posttoday

ไบเดนเป็นอันตรายต่อดุลอำนาจโลกมากกว่าทรัมป์

02 พฤศจิกายน 2563

ทรัมป์อาจเป็นคนที่เริ่มสงครามการค้า แต่เขายังไม่ใช่คนที่จะทำให้สงครามเย็นหรือสงครามที่รบกันจริงๆ เกิดขึ้น ...โจ ไบเดนอาจเป็นคนที่ทำให้เกิดขึ้นมา

เอาเข้าจริงนโยบาย "อเมริกามาก่อน" (America First) ของโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ได้เป็นภัยคุกคามแบบคอขาดบาดตายกับประเทศที่ถูกสหรัฐมองว่าเป็นศัตรู แต่มันเป็นอันตรายกับพันธมิตรของสหรัฐมากกว่า

ที่จริงแล้ว America First มีลักษณะของการโดดเดี่ยวตัวเองของสหรัฐอมเริกามากกว่าที่จะทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจนำหน้าใคร

ทรัมป์ไม่ใช่คนแรกที่ผลักดันนโยบายนี้ ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประธานาธิบดีวูดโรว วิลสันเคยใช้คำๆ นี้เพื่อย้ำจุดยืนว่าสหรัฐจะเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ยอมรบกับฝ่ายไหนทั้งสิ้น (ต่อมาสหรัฐต้องเข้าร่วมในที่สุดเพราะเยอรนีคุกคาม)

ต่อมาประธานาธิบดีวอร์เรน จี. ฮาร์ดิง ใช้คำขวัญ America First ในการหาเสียงซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้อเมริกาไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ใส่ใจกับตัวเอง พูดง่ายๆ ก็คือทำให้สหรัฐอเมริกาสนใจกับชาตินิยม ไม่ใช่นานาชาตินิยม และสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของอเมริกัน และการพึ่งตัวเองทางเศรษฐกิจ

ฮาร์ดิงบอกว่า "จะเรียกว่าเป็นความเห็นแก่ตัวของชาติใดชาติหนึ่งก็เรียกกันไป แต่ผมคิดว่ามันคือแรงบันดาลใจให้กับการอุทิศตนเพื่อความรักบ้านเมือง"

แนวคิดของฮาร์ดิงใกล้เคียงกับนโยบาย America First ของทรัมป์พอสมควร ในด้านการสนใจผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก ประจันหน้าคู่แข่งทางเศรษฐกิจแบบตรงๆ (สงครามการค้า) ไม่สนใจนานาชาตินิยมทางเศรษฐกิจ (ด้วยการถอนตัวจากข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ)

แต่เมื่อมองดูดีๆ เราจะเห็นว่า America First ของทรัมป์เหมือนกับแนวคิดของวิลสันกับฮาร์ดิงตรงที่พยายามพาสหรัฐปลีกตัวออกความขัดแย้งนานาชาติ หันมาสนใจกับความมั่งคั่งของตัวเอง ส่วนความมั่นคงของโลกนั่นช่างมัน เราจึงเห็นทรัมป์ถอนทหารจากที่โน่นที่นี่และยังไม่สนใจพันธมิตรนาโต้เอาเลย

เราอาจจะเห็นว่าทรัมป์มีท่าทีแข็งกร้าวกับจีน แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการค้า ส่วนการเมืองเป็นปฏิกิริยาตอบสนองกับท่าทีเชิงรุกของจีนเองในทะเลจีนใต้ พูดก็คือถ้าจีนไม่รุก สหรัฐก็ไม่ระราน

ดังนั้นเราจะติดกำดักของคำว่า America First ไม่ได้เพราะมันไม่ได้แปลว่าอเมริกาต้องเหนือกว่าใคร แต่มันหมายความว่าอเมริกาจะไม่ยุ่งกับใครต่างหาก

นี่คือความคิดที่ฝังลึกคนอเมริกันบางกลุ่มมานานนับร้อยปี สะท้อนผ่านหลักการของประเทศที่เรียกว่า "ลัทธิมอนโร" (Monroe Doctrine) ที่ย้ำว่าสหรัฐ (โลกใหม่) กับยุโรป (โลกเก่า) ต้องต่างคนต่างอยู่ และยุโรปจะไปทำอะไร หรือทะเลาะกันอย่างไรสหรัฐจะไม่ยุ่งด้วย ขณะเดียวกันยุโรปก็จะต้องรามือจากการกุมอาณานิคมต่างๆ ในทวีปอเมริกา (เพื่อที่สหรัฐจะมีอิทธิพลเหนือลาติอเมริกาแทน)

ลัทธิมอนโรหรือชาตินิยมอเมริกันมีอายุกว่าร้อยปีแล้วแต่ทุกวันนี้มันยังคงใช้กันอยู่ ประธานาธิบดียุคใหม่หลายคนได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้  และรวมถึงแนวคิด America First ของทรัมป์ด้วย

ตรงกันข้ามกับแนวคิดนานาชาตินิยมของพวกพรรคเดโมแครต และโดยเฉพาะโจ ไบเดน

โจ ไบเดนจะเปลี่ยนแนวทางแบบ 360 องศา จากการสนใจแต่ตัวเอง มาสนใจมิตรสหายในประชาคมโลกมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะเขาต้องชูความต่างจากทรัมป์ แต่เป็นเพราะไบเดนเป็นคนมีจุดยืนแบบนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นั่นคือจุดยืนนานาชาตินิยมและให้ความสำคัญกับพันธมิตรของสหรัฐ

ช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่ปรึกษาของไบเดนให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว Reuters ว่า ไบเดนจะไม่ทำผิดพลาดเหมือนทรัมป์ที่เล่นงานพวกเดียวกันเอง อย่างยุโรปและแคนาดาด้วยการขึ้นภาษีสินค้าของพันธมิตรเหล่านี้ การทำแบบนี้ทำให้สหรัฐอยู่โดดเดี่ยว และ "ทำให้จีนมีช่องในการหลบเลี่ยง"

จากคำพูดของกุนซือของไบเดนเราจะเห็นว่านโยบาย America First ของทรัมป์ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเล่นงานจีนโดยเฉพาะ แต่เล่นงานไปทั่วรวมถึงพันธมิตรด้วยกันเอง ทั้งหมดก็เพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐ

ที่ว่ากันว่าทรัมป์เริ่มสงครามเย็นครั้งใหม่ มีส่วนจริงแค่นิดเดียว เพราะทรัมป์เริ่มสงครามการค้าโดยไม่เปิดเกมส์รุกทางการเมืองกับจีนมากนัก แต่ไบเดนที่หันไปคบหาพันธมิตรเพื่อให้มาช่วย "จัดการกับจีน" จะทำให้สงครามเย็นครั้งใหม่เป็นรูปเป็นร่างจริงจังมากขึ้น

กุนซือของไบเดนแย้มว่าจะหารือกับพันธมิตรก่อนว่าจะจัดการกับจีนอย่างไร เขาบอกว่า "ทำการระบุประเด็นที่เราจะสามารถต่อรองกับจีนได้ร่วมกัน" แต่ก่อนอื่นไบเดนจะเริ่มต้นด้วยการเลิกเก็บภาษีพันธมิตรแล้วมาหารือร่วมกันเรื่องการค้า เพราะ "พวกเขาถูกทำให้แปลกแยก (จากเรา) พวกเขาถูกหยามโดยประธานาธิบดีทรัมป์ และนั่นทำให้เราจัดการจีนได้ไม่หนักพออย่างที่ควรจะเป็น"

คำกล่าวนี้บ่งชี้ว่าหากไบเดนชนะ การเล่นงานจีนจะไม่ใช่งานฉายเดี่ยวของสหรัฐอีก แต่เป็นการลากเพื่อนมารุมสกรัมจีนกันเลยทีเดียว แถมยังจะเป็นการเล่นงานจีนให้หนัก "อย่างที่ควรจะเป็น" อีกด้วย

หากยังเห็นภาพไม่ชัดว่าไบเดนน่าจะมีท่าทีอย่างไรกับสงครารมเย็นครั้งใหม่ เราสามารถเลียบๆ เคียงดูได้จากท่าทีของแคนดิเดตที่อาจเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไบเดน คือ มิเชล ฟลัวร์นอย (Michele Flournoy) ซึ่งมีท่าทีแข็งกร้าวมากกับจีนถึงกับเคยบอกว่าสหรัฐควารจะมีแสนยานุภาพมากพอที่จะ "จมเรือรบ เรือดำน้ำ เรือพาณิชย์ของจีนให้หมดไปจากทะเลจีนใต้ภายในเวลา 72 ชั่วโมง"

คำกล่าวนี้มาจากบทความที่ชื่อ "จะหยุดสงครามในเอเชียได้อย่างไร" (How to Prevent a War in Asia) ซึ่งฟลัวร์นอยเขียนให้นิตยสาร Foreign Affairs เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ ซึ่งชื่อของบทความค่อนข้างตรงกันข้ามกับความตั้งใจของฟลัวร์นอย

ฟลัวร์นอยคนนี้มีดีกรีแข็งแกร่งมากเพราะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมมาถึง 2 ประธานาธิบดีแล้ว คือสมัยคลินตันและโอบามา และแม้แต่ในสมัยที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เธอก็ยังแสดงความเห็นสายเหยี่ยวต่อการรุกรานอิรัก ทั้งๆ ที่อยู่คนละพรรคกับบุช

ฟลัวร์นอยเสนอให้โจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว (doctrine of preemption) ซึ่งบุชทำแบบเดียวกับที่ฟลัวร์นอยเสนอหลังจากนั้นเรียกว่าปฏิบัติการโจมตีก่อน (preemptive strike) อันเป็นการโจมตีที่อื้อฉาวอย่างมากเพราะถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม

เธอยังเขียนรายงานยุทธศาสตร์หลายฉบับ ล้วนแต่เน้นท่าทีเชิงรุก เช่นบอกว่า "พรรคเดโมแครตจะธำรงไว้ซึ่งแสนยานุภาพทางทหารที่ทรงอานุภาพและก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สุดในโลก และเราจะไม่ลังเลที่จะใช้มันปกป้องผลประโยชน์ของเราไม่ว่าจะที่ไหนในโลก" และเมื่อครั้งที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นทีมของฮิลลารี คลินตันเธอก็ยังเสนอให้ "ขยายอำนาจอเมริกัน"

แค่กรณีเหล่านี้ก็เพียงพอแล้วที่ทำให้คนที่คิดว่าฝ่ายเดโมแครตจะกระหายสงครามน้อยกว่าพรรครีพับลิกันต้องเปลี่ยนความคิดใหม่

คำถามก็คือหากไบเดนมีจุดยืนเป็นสายเหยี่ยวขนาดนี้แล้ว ทำไมประเทศที่มีเรื่องมีราวกับสหรัฐถึงเดิมพันกับไบเดน?

นั่นก็เพราะทรัมป์คาดเดายากเกินไป บุ่มบ่ามเกินไป และคิดนอกกรอบมากเกินไป

สำหรับศัตรูแล้วคู่ต่อสู้แบบนี้ต่อกรได้ยากที่สุดเพราะไม่รู้จะมาไม้ไหน สำหรับพันธมิตรด้วยแล้วยิ่งลำบากเพราะมิตรภาพก็ไม่เอา แต่ยังคาดคั้นเอากับมิตรสหาย ทำให้เป้าหมายปั่นป่วนไปหมด

ดังนั้นไบเดนที่ชอบแสวงหาพันธมิตรจึงเป็นที่ต้องการของเพื่อนเก่าของสหรัฐ และไบเดนที่ชอบเล่นตามกรอบแม้ว่าจะลงมือรุนแรง แต่ก็คาดเดาได้ว่าจะเล่นแบบไหนและอย่างน้อยก็ยังเล่นตามกติกาโลก คู่ต่อสู้แบบนี้ศัตรูรู้ว่าควรจะใช้ยุทธศาสตร์แบบไหน

แม้ว่ามันจะต้องแลกมาด้วยการเผชิญหน้าอย่างเต็มรูปแบบก็ตาม 

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by JIM WATSON / AFP