posttoday

ไบเดนเป็นใหญ่โลกเสรีเบ่งบาน รัฐประหารจะตัน

09 พฤศจิกายน 2563

ยุคสมัยของไบเดนจะเป็นการรื้อฟื้นประชาคม "โลกเสรี" ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อสร้างแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านประเทศเผด็จการ

โจ ไบเดนเคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของบารัก โอบามา นโยบายหลายๆ อย่างของคนทั้งสองจึงคล้ายๆ กัน เช่น การลดความพัวพันของสหรัฐในสงครามต่างๆ ซึ่งโอบามาพยายามทำเป็นอันดับแรกๆ และยังพยายามลดการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ การพยายามเข้าถึงชาวมุสลิมให้มากขึ้น

ท่าทีเหล่านี้เป็นการเลี้ยวแบบหักมุมจากนโยบายสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ก่อสงครามในรูปแบบที่อิรักและอัฟกานิสถานและทำให้โลกมุสลิมเพ่งเล็งสหรัฐป็นศัตรูจากสงครามต่อต้านการก่อการร้าย การที่โอบามาทำตรงกันข้ามหมด ส่งผลให้ประชาคมโลกสรรเสริญและทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2009 ทั้งๆ ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึงปี

แต่โอบามาไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้สร้างสันติภาพ ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐนั้นมีภาระอย่างหนึ่งพ่วงมาด้วยคือการเป็น "ผู้บัญชาการทหารสูงสุด" ที่มีอำนาจสั่งการทุกเหล่าทัพแบบหันซ้ายเป็นซ้าย หันขวาเป็นขวา เขาคือจอมพลของกองทัพที่ทรงอานุภาพที่สุดในโลก

โอบามาก็ยังบอกเองในสุนทรพจน์รับรางวัลโนเบลว่า "บางทีประเด็นที่มีความลึกซึ้งที่สุดเกี่ยวกับการได้รับรางวัลนี้ของผม ก็คือความจริงที่ว่าผมเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประเทศท่ามกลางสงครามสองสมรภูมิ" ปรากฎว่าหลังจากนั้นโอบามาถอนทหารจากอิรักและอัฟกานิสถานจริง

แต่เขาเพิ่มการโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงโดยใช้โดรนทั้งใน 2 ประเทศนั้นและในปากีสถาน, เยเมน, ซีเรีย, ลิเบีย และโซมาเลีย เรียกว่าสถานการณ์แทบไม่ได้ดีขึ้นเลย เพียงแค่ทหารอเมริกันตายน้อยลงเท่านั้น

จากการวิเคราะห์โดย Council on Foreign Relations ซึ่งเป็นองค์กรด้านนโยบายต่างประเทศที่มีอิทธิพลของสหรัฐพบว่า สหรัฐทิ้งระเบิดมากถึง 79% ในสมรภูมิที่ร่วมรบกับพันธมิตร และโอบามาเป็นประธานาธิบดีที่ทำสงครามยาวนานกว่าประธานาธิบดีคนไหนๆ ของสหรัฐ

เทียบกับโดนัลด์ ทรัมป์แล้วโอบามามีภาพลักษณ์ของสุภาพชนผู้ใฝ่สันติ แต่เขาทำสงคารามไม่หยุดหย่อน ส่วนทรัมป์มีท่าทีโผงผาง แต่กลับถอนสหรัฐจากสงครามจริงๆ จังๆ มากกว่าถึงขนาดจะถอนตัวจากการฟอร์มพันธมิตรความมั่นคงด้วยซ้ำ

ที่ยกเรื่องของโอบามาขึ้นมาก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าภาพลักษณ์และสุนทรพจน์ที่สวยหรูอาจจะหลอกเราได้ ดังนั้นเราต้องมองดูที่ผลของการกระทำ ไม่ีใช่แค่นโยบายเท่านั้น

โจ ไบเดนก็อาจมาอีหรอบเดียวกับโอบามา ไม่ใช่แค่เพราะเขาเคยเป็นคู่หูของโอบามาเท่านั้น แต่เรามีแนวคิดที่เชิงรุกกว่าโอบามามาตั้งแต่ไหนแต่ไร หากเราจะทำนายอนาคตของโลกในยุคไบเดนเราต้องรู้ก่อนว่าวิธีคิดของเขาเป็นอย่างไร และนโยบายของเขามาแนวไหนและจะคล้ายกับสมัยโอบามาหรือไม่?

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าไบเดนมีแนวคิดคล้ายๆ กับเท็ด เคนเนดี นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลล่วงลับไปแล้วซึ่งไบเดนนับถือเขาเป็นเสมือนอาจารย์ เท็ด เคนเนดีมีแนวคิดที่เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของพรรคเดโมแครต คือส่งเสริมรัฐสวัสดิการแบบอ่อนๆ ส่งเสริมการแทรกแซงของรัฐเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ต่อต้านการรวมหัวกันของทุนนิยมเอารัดเอาเปรียบ และสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม

เราจะเห็นว่านโยบายหลายๆ อย่างของไบเดนเหมือนกับแนวคิดของเท็ด เคนเนดีนั่นเอง (และส่วนหนึ่งก็เพราะเท็ด เคนเนดีเป็นตัวแทนแนวคิดแบบเดโมแครต)

ก่อนที่รัฐบาลของจอร์จ ดับเบิลยู บุชจะยกกำลังรุกรานอิรักเมือปี 2002 เท็ด เคนเนดีต่อต้านแบบหัวชนฝา ไบเดนนั้นอาจจะสนับสนุนการส่งทหารไปรุกรานอิรักก็จริง แต่เขาสนับสนุนไปก็เพราะโอกาสที่จะแก้ปัญหาทางการทูตไม่มีเหลือแล้ว หลังจากที่เขาสนับสนุนการรุกรานอิรักและการรุกรานเกิดขึ้นจริงๆ ไบเดนก็ยังวิจารณ์บุชออยู่เนืองๆ ว่า "ล้มเหลวในการแก้ปัญหาทางการทูตให้ถึงที่สุดเสียก่อน ความล้มเหลวในการระดมพลกลุ่มพันธมิตรที่แข็งแกร่งมากกว่านี้ในการทำสงครามและการขาดแผนการฟื้นฟูอิรัก"

ในเวลาต่อมาไบเดนให้สัมภาษณ์ว่าการสนับสนุนให้ส่งกำลังทหารรุกรานอิรักของเขานั้น "เป็นความผิดพลาด เป็นความผิดพลาดที่ไปคาดหวังว่าประธานาธิบดี (บุช) จะใช้อำนาจที่เรามอบให้เขาอย่างเหมาะสม"

มาถึงจุดนี้เราสามารถสรุปได้ว่า ไบเดนสนับสนุนการแทรกแซงโดยรัฐ (ตามแนวคิดของเท็ด เคนเนดี) เพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรม ก่ารที่เขาสนับสนุนการส่งกำลังไปอิรักเพราะเห็นว่าซัดดัมเป็นภัยคุกคาม แต่ที่สนับสนุนการแทรกแซงนี้ก็เพราะโอกาสทางการทูตไม่มีแล้ว และต่อมายอมรับว่าการแทรกแซงนี้ผิดพลาด เพราะหวังกับบุชสูงเกินไป

ดังนั้นไบเดนไม่ใช่คนทำอะไรบุ่มบ่าม หากจะต้องแทรกแซงเขาจะทำตามกรอบที่ควบคุมการใช้อำนาจไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง คำถามก็คือวันนี้ไบเดนมีอำนาจสูงสุดในฐานะผู้นำประเทศ เขาจะแทรกแซงชาติต่างๆ หรือไม่และจะแทรกแซงแบบไหน?

ในฐานะผู้ที่เชื่อมั่นในการแทรกแซงโดยรัฐ ไบเดนจะแทรกแซงอย่างแน่นอน ในแนวนโยบายของเขาไบเดนได้วางแนวทางเอาไว้ว่าการแทรกแซงจะเริ่มจากภายในประเทศก่อนเพื่อสร้างประเทศที่เข้มแข็งและมีเกียรติภูมิขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่โครงการสวัสดิการต่างๆ ถูกลดทอนลงไปในสมัยทรัมป์ และเขายังจะฟื้นฟูสังคมที่เป็นประชาธิปไตยในสหรัฐขึ้นมาในเว็บไซต์แคมเปญเลือกตั้งของเขากล่าวว่า "สหรัฐจะต้องเป็นผู้นำไม่ใช่แค่เพราะมีอำนาจ แต่เพราะพลังอำนาจของการที่เราทำเป็นตัวอย่าง"

สิ่งที่เขาจะทำคือ "ฟื้นฟูการปกครองของเราเองและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับพันธมิตรที่เป็นประชาธิปไตยที่ยืนเคียงข้างเรากับเรา" และไบเดนจะจัดและเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดระดับโลกเพื่อประชาธิปไตยเพื่อฟื้นฟูเจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายร่วมกันของประเทศโลกเสรี

การที่เคมเปญของไบเดนใช้คำว่าประเทศโลกเสรี (Free World) อีกครั้งทำให้นึกถึงยุคสงครามเย็นขึ้นมาตะหงิดๆ เพราะในสมัยสงครามเย็นคำว่าโลกเสรีถูกใช้เพื่อยกย่องสหรัฐและพันธมิตรเป็นดินศิวิไลซ์ตรงกันข้ามกับโลกหลังม่านเหล็กของประเทศคิมมิวนิสต์ที่อยู่กันอย่างไม่เสรีและถูกกดขี่โดยอำนาจเผด็จการ

การเอ่ยถึงโลกเสรีของไบเดนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าไบเดนตั้งใจที่จะฟอร์มพันธมิตรแห่งโลกเสรีขึ้นมาอีกครั้งโดยชูธงแห่งอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย เพื่อจัดการกับใครก็ตามที่ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย เพราะคนพวกนี้ไม่ได้ "เป็นประชาธิปไตยที่ยืนเคียงข้างเรากับเรา"

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไบเดนใช้คำว่า "โลกเสรี" ย้อนกลับไปในปี 2010 ตอนที่เขาเป็นรองประธานาธิบดีเขาเคยกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภายุโรปว่ากรุงบรัสเซลส์อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานสหภาพยุโรปและที่ทำการขององค์การนาโตสามารถอ้างได้ว่าเป็น "เมืองหลวงของโลกเสรี" ซึ่งตามปกติจะหมายถึงกรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐ

ดูเหมือนว่า "โลกเสรี" จะเป็นแนวคิดที่ไบเดนสนใจเป็นพิเศษและเขากำลังจะผลักดันมันขึ้นมาให้เป็นรูปธรรมอีกครั้งหลังสิ้นสุดสงครามเย็น

การประชุมสุดยอดของโลกเสรีจะมีวาระสำคัญ 3 เรื่องคือ 1. ต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น 2. ต่อต้านอำนาจนิยมรวมถึงความมั่นคงด้านการเลือกตั้ง และ 3. เสริมสร้างความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศของตนและในต่างประเทศ

หากจัดขึ้นมาจริงๆ การประชุมสุดยอดนี้จะเป็นหมายหลักของการเริ่มต้นยุคที่สหรัฐกลับมาเป็นตำรวจโลกและผู้ตรวจการประชาธิปไตยอีกครั้ง ประเทศไหนที่ทำขัดหูขัดตาสหรัฐก็จะถูกเล่นงานแน่นอน

ในส่วนของไทย อาจจะถูกเพ่งเล็งมากขึ้นในด้านสิทธิมนุษชนแรงงานซึ่งตามปกติจะถูกพิจารณาทบทวนโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเป็นระยะและไทยมักจะมีปัญหาเรื่องนี้อยู่เป็นระยะเช่นกัน จนส่งผลต่อการพิจารณาสิทธิพิเศษทางการค้ารวมถึงความช่วยเหลือจากสหรัฐ

ในยุคของไบเดนมาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐจะเรียกร้องจากไทยจะเข้มข้นขึ้น สหรัฐยังอาจเพ่งเล็ง "รัฐบาลประยุทธ์" มากขึ้นในเรื่องกระบวนการประชาธิปไตย และมีโอกาสไม่น้อยที่เขาจะสนับสนุนกลุ่มประชาสังคมหรือแม้แต่กลุ่มต่อต้านรัฐบาล เพราะในวาระการประชุมสุดยอดได้ระบุไว้ว่า "จะรวมเอาองค์กรประชาสังคมจากทั่วโลกที่ยืนอยู่บนแถวหน้าในการปกป้องประชาธิปไตยของเรา"

ในยุคของไบเดน เอ็นจีนโอในเมืองไทยอาจจะเบ่งบานอีกครั้ง องค์กรที่รับเงินสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมจากรัฐบาลสหรัฐจะมีปากเสียงที่ดังมากขึ้นในเมืองไทย

สหรัฐจะไม่ก่อสงครามเพิ่ม แนวทางของไบเดนคือยุติ "สงครามตลอดกาล" คือทำให้สหรัฐพ้นจากภาระการทำสงครามพัวพันเสียที

แต่สหรัฐในยุคของไบเดนจะใช้ประชาธิปไตยเป็นอาวุธที่ทรงพลัง การก่อสงครามของประธานาธิบดีคนก่อนๆ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและชีวิตอเมริกันชนโดยใช่แต่การใช้ประชาธิปไตยเป็นธงไม่เพียงแต่จะเรียกมิตรสหายให้กลับมาเชื่อมั่นในสหรัฐอีกครั้ง มันยังเป็นยุทธศาสตร์ที่ชอบธรรมกว่าด้วย

ไบเดนเคยบอกว่า "เป็นเรื่องเหมาะสมที่เราจะให้การสนับสนุนที่ไม่ใช่กำลังทหารสำหรับการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านที่แสวงหาสิทธิมนุษยชนสากลและการปกครองระบอบผู้แทนและมีความชอบธรรมมากขึ้น"

ดังนั้นกระบวนการสร้างโลกเสรีอาจไม่รุกอย่างก้าวร้าว เพราะไบเดนเป็นพวกนิยมการทูตในขณะที่เขามีจุดยืนแข็งกร้าวกับจีน แต่เขาคงจะเน้นการเจรจามากว่าประกาศมาตรการเผชิญหน้าแบบทรัมป์ การทูตยังเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นคืนความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่ถูกสหรัฐทอดทิ้งไปในสมัยของทรัมป์

ย้อนกลับไปที่เท็ด เคนเนดี คนที่ไบเดนถือเป็นอาจารย์ทางการเมือง เขาเป็นคนมีแนวคิดแบบ Perfect is the enemy of good หมายความว่าหากมีโอกาสเขาจะผลักดันกฎหมายให้ผ่านสภาไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ไขให้สมบูรณ์แบบตามกาลเวลา เพราะหากรอให้สมบูรณ์แบบไร้ที่ติโอกาสจะหลุดลอยไปเสียก่อน

ไบเดนก็อาจเป็นคนประเภทนี้ เขาจะผลักดันความเปลี่ยนแปลงเมื่อโอกาสมาถึงแล้วเขาจะคว้ามันไว้ จากนั้นจะค่อยๆ ปรับให้สมบูรณ์แบบในที่สุด เขาไม่ใช่คนประเภทจู่โจมแบบไม่ทันตั้งตัว แต่มีธงไว้แล้วในมือ รอไปปักไว้ในเวลาที่เหมาะสม จากนั้นค่อยๆ ปลุกป้ั้นมันขึ้นมาแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น

หากเป็นไปตามตรรกะนี้ แม้ว่าไบเดนจะเน้นการสร้างโลกเสรีขึ้นมาใหม่ แต่เขาจะต้องทำมันอย่างค่อยเป็นค่อยไปและถนอมน้ำใจประเทศที่จำเป็นในฐานะพันธมิตรแต่ก็มีปัญหาในเรื่องประชาธิปไตย (เช่น ตุรกีและซาอุดีอาระเบีย) และอาจรวมถึงไทยด้วย

แต่มันมีข้อยกเว้นเหมือนกัน

ไบเดนมีท่าทีต่อต้านการใช้กำลังทหารในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เขาเคยตำหนิความพยายามการก่อรัฐประหารในตุรกี แต่ขณะเดียวกันไบเดนและโอบามากลับไม่ยอมส่งตัวผู้พยายามทำรัฐประหารให้รัฐบาลตุรกี

เมื่อรัฐบาลตุรกีตำหนิสหรัฐว่าช่วยเหลือผู้พยายามก่อรัฐประหารและทำการกวาดล้างนักข่าว นักวิชาการ และนักการเมืองครั้งใหญ่จนเรียกได้ว่าเป็นการทำรัฐประหารซ้อนก็ว่าได้ ไบเดนก็กลับตำหนิผู้นำตรุกีเรื่องนี้ กลายเป็นจุดเริ่มความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานของทั้งสองประเทศ

ในกรณีของตุรกีนั้นเกิดคำถามขึ้นมาว่า "ไบเดนจะชิงชังการทำรัฐประหารมากกว่าการแสวงหาพันธมิตรหรือไม่? หรือหากเกิดการทำรัฐประหารในประเทศที่สหรัฐต้องการผูกมิตรด้วย ไบเดนจะเอาหูไปนาเอาตาไปไหร่หรือไม่"

ขอตอบในที่นี้เลยว่า ไบเดนเลือกที่จะต่อต้านการทำรัฐประหารแน่นอนเพราะเขามีธงจะฟื้นฟูโลกเสรีอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่ต่อต้านรัฐประหาร หากรัฐบาลใดมาจากการเลือกตั้งแต่ใช้อำนาจดั่งรัฐประหาร เขาก็ไม่เอาไว้เหมือนกัน เช่นกับตุรกีแม้ว่าจะมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ตะวันออกกลางและเป็นพันธมิตรนาโต แต่ไบเดนแสดงจุดยืนชัดเจนเอามากๆ เขาจะไม่ปราณีกับตุรกีและเขาสนับสนุนให้ฝ่ายค้านตุรกีโค่นล้มผู้นำตุรกีคนปัจจุบันให้ได้

เมื่อเดือนสิงหาคมมีการเผยคลิปวิดีโอซึ่งไบเดนพูดถึงการสนับสนุน “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในตุรกี “เพื่อให้สามารถต่อสู้และเอาชนะแอร์โดอันได้” ปรากฏว่าทั้งรัฐบาลตุรกีและฝ่ายค้านตุรกีโกรธเคืองอย่างมาก เพราะมันแสดงให้เห็นถึงเจตนาของไบเดนที่จะแทรกแซงประเทศอื่นโดยหวังว่าฝ่ายค้านของตุรกีจะเป็นมิตรกับสหรัฐหรืออย่างน้อยควบคุมได้ ไม่เหมือนประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอันที่เป็นตัวของตัวเองสูง

ดังนั้น หากประเทศไทยจะเกิดการรัฐประหารขึ้นมาหรือมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วดันไม่เป็นยอมเป็นพันธมิตรโลกเสรีกับสหรัฐ ก็เตรียมถูกตำรวจโลกที่ชื่อไบเดนหมายหัวไว้ได้เลย

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by ANGELA WEISS / AFP