posttoday

ประเทศไทยพร้อมไหมกับการไปดวงจันทร์?

16 ธันวาคม 2563

หลายประเทศตบเท้าลงสนามเทคโนโลยีอวกาศ ไทยพร้อมแล้วหรือยัง?

หลายประเทศกำลังลงแข่งขันกันในสนามเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงประเทศไทยซึ่งเพิ่งแง้มมาเมื่อไม่กี่วันก่อนว่ารัฐบาลกำลังเตรียมประกาศการผลิตยานอวกาศ โดยคาดว่าภายใน 7 ปีข้างหน้า ยานอวกาศไทยจะได้ไปโคจรรอบดวงจันทร์

ท่ามกลางความสงสัยถึงความพร้อมและความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว หลายคนจะมองว่านี่เป็นการพัฒนาที่น่ายินดี แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอีกหลายคนที่มองว่ายังมีปัญหาใกล้ตัวภายในประเทศอีกมากที่ต้องการการเยียวยาแก้ไขมากกว่าการไปดวงจันทร์

ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวสำเร็จไทยจะสามารถไปโลดแล่นรอบดวงจันทร์เป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย ถัดจากจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และอินเดีย

โดยอินเดีย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก โดยมีองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation-ISRO) ซึ่งทำงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลอินเดีย

โดยได้มียานอวกาศ "จันทรายาน-1" และ "จันทรายาน-2" เป็นยานอวกาศที่มีเป้าหมายขึ้นไปสำรวจบนดวงจันทร์ นอกจากนี้ภายในปี 2021 ยังได้มีเป้ามหายที่จะส่ง "จันทรายาน-3" ตามขึ้นไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อินเดียเป็นประเทศที่ไม่ได้มีงบประมาณมากเมื่อเทียบกับสหรัฐ, รัสเซีย หรือจีน และยังคงมีปัญหาภายในประเทศอีกหลายด้านที่รอการปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค, การคมนาคม, ความยากจน, สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ แต่รัฐบาลอินเดียก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะลงทุนในด้านเทคโนโลยีอวกาศ

แม้ว่าจะดูเหมือนเกินตัว แต่การลงทุนครั้งนี้ส่งผลให้อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจด้านอวกาศและยังคงได้รับผลตอบที่ดีจากประชาชนเมื่อได้เห็นความสำเร็จของอินเดียที่ได้ไปโลดแล่นบนอวกาศ

สำหรับญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองในด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยมีองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency-JAXA) ซึ่งทำการวิจัยพัฒนา และส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร โดยมีภารกิจที่เสร็จสิ้นแล้วกว่า 10 ภารกิจ รวมถึงการมีส่วนร่วมในภารกิจอื่นๆ อาทิ การสำรวจดาวเคราะห์น้อย และภารกิจการส่งมนุษย์ไปสู่ดวงจันทร์ เป็นต้น

โดยญี่ปุ่นได้มีภารกิจส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์เมื่อปี 2007 โดยยานอวกาศที่ชื่อว่า "เซลีนี" รวมระยะเวลาปฏิบัติภารกิจทั้งสิ้น 1 ปี 8 เดือน การส่งยานอวกาศครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการส่งยานอวกาศของโครงการสำรวจดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดรองจากโครงการอะพอลโล

อีกหนึ่งสิ่งที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญคือการให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมกับนานาชาติ เช่นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้ส่งนักบินอวกาศเข้าร่วมในภารกิจของ SpaceX เพื่อมุ่งสู่สถานีอวกาศนานาชาติเป็นครั้งแรก และยังมีแผนที่จะเข้าร่วมภารกิจกับนาซาและส่งนักบินอวกาศญี่ปุ่นขึ้นไปเหยียบบนดวงจันทร์อีกด้วย

อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีที่ทั่วโลกยอมรับ มีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอีกมาก ขณะเดียวกันการพัฒนาในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม, สิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชนก็สามารถทำได้ดี หรืออาจกล่าวได้ว่ามีการพัฒนาทั้งในโลกและนอกโลกไปพร้อมๆ กัน

ดังนั้น การที่โครงการของไทยจะถูกตั้งคำถามถึงความพร้อมและความเป็นไปได้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะยังมีเรื่องในประเทศที่ต้องจัดการอีกมาก แต่หากสามารถทำแล้วปังได้เหมือนกับอินเดียก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งต่อประเทศไทย