posttoday

พื้นฐานความรู้ของคนไทยแกร่งแค่ไหนเมื่อเทียบกับชาวโลก

14 ธันวาคม 2563

สำรวจระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านความรู้ของประเทศไทยโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประกาศผลดัชนีความรู้โลกประจำปี 2020

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีความรู้โลก (Global Knowledge Index-GKI) ประจำปี 2020 ซึ่งเป็นการจัดอันดับดัชนีความรู้จากทั้งหมด 138 ประเทศทั่วโลก โดยใช้ 199 ตัวชี้วัด

โดยในปีนี้มีค่าเฉลี่ยของดัชนีความรู้ทั่วโลกอยู่ที่ 46.7 โดยประเทศที่เป็นผู้นำด้านความรู้ของโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ (73.6), สหรัฐอเมริกา (71.1), ฟินแลนด์ (70.8), สวีเดน (70.6) และเนเธอร์แลนด์ (69.7) 

สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 53 ด้วยดัชนีความรู้ 48.3 ซึ่งทางผู้จัดทำชี้ว่าไทยมีผลงานที่แข็งแกร่งในแง่โครงสร้างพื้นฐานความรู้ ส่วนที่เป็นจุดแข็งของไทยคือ จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้โทรศัพท์มือถือ, อัตราการว่างงานต่ำของผู้ที่มีความรู้สูง และมีส่วนที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นคือการฝึกอบรมของภาคธุรกิจ และการส่งออกบริการที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ 

การจัดอันดับดังกล่าวจำแนกออกเป็น 7 ด้านโดยอิงกับระดับการศึกษาระดับต่างๆ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งไทยมีผลงานที่ค่อนข้างน่าพอใจโดยอยู่ในกลุ่มปานกลางค่อนข้างสูง

ความรู้ด้านการศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษา มีค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ 58.0 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 73 (59.3) 

ความรู้ด้านการศึกษาและการฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา มีค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ 50.8 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 101 (44.9)

ความรู้ด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ 40.3 ประเทศไทยอยู่ในอับดับที่ 84 (37.3) 

ความรู้ด้านการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรม มีค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ 26.0 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 48 (25.7) 

ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ 53.8 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 53 (59.6) 

ความรู้ด้านเศรษฐกิจ มีค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ 42.7 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 (53.8)

ความรู้ด้านสภาพแวดล้อมทั่วไป มีค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ 59.9 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 58 (61.8)