posttoday

เมื่อไทยอยู่นอกสายตาสหรัฐในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

15 มกราคม 2564

เอกสารลับของทางการสหรัฐว่าด้วยยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกแทบจะไม่เอ่ยถึงไทยเลย

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 1 วันก่อนที่กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะบุกอาคารรัฐสภา ทางการสหรัฐตัดสินใจปลดเอกสาร “เค้าโครงยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก” ที่ได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือน ก.พ. 2018 ออกจากการเป็น “เอกสารลับ” และเพิ่งนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 12 ที่ผ่านมา ทั้งที่ในทางปฏิบัติเอกสารนี้ต้องถูกเก็บเป็นความลับไปจนถึงปี 2043

เอกสารจำนวน 10 หน้าซึ่งถูกลบข้อความบางส่วนออกเป็นตัวแทนของพิมพ์เขียวยุทธศาสตร์เปิดกว้างและเสรีในอินโด-แปซิฟิกที่สภาความั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ทำขึ้นในปี 2017 โดยไปมุ่งเน้นไปที่การวางแผนนโยบายของสหรัฐเพื่อแข่งขันกับประเทศไม้เบื่อไม้เมากันอย่างจีนที่นับวันจะมีอิทธิพลขึ้นเรื่อยๆ

ต่อไปนี้คือไฮไลต์ที่สำคัญของเอกสารฉบับนี้

1.เอกสารระบุถึงความสนใจสูงสุดของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิกไว้ว่า จะปกป้องมาตุภูมิและพลเมืองสหรัฐในต่างประเทศ ป้องกันไม่ให้อาวุธนิวเคลียร์แพร่หลาย คงไว้ซึ่งการเข้าถึงทางเศรษฐกิจ การทูต การทหารของสหรัฐในภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและมีสัดส่วนเศรษฐกิจโลกมากกว่า 1 ใน 3 รวมทั้งรักษาความเป็นหนึ่งของสหรัฐในภูมิภาคควบคู่ไปกับการปกป้องค่านิยมอเมริกันและเสรีภาพในประเทศ

2.โดยภาพรวมนั้น สหรัฐมองว่าเกาหลีเหนือไม่ใช่ภัยคุกคามสหรัฐและพันธมิตรอีกต่อไป ส่วนอินเดียมีอิทธิพลในเอเชียใต้และเป็นแกนนำในการรักษาความมั่นคงในมหาสมุทรอินเดีย และสหรัฐจะเดินหน้าร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกเพื่อต่อต้านพฤติกรรมบ่อนทำลายอธิปไตยผ่านการบีบบังคับของจีน

3.ที่น่าสนใจคือ เอกสารฉบับนี้พูดถึงความท้าทายด้านความมั่นคงของสหรัฐจากจีนเป็นหลัก โดยระบุแนวทางที่ต้องดำเนินการให้สำเร็จไว้ค่อนข้างมาก 

4.เมื่อพูดถึงจีน สหรัฐชี้ให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของจีนในอินโด-แปซิฟิก โดยมองว่าจีนมีเป้าหมายจะทำลายพันธมิตรและความร่วมมือของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิกแล้วหาประโยชน์จากช่วงสุญญากาศและโอกาสที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่แตกแยกนั้น

5.เอกสารยังระบุอีกว่า อิทธิพลทางเศรษฐกิจ การทูต และการทหารของจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ ซึ่งท้าทายการบรรลุผลประโยชน์ชาติของสหรัฐในภูมิภาค และยังเตือนว่าจีนจะกดดันให้ไต้หวันผนวกรวมกับจีนแผ่นดินใหญ่หนักขึ้น ด้วยเหตุนี้สหรัฐจะร่วมมือกับพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดเดียวกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสกัดไม่ให้จีนมีแสนยานุภาพทางกองทัพและยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้น

6.เอกสารยังระบุถึงความพยายามของสหรัฐในการตอบโต้จีนทั้งในแง่ของการค้าและการทหาร อาทิ การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่ทำลายตลาดโลก และการใช้กำลังทางทหารของจีนต่อสหรัฐและพันธมิตรหรือหุ้นส่วน สหรัฐยังอ้างว่าจีนพยายามครอบครองเทคโนโลยีล้ำสมัย รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์ และชีวพันธุศาสตร์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคมเสรี

7.ข้อความในหมวดนี้เรียกปฏิกิริยาจากจีนได้อย่างดี โดย เจ้าลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนโต้ว่า เนื้อหาของเอกสารพิสูจน์ให้เห็นความมุ่งร้ายของสหรัฐในการควบคุมจีนและบ่อนทำลายความสงบและมั่นคงของภูมิภาค “เอเชีย-แปซิฟิกเป็นเวทีสำหรับให้สหรัฐและจีนเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นปะโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่สนามประลองหาคนแพ้ชนะ”

8.ส่วนนโยบายกับอินเดียนั้น สหรัฐจะร่วมมือกับอินเดียปกป้องความมั่นคงทางทะเลและตอบโต้อิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ และจะเสริมเขี้ยวเล็บให้อินเดียเพื่อให้เป็นหุ้นส่วนหลักด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐ รวมทั้งจะกระชับความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ผ่านความสัมพันธ์ทางการทัพที่เหนียวแน่น

9.สำหรับไต้หวัน เอกสารฉบับนี้เรียกร้องให้มียุทธศาสตร์การป้องกันที่จะขัดขวางไม่ให้จีนครอบงำน่านฟ้าและทะเลภายใน “สายโซ่แห่งดินแดนวงล้อมชั้นแรก” หรือบรรดาหมู่เกาะที่ทอดตัวในญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงเกาะบอร์เนียวซึ่งอยู่ล้อมรอบชายฝั่งของจีน รวมทั้งจะช่วยให้ไต้หวันสามารถพัฒนายุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้มั่นใจว่าไต้หวันจะปลอดภัย ไม่ถูกบีบบังคับ และรับมือกับจีนได้ด้วยตัวเอง

10.เอกสารยังระบุอีกว่า สหรัฐจะโน้มน้าวเกาหลีเหนือว่าหนทางเดียวที่จะรอดคือการล้มเลิกการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และจะเพิ่มแรงกดดันเกาหลีเหนือทั้งทางเศรษฐกิจ การทูต การทหาร การบังคับใช้กฎหมาย และเครื่องมือด้านข้อมูลข่าวสาร ด้วยการช่วยเสริมแสนยานุภาพทางกองทัพให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่น และดึงให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นใกล้ชิดกันมากขึ้น และยังมีข้อความบางส่วนที่ทางการสหรัฐปิดไว้

11.ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกพูดถึงในสองมิติคือ เศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งแม้ว่าเป้าหมายจะอยู่ที่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิกอาเซียน ทว่าความสำคัญอันดับแรกกลับไปอยู่ที่มิติความมั่นคงในทะเลจีนใต้

ยุทธศาสตร์กำหนดว่า สหรัฐจะส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในด้านโครงสร้างความมั่นคง รวมทั้งส่งเสริมให้อาเซียนเป็นหนึ่งเดียวกัน ไปจนถึงการส่งเสริมโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจในอินโด-แปซิฟิกที่เป็นทางเลือกที่น่าเชื่อถือแทนโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ของจีน ทว่า ยังขาดรายละเอียดที่ชัดเจนว่าสหรัฐจะบรรลุเป้าหมายนี้เหล่านี้อย่างไร

12.ทั้งนี้ ในขณะนั้นสหรัฐมีกรอบการดำเนินงานที่มุ่งเน้นให้อาเซียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทรัมป์เน้นย้ำมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทว่าในความเป็นจริงรัฐบาลทรัมป์กลับให้ความสำคัญอาเซียนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นการไม่ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงรองจากทรัมป์เข้าร่วมประชุมสุดยอดครั้งสำคัญ อาทิ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกถึง 2 ครั้ง แม้ปากจะบอกว่าให้อาเซียนจัดตั้งแนวร่วมต่อต้านจีนก็ตาม

13.ในหมวดเดียวกันนี้ สหรัฐยังให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาเซียน รวมทั้งการบรรลุข้อตกลงทางการค้าที่มีมาตรฐานทางการค้าและการลงทุนที่กำหนดโดยสหรัฐ เพื่อให้อาเซียนลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีน ทว่าสหรัฐกลับไม่ได้ลงนามในสัญญาทางค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของจีดีพีอย่างความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน เข้าร่วม

14.ไม่นานหลังจากเอกสารฉบับนี้ถูกเผยแพร่ อีวาน ลัคส์มานา จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศอินโดนีเซีย ถึงกับบอกว่าข้อความในหมวดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ช่างน่าผิดหวัง แต่ก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย” ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสหรัฐไม่เข้าใจอาเซียนและไม่ได้ให้ความสำคัญอาเซียนเท่าภูมิภาคอื่น

15.เอกสารระบุถึงไทยว่า สหรัฐจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยและฟิลิปปินส์ด้วยการรักษาและหากเป็นไปได้ก็จะขยายความช่วยเหลือด้านการพัฒนา และความร่วมมือระหว่างกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมรบ และการทำงานร่วมกัน

เมื่อไทยอยู่นอกสายตาสหรัฐในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

16.ที่น่าสังเกตคือ เอกสารจำนวน 10 หน้านี้เอ่ยถึงไทยเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซ้ำยังเป็นการเอ่ยถึงแบบสั้นๆ 

17.ในตอนหนึ่งของเอกสารระบุว่า สหรัฐจะสร้างกรอบการทำงานจัตุภาคีด้านความมั่นคงกับอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

18.โรรี เมดคาล์ฟ ผู้อำนวยการวิทยาลัยความมั่นคงแห่งชาติของมหาวิทยาลัยแห่งชาติอสเตรเลีย มองว่าข้อความในข้อ 17 เป็นการยืนยันว่านโยบายยุทธศาสตร์ของสหรัฐในอินโด-แปซิฟิกขับเคลื่อนโดยพันธมิตรและหุ้นส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย