใช้เป็นฐานทัพเรือหรืออย่างน้อยก็ศูนย์กลางโลจิสติกของกองทัพจีน

16. เรื่องนี้ถูกวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญและไม่เชี่ยวชาญต่างของประเทศมาระยะหนึ่งว่าเป็นไปได้นั่นคือถูกใช้เป็นศูนย์โลจิสติกหรือจุดแวะของกองทัพจีน ซึ่งกองทัพจีนหรือ PLA นั้นเป็นทั้งกองทัพและยังมีธุรกิจในเครืออีกด้วยซึ่งธุรกิจเหล่านั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับการทหาร (ดังจะเห็นได้จากการที่สหัรฐขึ้นบัญชีดำบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ PLA ให้ถอนจากตลาดหุ้นสหรัฐ สาเหตุเพราะมีประเด็นเรื่องความมั่นคง)

17. แต่กองทัพเมียนมามีความเป็นตัวของตัวเองสูง ยึดมั่นในเอกราชและอธิปไตยของชาติ และในกองทัพเมียนมาเองก็มีการแบ่งฝักฝ่าย (factions) กลุ่มในกองทัพเหล่านี้เคยมีอิทธิพลต่อการชี้นำประเทศมาแล้ว เช่น หากเห็นว่ายังไม่ควรปฏิรูปบางกลุ่มในกองทัพก็จัดคัดค้านหรือแนะให้ชลอไปก่อน

18. เช่นเดียวกันในกองทัพมีทั้งกลุ่มที่นิยมจีนและกลุ่มต่อต้านจีน ความไม่พอใจจีนนั้นมีตั้งแต่การที่จีนสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย เช่น พวกโกก้างในแถบรัฐฉาน กองทัพว้า กองทัพอาระกัน/กองทัพเอกราชกะฉิ่นที่ปฏิบัติการในแถบรัฐกะฉิ่น

19. ความระแวงจีนในกองทัพเมียนมาแสดงออกให้เห็นจากการที่กองทัพหันไปคบหากับอินเดียในกิจการด้านความมั่นคงมากขึ้น (เช่นฝึกร่วมและซื้ออาวุธ) ฝ่ายนำในกองทัพเมียนมายังเชื่อว่าจีนตีสองหน้า ทางหนึ่งก็พยายามจูบปากเมียนมาเพื่อหาทางออกทะเลอันดามัน-อ่าวเบงกอล ทางหนึ่งก็สนับสนุนชนกลุ่มน้อย หากเป็นเช่นนี้จริงจีนก็เหมือนเหยียบเรือสองแคม แต่ทางการจีนปฏิเสธมาโดยตลอด

20. ดังนั้นมินอ่องหล่ายจะยอมให้จีนมาพัฒนา CMEC หรือไม่? ก่อนอื่นต้องรับทราบก่อนว่ามินอ่องหล่ายค่อนข้างจะพอใจกับจีน เพราะจีนทำให้เขาพึงพอใจ ตัวเขาเองถูกกล่าวหาว่าบัญชาการการสังหารหมู่ชาวโรฮิงยาซึ่งอาจเข้าข่ายข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยซ้ำ แต่มินอ่องหล่ายได้รับทราบว่าจีนยืนเคียงข้างเขาและขอบคุณ "จุดยืนที่ถูกต้องและยืนหยัดต่อประชาคมนานาชาติในประเด็นรัฐยะไข่"

21. มินอ่องหล่ายถึงกับบอกว่า "เมียนมาถือว่าจีนเป็นมิตรตลอดกาลและหุ้นส่วนด้านยุทธศาสตร์ของประเทศ" พูดกันถึงขนาดนี้แล้วย่อมจะคาดเดาได้ว่าเขาจะสนับสนุนโครงการ CMEC แต่จะถึงกับให้มามีปฏิบัติการทหารในแถวนั้นหรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป แต่ขอให้สังเกตว่ามินอ่องหล่ายยกจีนเป็น "หุ้นส่วนด้านยุทธศาสตร์ของประเทศ"

20. ในช่วงสองสามปีมานี้ดูเหมือนกองทัพเมียนมาจะ "คล้อยตาม" จีนมากขึ้น เช่น กองทัพยอมหยุดยิงกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยแต่ฝ่ายเดียวระหว่างเดือนธันวาคม 2018 - เมษายน 2019 หลังจากที่มีการเจรจาที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายจีนซึ่งมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังกองกำลังชนกลุ่มน้อยใกล้ชายแดนจีน

21. การเข้ามาเป็นผู้ช่วยไกล่เกลี่ยของจีนเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะความขัดแย้งในเมียนมากระทบต่อการลงทุนของจีนด้วย (มีการโจมตีพื้นที่ที่จีนจะสร้างทางบรถไฟตามโครงการ Belt and Road) การที่กองกำลังที่จีนสนับสนุนและไม่สนับสนุนมาโจมตีโครงการจีนเสียเอง ทำให้จีนหันมาสนิทกับกองทัพเมียนมามากขึ้น และบรรเทาความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อจีน

22. มีประเด็นน่าสังเกตเรื่องหนึ่ง เมื่อปีที่แล้วโฆษกของกองทัพเมียนมากล่าวว่ามีประเทศหนึ่งอยู่เบื้องหลังกองกำลังอาระกันหลังจากพบอาวุธที่ทันสมัยที่รัฐยะไข่ ในประเด็นนี้สื่อต่างประเทศชี้ไปที่จีน โดยเฉพาะสื่ออินเดีย (อย่าลืมว่าอินเดียมีความขัดแย้งถึงขั้นใช้กำลังทหารกับจีน) ส่วนเจ้าหน้าที่อินเดียเผยว่าจีนหนุนหลังกลุ่มติดอาวุธในเมียนมาที่เคลื่อนไหวแถบชายแดนอินเดีย-เมียนมา โดยกองทัพอาระกันทำหน้าที่เป็นคนกลางนำอาวุธจากจีนไปแจกจ่ายกลุ่มติดอาวุธเหล่านั้น

23. ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมา U Min Zaw Oo ชี้ว่ามีการซื้อขายอาวุธสองทาง ทางหนึ่งเจ้าหน้าที่ในมณฑลยูนนาน (ใกล้กับรัฐกะฉิ่นซึ่งกองทัพอาระกันเคยไปฝึกรบที่นั่น) ซึ่งกลุ่มติดอาวุธอาจมีสายสัมพันธ์ด้วยอาจแอบขายอาวุธให้ หรืออีกทางไปซื้อมาจากตลาดมืด ซึ่งมันเป็นไปได้ทั้งสองทาง แต่เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ทางการไทยที่แม่สอดจับอาวุธที่ผลิตจากจีนใหม่ๆ ได้ แหล่งข่าวในกลุ่มติดอาวุธบอกกับสำนักข่าว The Irrawaddy ว่าอาวุธพวกนี้น่าจะนำไปขายให้กลุ่มกองทัพอาระกัน เพราะกลุ่มนี้ให้ราคาดี แต่คำถามที่ยังไม่ได้คำตอบคือ อาวุธพวกนี้จีนส่งมาขายหรือผ่านคนกลางในตลาดมืดมาโดยจีนไม่รู้?

24. เมื่อปีที่แล้ว ซุนกั๋วเซียงผู้แทนของจีนมาเข้าพบมินอ่องหล่ายและมีรายงานว่ามินอ่องหล่ายบอกกับฝ่ายจีนอาวุธที่กลุ่มติดอาวุธใช้นั้นมาจากทางจีน หลังการหารือเสร็จสิ้นแล้วมินอ่องหล่ายบอกกับ Yomiuri Shimbun ของญี่ปุ่นว่ากลุ่มติดอาวุธในเมียนมาได้รับอาวุธจากทางจีนทางอ้อม แต่ก็ไม่บอกอะไรมากกว่านั้น

25. พื้นที่ CMEC ที่จีนกำลังจะปั้นให้เป็นจุดแวะพักทางเศรษฐกิจและการทหาร ยังเป็นพื้นที่ของรัฐยะไข่ อันเป็นรัฐที่กองทัพอาระกันปฏิบัติการและเป็นพื้นที่ที่อันตรายมากแถบหนึ่งเพราะกองทัพอาระกันและกองทัพเมียนมารบกันอย่างหนักหน่วง แต่โปรดสังเกตว่ากองทัพอาระกันแม้จะถูกกล่าวหากว่ามีจีนเป็นแบ๊คอัพ แต่ไม่ได้ร่วมในข้อตกลงหยุดยิงที่จีนเป็นคนกลาง พวกเขาเพิ่งจะมาหยุดยิงเองแต่ฝ่ายเดียวเมื่อเดือนพฤศจิกายน

26. ดูเหมือนว่าคนยะไข่ (หรืออาระกัน) จะให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธนี้อย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะยะไข่/อาระกันมีอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง และที่สำคัญกองทัพเมียนมายังปฏิบัติต่อชาวบ้านและผู้ต้องสงสัยชาวยะไข่อย่างเหี้ยมโหด อย่างที่ พริสซิลลา แคลปป์ อดีตเจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐประจำเมียนมาบอกกับ Radio Free Asia ว่าความเหี้ยมเป็น "วัฒนธรรม" ของกองทัพเมียนมา และมันเป็นวัฒนธรรมที่เป็นพิษ (toxic) ซึ่งผู้ที่สร้างวัฒนธรรมเหล่านี้ขึ้นมาก็คือผู้นำกองทัพและฝึกให้ทหารเมียนมามีวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรง

27. มีรายงานว่าความรุนแรงเริ่มจะเข้าไปถึงเมืองเจาะพยูที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกเจาะพยู เมื่อปีที่แล้วทหารเมียนมาเริ่มจับกุมพลเรือนในเมืองเพราะต้องสงสัยว่าพัวพันกับกองทัพอาระกัน หลายคนพยายามหนีออกไปบางคนต้องไปพึ่งใบบุญของวัดซึ่งมีมากมายในเมืองเจาะพยู แต่บางคนโชคไม่ดีถูกยิงและทุบตีเพื่อรีดข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่

28. อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่กองทัพอาระกันรบกับกองทัพเมียนมาเมื่อปีที่แล้ว พวกเขายังแยกออกไปโจมตีโครงการกาลาดัน ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมต่อเมียนมากับอินเดียทางทะเล (จากท่าเรือซิตตเวในรัฐยะไข่) และทางบก (ปาเลตวาในรัฐชิน) พื้นที่นี้ชุกชุมไปด้วยกองกำลังติดอาวุธ แต่กลุ่มที่เล็งเป้าโครงการของอินเดียคือกองทัพอาระกัน

29. ไม่น่าแปลกใจที่อินเดียจะพยายามย้ำแล้วย้ำอีกว่าจีนมีส่วนบ่อนทำลายเมียนมาด้วยการ "สนับสนุน" อาวุธให้กลุ่มอย่างกองทัพอาระกัน (ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าได้อาวุธจากจีนโดยตรงหรือลักลอบมาจากตลาดมืด) ความพัวพันของอินเดียกระมังที่ทำให้กองทัพอาระกันที่ใช้อาวุธจีนหันมาโจมตีโครงการของอินเดียในรัฐยะไข่เสียเลย

30. จีนจึงไม่ใช่แค่คน "ฉวยโอกาส" ผ่านการรัฐประหารในเมียนมา แต่เป็นผู้มีส่วนชี้ชะตาว่าเมียนมาจะมีสันติภาพระหว่างกองทัพกับชนกลุ่มน้อยได้เลยทีเดียว จึงไม่แปลกที่มินอ่องหล่ายจะมองจีนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ยิ่งหากชาติตะวันตกคว่ำบาตรเมียนมาด้วยแล้ว เมียนมาจะเหลือหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดคือจีน สิ่งเดียวที่จีนจะต้องทำก็คือทำให้กลุ่มติดอาวุธภายใต้อิทธิพลจีนต้องรามือเพื่อรักษาผลประโยชน์ของจีนในเมียนมา ภายใต้ยุคเผด็จการทหารครั้งใหม่

โดย กรกิจ ดิษฐาน และ ณิชมน โลหะขจรพันธ์

Photo by Nyein CHAN NAING / POOL / AFP