posttoday

ทำไมไบเดนถึงไม่สนใจไทย?

20 มกราคม 2564

ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐจะมีจุดยืนต่อไทยเช่นไร แล้วเขาจะมองไทยสำคัญแค่ไหน

ว่ากันตามสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดที่เปราะบางที่สุดแห่งหนึ่ง ขนาบโดยจีนและอินเดียและมหาสมุทรทั้งสองแห่ง ไทยยังเป็นผู้นำประเทศหนึ่งในอาเซียน มีพลังทางเศรษฐกิจพอสมควรและเป็น "มหามิตร" กับสหรัฐมานาน

แต่ในระยะหลังดูเหมือนว่าไทยจะอยู่นอกสายตาสหรัฐ เช่นในเอกสาร “เค้าโครงยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก” ที่ได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ก็เอ่ยถึงไทยแค่นิดเดียวโดยไม่มีเนื้อหาสาระอะไร

แม้แต่โจ ไบเดนก็แทบไม่ได้พูดอะไรถึงไทยเลย เช่น ในบทความเรื่อง "ทำไมอเมริกาต้องเป็นผู้นำอีกครั้ง?" เขาพูดถึงการสานพันธมิตรเดิมๆ (เพื่อต้านจีนกับรัสเซีย) อันเป็นแกนหลักนโยบายต่างประเทศของเขา แต่ไบเดนพูดถึง "เสริมความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจากอินเดียถึงอินโดนีเซียเพื่อพัฒนาคุณค่าร่วมกันในภูมิภาคที่จะกำหนดอนาคตของสหรัฐ"

ข้อความนี้ตีความได้ว่าไบเดนจะให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างมาก เพราะมันจะชี้เป็นชี้ตายอนาคตของสหรัฐ และประเทศที่เป็นแกนหลักคืออินเดียซึ่งเป็นคู่กรณีกับจีน และอินโดนีเซียซึ่งเป็นหนึ่งในพี่ใหญ่ของอาเซียน

ไบเดนมีจุดยืนแบบเดโมแครตคลาสสิก คือสนใจเรื่องอุดมการณ์การเมืองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยม ในเว็บไซต์แคมเปญเลือกตั้งของเขาเผยภารกิจสำคัญคือ "ฟื้นฟูการปกครอง (ตามระบอบประชาธิปไตย) ของเราเองและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับพันธมิตรที่เป็นประชาธิปไตยที่ยืนเคียงข้างเรากับเรา" และย้ำคำว่า "ประเทศโลกเสรี" (Free World) หลายครั้ง

และยังมีอีกหลายครั้งที่ไบเดนย้ำถึงระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นเราอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าเขาจะให้ความสำคัญกับ "ประเทศโลกเสรี" ก่อนประเทศไม่เสรี

เรายังไม่อาจรู้ว่าไบเดนจะใช้นิยามแบบไหนที่จะกำหนดว่าประเทศใดเสรีหรือไม่เสรี ดังนั้นเราจึงอาจใช้มาตรฐานของ Freedom House ซึ่งเป็นเอ็นจีโอทรงอิทธิพลในด้านส่งเสริมประชาธิปไตยและได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ

ในกลุ่มประเทศอาเซียน Freedom House กำหนดให้ไทยเป็นกลุ่มประเทศ "ไม่เสรี" กลุ่มเดียวกับบรูไน กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ส่วนที่เหลือคือ "เสรีบ้าง" คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

หากใช้มาตรฐานนี้ไบเดนควรจะให้ความสำคัญกับอินโดนีเซียมากกว่าไทย เพราะไทยมีรัฐบาลที่ถูกนิยามไม่เสรีแถมตอนนี้ยังมีภาพลักษณ์ทางการเมืองไม่ดีนักจากเรื่องการชุมนุมประท้วงและอื่นๆ

ย้อนกลับไปในยุคโอบามา (ซึ่งไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี) ไทยมีการทำรัฐประหารและรัฐบาลสหรัฐตัดสินใจลดความร่วมมือด้านการทหารกับไทย แต่เมื่อทรัมป์เป็นประธานาธิบดีเขาไม่เพียงแต่ฟื้นความสัมพันธ์กับไทยให้เป็นปกติเท่านั้น แต่พลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชายังมีโอกาสพบปะกับทรัมป์ที่ทำเนียบขาวด้วย

แสดงให้เห็นว่าทรัมป์ไม่สนใจว่าไทยจะปกครองในระบอบไหน ขอให้ใช้ประโยชน์ไทยได้ก็พอ

ไบเดนดูเหมือนจะไม่ใช่คนแบบทรัมป์ แต่หากเขายอมหักไม่ยอมงอในหลักการจนละเลยประเทศไทย ความฝันของเขาที่จะต่อต้านอิทธิพลจีนและทำให้อเมริกากลับมาเป็นผู้นำอีกครั้งย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะไทยมีความสำคัญเกินกว่าที่จะละเลยได้เพียงแค่มีสถานะ "ไม่เสรี"

และหากจะวัดกันจริงๆ จังๆ แล้วแม้แต่อินโดนีเซียก็มีสถานะเสรีภาพแย่ลงจากการประเมินเมื่อปี 2020 ดังนั้นหากจะใช้มาตรฐานเสรีภาพ 100% ไบเดนคงไม่เหลือพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย

ถ้าอย่างนั้นไบเดนจะทำอย่างไรกับไทย?

บางทีผู้ที่จะเข้าหาไทยได้ง่ายที่สุดอาจเป็น "แอนโทนี บลินเคน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

บลินเคนเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลโอบามา เขาเคยพบกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างการประชุมนอกรอบที่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อปี 2015 (หรือหนึ่งปีหลังรัฐประหาร)

ในขณะที่รัฐบาลโอบามาลดระดับความสัมพันธ์กับไทย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงผลการหารือครั้งนั้นว่า "สหรัฐต้องการไทย" ในฐานะพันธมิตรเก่าแก่ และบลินเคนยังเอ่ยถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดการประชุมยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐครั้งที่ 5 ซึ่งไม่ได้จัดมานานถึง 3 ปีแล้ว

ปรากฎว่าในเดือนธันวาคมปี 2015 ไทยกับสหรัฐก็จัดประชุมนี้จริงๆ และตกลงกันสั้นๆ และง่ายๆ เรื่องการเมืองในไทยราวกับว่าไม่ได้สลักสำคัญอะไรโดยสหรัฐรับทราบว่ารัฐบาล (คสช.) จะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยต่อไป ส่วนที่สำคัญกว่านั้นและมีเนื้อหายืดยาวกว่ามากคือการตกลงสถานะของไทยในฐานะพันธมิตรสำคัญของสหรัฐต่อไป

ต่อมามีการประชุมครั้งที่ 6 ในสมัยของทรัมป์เพื่อย้ำจุดยืนเดิมและเตรียมการให้พลเอกประยุทธ์เดินทางไปเยือนสหรัฐเพื่อพบปะกับทรัมป์ สิ่งที่ต่างจากครั้งที่ 5 คือครั้งที่ 6 สหรัฐเน้นความร่วมมือกับไทยเรื่องการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้มากขึ้น

หลังจากนั้นไม่มีการประชุมอีกเลยและทรัมป์ยังลดความสำคัญกับอาเซียนโดยไม่ส่งผู้แทนมาประชุม

ข้ามมาถึงปี 2020 ช่วงเดือนกรกฎาคมก่อนที่แอนโทนี บลินเคนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการประทรวงการต่างประเทศ บลินเคนให้สัมภาษณ์กับสถาบัน Hudson Institute ต่อข้อซักถามที่ว่าถ้าสหรัฐต้องการให้ประเทศไทย (และประเทศไม่เสรีอื่นๆ) ทำงานร่วมกันแม้ว่าจะมีอุดมการณ์ต่างกัน แต่จำเป็นต้องร่วมมือเพราะจะทำให้สหรัฐได้เปรียบ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่จะสร้างพันธมิตรในเอเชีย เขาจะทำอย่างไร?

บลินเคนตอบว่า "ผมจะพูดถึงเอเชียเฉพาะเจาะจงมากขึ้น แต่เอาล่ะถ้าโจ ไบเดนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เขาจะได้รับมรดกสองอย่าง คือ ประเทศที่แตกแยกและโลกกำลังระส่ำระสายมากขึ้น ผมคิดว่าเขาจะยืนยันว่าคำตอบที่ดีที่สุด คำตอบพื้นฐานที่ดีที่สุดสำหรับความท้าทายเหล่านั้นคือประชาธิปไตย เพราะเมื่อมันทำงานเป็นรากฐานของความแข็งแกร่งของเราในบ้าน และในต่างประเทศด้วย"

บลินเคนจากนั้นก็กล่าวเสริมคำตอบนี้ยืดยาวโดยสรุปก็คือสหรัฐในยุคไบเดนจะต้องสร้างประชาธิปไตยก่อนทั้งในและต่างประเทศและอ้างการจัดอันดับประชาธิปไตยของ Freedom House พร้อมชี้ว่าประชาธิปไตยเป็นแหล่งพลังของสหรัฐด้วยในเรื่องต่างประเทศ แต่ตอนนี้มันถดถอยลงและเป็นโอกาสให้ประเทศอำนาจนิยมอย่างจีนและรัสเซียฉวยโอกาสให้เป็นประโยชน์กับตน

นี่คือท่าทีแบบเดโมแครตคลาสสิกคือเน้นฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยก่อน "ถ้าไม่ใช่ประชาธิปไตยจะคุยด้วยยาก" หากมารูปการณ์นี้ไทยจะโดนสหรัฐเพ่งเล็งเป็นพิเศษฐานอยู่ในกลุ่ม "ไม่เสรี"

อย่างไรก็ตาม คงเพราะสถานการณ์ที่คับขันขึ้นจากความท้าทายของจีนกับรัสเซีย บลินเคนยังแทงกั๊กว่าหากจะทุ่มเทสรรพกำลังของสหรัฐไปยังเอเชียซึ่งมีความสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใดต่ออนาคตของสหรัฐ "นั่นหมายถึงการทำงานร่วมกับประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ภายใต้มาตรฐานที่ผมและคุณใช้พิจารณา เห็นได้ชัดว่าเราจำเป็นต้องทำในสิ่งนั้น"

หมายความว่าถึงจะใช้แนวทางแบบโอบามา-ไบเดนและเน้นประชาธิปไตยมาก่อน แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องไปผูกมิตรกับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สหรัฐในยุคไบเดนก็ต้องทำ ซึ่งหหมายถึงประเทศที่ถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบแบบไทยด้วย

ถามว่าสถานการณ์แบบไหนถึงจะจำเป็น? คำตอบคือเมื่อสหรัฐเห็นว่าไทยและอาเซียนจำเป็นในการสกัดกั้นจีน อย่างที่เราเคยวิเคราะห์ไว้แล้วว่า "ไบเดนเป็นอันตรายต่อดุลอำนาจโลกมากกว่าทรัมป์" เพราะเขาจะเล่นงานจีนหนักมือ และเพียงวันเดียวก่อนที่เขาจะสาบานตนรับตำแหน่ง บลินเคนบอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของทรัมป์อย่างขนานใหญ่ "ยกเว้นเรื่องจีน"

บลินเคนถึงขนาดบอกว่าทรัมป์ทำถูกแล้วที่แข็งกร้าวกับจีน!

การที่ไบเดนไม่เอ่ยถึงไทยทั้งๆ ที่ไทยสำคัญอย่างมากต่อยุทธศาสตร์นี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะสถานะการเมืองของไทยเองที่จะเสรีก็ไม่ใช่ เผด็จการก็ไม่เชิง การเอ่ยถึงไทยกับผู้สนับสนุนเขาที่ชอบประชาธิปไตยแบบเต็มร้อยจึงไม่ค่อยจะปลอดภัยนัก

แต่คนที่จะพูดถึงไทยและดีลกับไทยแทนไบเดน คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั่นเอง

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by JIM WATSON / AFP