posttoday

เกราะป้องกันบ้านของเรามีช่องโหว่หรือไม่?

21 ธันวาคม 2563

แต่กำแพงบ้านของเราแกร่งพอหรือไม่ และภายในมีคนในชักใบให้เรือเสียหรือไม่ด้วยการทำพาหะโรคเข้ามา จนทำให้ไทยพบการระบาดใหม่ ขณะที่ภายนอกไทยก็พบสายพันธุ์ใหม่ในเวลาเดียวกัน

แม้ว่าจะถึงช่วงกลางเดือนธันวาคมแล้วพร้อมๆ กับข่าวดีเรื่องวัคซีนสูตรแล้วสูตรเล่า แต่โควิด-19 ก็ไม่มีทีท่าจะซาลงแถมยังเกิดระลอกใหม่กับสายพันธุ์ใหม่ที่จ่อคอหอยยุโรป

เศรษฐกิจยุโรปต้องฝันค้าง จากที่รอความหวังวันคริสต์มาสที่มีการจับจ่ายอย่างคับคั่งและโอกาสที่ผู้คนจะมาร่วมเฉลิมกัน ตอนนี้แทบเป็นไปได้แล้ว เพราะโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ต้องหวังกับวัคซีนมากขึ้นไปอีก เพราะเห็นแล้วว่าไม่มีวัคซีน ก็ไม่มีชีวิตปกติ แต่ธุรกิจบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดอย่างการท่องเที่ยว มีผู้ออกมาบอกว่าจะให้นักท่องเที่ยวให้ฉีดวัคซีนทุกคนก่อนเดินทางนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวพังแน่ๆ

น่าสงสัยว่าภาคธุรกิจมีข้อแม้เยอะเกินไปหรือไม่กับภาวะปกติใหม่ของชีวิตยุคหลังโควิด แต่ถ้ามองอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา การให้นักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนทำให้ธุรกิจมีต้นทุนมากขึ้นและบั่นทอนความอยากที่จะเดินทางของหลายๆ คน ฉีดหรือไม่ฉีดธุรกิจก็พังเอาง่ายๆ เหมือนกัน

มองมาที่สถานการณ์วิกฤตของไทยในช่วงกลางเดือนธันวาคม การติดเชื้อขนานใหญ่ที่มหาชัย ทำให้สังคมเกิดความหวาดระแวงขึ้นมาอีก หวาดระแวงทั้งแรงงานต่างด้าว หวาดระแวงอาหารทะเล หวาดระแวงว่ารัฐบาลอ่อนด้อยเกินไปไหม และหวาดระแวงว่ากองทัพพูดไม่จริงเรื่องชายแดนไม่มีปัญหา ฯลฯ

กรณีมหาชัยทำให้เราต้องต้องยอมรับความจริงกันอีกครั้งว่า ตราบใดที่ไม่มีวัคซีน ตราบนั้นเราจะต้องอยู่อย่างระแวงกันต่อไป ที่โฆษณากันเรื่อง "นิวนอร์มอล" หรือวิถีชีวิตปกติใหม่นั้นเป็นเพียงการปลอบใจให้เราอยู่แบบมีหวังกันไปเรื่อยๆ เท่านั้น

การอยู่อย่างหวาดระแวงไม่สามารถเรียกว่าป็นวิถีปกติ (ใหม่) ได้หรอก!

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้นอกจากป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด คือการรอความหวังเรื่องวัคซีน และทำอย่างไรก็ไดไม่ให้โควิด-19 จากนอกประเทศทะลักเข้าประเทศไทย

ยิ่งตอนนี้พบการกลายพันธุ์ในยุโรป เราจะมัวมาใจที่ชายแดนอย่างเดียวไม่ได้ด้วย ไม่แน่ว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินอาจจะต้องเข้มงวดกันอีกครั้ง

เบื้องต้นเรามาดูกันที่ชายแดนก่อนเพราะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าและในระยะยาวก็เป็นปัญหาเช่นกัน

ประเทศไทยมีความยากลำบากอย่างหนึ่งก็คือ แวดล้อมไปด้วยประเทศที่มีการพัฒนาด้านสาธารณสุขต่ำ โชคยังดีที่เพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกคือ ลาวและกัมพูชามีอัตราการติดเชื้อต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เราจึงไม่ต้องกังวลจุดนี้มากนัก

คล้ายๆ กับการที่เวียดนามสามารถควบคุมโควิดได้ดีจนได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ส่วนหนึ่งต้องพิจารณาด้วยว่าเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกของเวียดนามคือลาวและกัมพูชามีการติดเชื้อต่ำ ส่วนเพื่อนบ้านทางเหนือคือจีนก็ควบคุมพรมแดนเข้มงวด แถมในตอนนี้จีนยังมีสภาพเกือบจะปกติแล้ว (ไม่ใช่ปกติใหม่ แต่ปกติเหมือนเดิม)

เวียดนามจึงแทบไม่ต้องกังวลเชื้อโรคนำเข้าเลย!

ตรงกันข้ามกับไทยที่พรมแดนตะวันออกถึงจะปัญหาน้อยแต่ก็ต้องระวังอยู่ตลอดเหมือนกัน ชายแดนภาคใต้ก็ต้องระวังทั้งประเด็นเรื่องการเมืองและการลักลอบเข้าเมืองจากมาเลเซียที่การระบาดยังหนักอยู่ และชายแดนฝั่งตะวันตกที่ประชิดพม่าระยะทางยาวเหยียด นี่คือจุดเป็นจุดตายของไทยเลยทีเดียว

พรมแดนไทยเมียนมามีความยาว 2,401 กิโลเมตร ส่วนใหญ่ขวางกั้นด้วยภูเขาแต่มีช่องเขาที่เป็นจุดเข้าออกสำคัญหลายุด รวมถึงการเข้าออกทางทะเลทางจังหวัดระนอง

เสียงของประชาชนในโลกโซเชียลบอกว่า "มันจะต้องมีการลักพาแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศแน่ๆ" ความเห็นเหล่านี้ไม่มีมูล ไม่มีหลักฐาน แต่มันสะท้อนถึงความไม่ไว้ในเนื้อเชื่อรัฐบาลและกองทัพ

กองทัพตอบสนองด้วยการยืนยันว่าไม่มีการลักลอบเข้าเมืองตามชายแดน อย่างน้อยก็ไม่มีการข้ามจากจังหวัดเกาะสองของเมียนมามายังจังหวัดระนอง แน่นอนว่าคนในโซเชียลฯ ก็ยังไม่เชื่ออยู่ดี

อะไรที่ทำให้ประชาชนไม่เชื่อ?

มันมีหลายเหตุการณ์ที่ชวนไม่ให้เชื่อว่าการักษาพรมแดนทำได้สำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีประสิทธิภาพ หรือเจ้าหน้าที่หย่อนยาน แต่มันมีเหตุให้ทำได้ไม่เต็มร้อย

มาดูกันที่สถิติกันก่อน เมื่อปี 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ในขณะนั้น) กล่าวว่าปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคน โดยก่อนหน้านั้นคือปี 2560 มีการใช้นโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว มาตรการนี้ทำให้ภาคธุรกิจโอดครวญเพราะแรงงงานหนีกลับประเทศมากมายมหาศาล

ครั้นแล้วไทยและทั่วโลกก็เผชิญกับการระบาดใหญ่ แรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายอพยพออกจากไทยกันอีกรอบ เพราะตกงานและอยากจะกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเองก็มี การอพยพครั้งนี้ดูเหมือนจะสอดคล้องกับภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจ คือไม่มีงานเหลือให้ทำอีก

หลังจากนั้นทั่วโลกก็เข้าสู่โหมดล็อคดาวน์เต็มพิกัด

แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปในช่วงกลางปีนี้ มีเสียงเรียกร้องจากภาคธุรกิจให้ประเทศไทยเปิดพรมแดนรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจที่เริ่มจะยอบแยบแล้ว แม้แต่กระทรวงพาณิชย์เองก็รับลูกด้วยการเรียกร้องรัฐบาลกันเองด้วยให้เปิดพรมแดน

แต่ขณะเดียวกันสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจและทหารก็กวดขันพรมแดนหนักขึ้น แต่ก็มีรายงานการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอยู่เนืองๆ เพราะที่เมียนมาเองเมื่อกลับไปก็ไม่มีงานทำ และในไทยเองก็มีความต้องการแรงงานมากขึ้น

สถานการณ์มาเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อเมียนมาเกิดการระบาดหนักในเดือนกันยายนจนถึงขณะนี้ คนเมียนมาไม่รู้เท่าไรที่ต้องการหนีกลับเข้าไทยเพื่อหางานทำหรืออย่างน้อยมาอยู่ในประเทศที่มีบริการสาธารณสุขดีกว่า เรื่องนี้มีผู้เตือนมาตั้งแต่เดือนกันยายนว่ากำลังเกิดระลอกคลื่นผู้อพยพไหลกลับ ซึ่งทางการไทยก็ทราบดีจึงกวดขันมากขึ้น

แต่อย่างที่บอกไว้งว่ากวดขันอย่างไรก็ทำได้ไม่เต็มร้อย จนกระทั่งมาเกิดเรื่องขึ้นที่มหาชัยอันเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดของชาวเมียนมาในประเทศไทย ทุกนิ้วก็ชี้ไปที่แรงงานต่างด้าวหรือจะให้เจาะจงลงไปอีกคือแรงงานต่าวด้าวผิดกฎหมายที่อาจกบดานทำงานอยู่ที่นั่นแล้วพาโรคมาระบาด

ในวันที่เขียนบทความนี้ (21 ธันวาคม) เรายังยืนยันไม่ได้ว่าเป็นต่าวด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือว่าเป็นสาเหตุอื่นที่ทำให้มหาชัยถูกตีแตก

แต่มีข่าวหนึ่งที่กระตุกความสนใจคือสมาคมการประมงสมุทรสาครได้ประกาศมาตรการต่างๆ หลังมีรายงานการแพร่ระบาดที่สมุทรสาคร หนึ่งในมาตรการเหล่านั้นคือขอความร่วมมือเจ้าของเรือ-ผู้ควบคุมเรือ ดูแลคนงาน “ห้ามแรงงานประมงที่อยู่บนเรือขึ้นฝั่ง” ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

มองในแง่หนึ่งอาจช่วยป้องกันไม่ให้ลูกเรือติดเชื้อเมื่อขึ้นฝั่งซึ่งถือเป็นมาตรการที่รัดกุมดี

แต่เรื่องชาวตังเกทำให้นึกถึงปมปัญหาเรื่องหนึ่งที่อุตสาหกรรมประมงมีอยู่และเป็นปัญหาระดับนานาชาติด้วยคือการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

อุตสาหกรรมประมงของไทยเป็นแหล่งเงินแหล่งทองบ่อใหญ่ มีมูลค่าถึง 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี แน่นอนว่าในเมื่อการประมงเป็นแหล่งเงินแหล่งทอง เมืองมหาชัยก็ย่อมเป็นบ่อเงินบ่อทองของวงการประมงเช่นกัน

แต่รู้กันไปทั่วโลกว่าอุตสาหกรรมประมงของไทยมีทั้งชื่อเสียงและชื่อเสีย ชื่อเสียนี้ถึงกับทำให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐออกรายงานเรื่องค้ามนุษย์ทีไรก็รั้งให้ไทยอยู่ในประเทศที่ต้องจับตาเรื่องการค้ามนุษย์อยู่ร่ำไปและที่เลวร้ายก็คือเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปพัวพันด้วย

รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่าด้วยการค้ามนุษย์ในไทย (ปี 2562) บอกว่า "การทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้การค้ามนุษย์สะดวกมากขึ้น และยังคงบ่อนทำลายความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ องค์การนอกภาครัฐบางแห่งทราบถึงการทุจริตที่มีอยู่มากมาย จึงลังเลที่จะร่วมงานกับรัฐบาลหรือหน่วยงานบางหน่วยงานในบางคดี แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีกับไต้ก๋งบางรายในปีก่อนๆ แต่ผู้สังเกตการณ์ยังคงรายงานว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายบางรายลังเลที่จะสอบสวนไต้ก๋งที่เข้าใจว่ามีความเกี่ยวข้องกับนักการเมือง"

"ไต้ก๋ง" ก็คือหัวหน้าบนเรือประมง เราจะเห็นว่าไต้ก๋งไม่ถูกดำเนินคดีเพราะสายสัมพันธ์กับนักการเมืองใหญ่ อย่างน้อยถ้าเราเชื่อตามรายงานของรัฐบาลสหรัฐ

การทารุณลุกเรือตังเกตามที่รายงานระบุคือ "นักค้ามนุษย์บังคับให้ชายและเด็กชายชาวไทย พม่า กัมพูชา และอินโดนีเซียใช้แรงงานบนเรือจับปลาที่มีคนไทยและต่างชาติเป็นเจ้าของ บางคนได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยหรือได้รับไม่สม่ำเสมอ เป็นหนี้นายหน้าและนายจ้าง ทำงานมากถึง 18-20 ชั่วโมงต่อวันตลอดทั้งสัปดาห์ และไม่มีอาหาร น้ำ หรือยาที่เพียงพอ ไต้ก๋งบางคนข่มขู่ เฆี่ยนตี และผสมยาในอาหารให้กับชาวประมงเพื่อให้ทำงานได้หลายชั่วโมงมากขึ้น"

ดังนั้น อุตสาหกรรมประมงมีชะนักติดหลังเรื่องการค้ามนุษย์และทารุณกรรมหลังซื้อตัวลูกเรือมาแล้ว ถามว่าเขาค้ากันอย่างไร? แหล่งใหญ่ๆ คือการพามาจากชายแดนแล้วส่งตัวขึ้นเรือโดยที่หลายคนสิ้นอิสระตรงนั้นเอง

ต้องย้ำว่าไม่ใช่เรือประมงทุกลำที่มีปัญหานี้และเราอยากจะเชื่อว่ามันมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลและองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้องคงจะพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะแก้ปัญหาให้หมดสิ้นไป

แต่รัฐบาลสหรัฐไม่อยากจะเชื่อแบบนั้นจึงสรุปในตอนท้ายของรายงานว่า "เจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉลบางรายปกป้องสถานค้าประเวณี สถานบริการทางเพศอื่นๆ และเจ้าของเรือประมงจากการบุกตรวจค้นและการตรวจสอบ อีกทั้งยังสมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่รัฐบางรายได้รับประโยชน์จากสินบนและจากการมีส่วนพัวพันโดยตรงในการแสวงประโยชน์จากผู้อพยพ"

ไม่เฉพาะแต่รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แต่ยังมีรายงานของ Greenpeace (เมื่อปี 2016) รายงานของ Human Rights Watch (ปี 2018) เป็นต้น ซึ่งรายงานเรื่องการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงของไทย ซึ่งหากจะให้ลงรายละเอียด ณ ตรงนี้ก็คงจะยาวเกินไป

แต่จุดสำคัญก็คือ การนำเข้าแรงงาน เขานำเข้าจากทางไหน? รายงานของ Human Rights Watch ทำการสัมภาษณ์แรงงานประมงหลายคน เช่น ชาวเมียนมาชื่อ Saw Win ซึ่งเข้าไทยผ่านนายหน้าที่เกาะสอง พอมาถึงไทยแล้วแทนจะได้งานดีๆ กลับถูกยัดในกระบะรถบรรทุกที่ยัดเยียดไปด้วยแรงงานผิดกฎหมายแล้วถูกส่งไปยังอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง จากนั้น "ถูกขาย" ให้กับเรือประมงพร้อมกับแรงงงานคนอื่นๆ ต้องทำงานบนเรือโดยไม่ได้รับค่าจ้างถึง 3เดือน พอขึ้นฝั่งแทนที่จะเป็นอิสระ กลับถูกขังเอาไว้อีกแล้วขายเขาต่อไปที่สงขลา แล้วถูกขายไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งรวมแล้วเป็นเวลาถึง 2 ปีที่เขาอยู่งบนเรือตังเกไม่ได้เหยียบแผ่นดินเลย

นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงเท่านั้น

หลังจากที่รายงานเหล่านี้ออกมารัฐบาลไทย (โดยเฉพาะรัฐบาลปัจจุบัน) พยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจัง อย่างน้อยก็ช่วยให้ไทยพ้นจากการถูก "ใบเหลือง" จากสหภาพยุโรปและทำให้ไทยขึ้นมาจากเทียร์ 3 (แย่ที่สุด) มาอยู่เทียร์ 2 (ต้องจับตา) ของรัฐบาลสหรัฐ

ไม่ใช่ว่าเรางัดเรื่องเก่าขึ้นมาโจมตี แต่เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงปัญหา หากปัญหายังมีอยู่แล้วไม่ได้รับการแก้ไข มันจะไม่ใช่แค่ปัญหาสิทธิมุนษยชนอีกต่อไป มันอาจเป็นวิกฤตสาธารณสุขด้วยซ้ำไป

และที่เอ่ยถึงการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงมายืดยาวก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า การปกป้องพรมแดนอย่างเดียวไม่เพียงพอ ยังต้องปกป้องน่านน้ำด้วย ดีไม่ดีอุตสาหกรรมประมงอาจเป็นจุดอ่อนด้วยซ้ำ

อย่างที่ประชาชนตั้งคำถามเรื่องการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทางระนอง ซึ่งกองทัพเรือยืนยันว่าไม่มีการกระทำดังกล่าว และหากย้อนกลับไปตั้งแต่เดือนตุลาคมจะมีข่าวเป็นระยะว่ากองทัพเรือปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนบริเวณนั้นอย่างเข้มข้น

กองทัพพยายามรักษาน่านน้ำและชายแดนอย่างเต็มที่ แต่มันยังไม่พอเมือเดือนตุลาคม พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่าต้องจับตาและไปทำความเข้าใจขบวนการบางกลุ่มบางคนด้วยว่าอย่าได้นำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพราะเสี่ยงที่จะพาประเทศไปสู่วิกฤตโควิด

ย้ำว่าคำกล่าวของแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ได้บอกว่ามีการนำเข้าแรงงานต่างด้าว

แต่มีข้อสังเกตว่า "ดูเหมือน" จะบ่งชี้ว่าในขณะนั้น "อาจจะ" ยังมีขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานแถบตะเข็บชายแดนเมียนมาที่ชุมพรกับระนอง เมื่อเกิดกรณีระบาดที่มหาชัยแล้วมีข่าวว่ามีการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายที่ระนอง ทางกองทัพบอกว่าเป็น "ข่าวปลอม"

อีกข้อสังเกตหนึ่งมาจากนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่กล่าวว่าปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวในจังหวัดสมุทรสาครเกิดจากความหละหลวมของมาตรการรัฐบาล ซึ่งมองว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน ทางรัฐบาลต้องหยุดขบวนการลักลอบนำแรงงานเข้าประเทศผิดกฎหมาย เพราะจะสร้างความเสียหาย

ประธาน ส.อ.ท. บอกมาแบบนี้คงจะมั่นใจว่ามันมีการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย แต่ประธาน ส.อ.ท. ยืนยันว่าโรงงานที่อยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครกว่า 6,000 แห่ง ไม่มีการใช้แรงงานนอกระบบ

คำกล่าวนี้ชวนให้ขบคิดว่าในเมื่อโรงงานอุตสาหกรรมไม่มีแรงงานผิดกฎหมาย แล้วแรงงานผิดกฎหมายที่เข้ามาน่าจะไปทำงานที่ไหน?

นี่เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกต ไม่ใช่การกล่าวหา และเป็นการเสนอเพื่อให้ตรวจสอบต้นตอของวิกฤตการณ์ หากอุตสาหกรรมประมงไม่ใช่ต้นตอของการระบาด อย่างน้อยก็ยังสามารถเป็นการตรวจสอบการค้ามนุษย์ได้ด้วยว่ายังมีอยู่มากน้อยแค่ไหน

ถ้าไม่ทำแบบนี้ ผลเสียก็จะอยู่ที่อุตสาหกรรมประมงเอง เพราะต้นตอของการระบาดอยู่ที่ตลาดอาหารทะเลและผู้ติดเชื้อนอกพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวลาไล่เลี่ยกันเป็นคนที่มาที่ตลาดแห่งนั้น บางคนทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารทะเลด้วย สิ่งที่ตามมาคือความหวาดระแวงของผู้บริโภค

เรื่องนี้ยิ่งเป็นเรื่องเป็นเรื่องตายมากขึ้น เพราะขณะที่ในประเทศเราพบการระบาดครั้งใหม่ ภายนอกก็เกิดการระบาดของสายพันธุ์ใหม่จนหลายประเทศต้องปิดประเทศไม่ต้อนรับเที่ยวบินจากสหราชอาณาจักร ท่ามกลางความกังวลว่าวัคซีนจะใช้ได้กับสายพันธุ์ใหม่หรือไม่? และไทยควรจะปิดประเทศบางส่วนหรือไม่ตามรอยหลายๆ ประเทศในเวลานี้

ศึกในเราก็ต้องแก้ ศึกนอกก็ต้องเตรียมรับ กำแพงบ้านเราจะมีช่องโหว่ไม่ได้ และเกลือเป็นหนอนที่พาเชื้อเข้ามาก็ปล่อยไว้ไม่ได้เช่นกัน

Photo by Jack TAYLOR / AFP