posttoday

เจาะลึกรัฐบาลไบเดน ใครคือแม่ทัพรุกต่างประเทศ

29 พฤศจิกายน 2563

บลินเคนมีท่าทีชัดเจนเรื่องกิจการของสหรัฐในตะวันออกกลาง

1. บุคคลแรกๆ ที่โจ ไบเดน เลือกมาดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐบาลของเขาคือ แอนโทนี บลินเคน (Antony Blinken) อายุ 58 ปี มีดีกรีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วารืดและทำงานกับรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน โดยเขาดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) ที่ทำเนียบขาวตั้งแต่ปี 1994 ถึง 2001

2. NSC เป็นเวทีหลักที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาใช้ในการพิจารณาเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ, การทหารและนโยบายต่างประเทศ โดยมีที่ปรึกษาอาวุโสด้านความมั่นคงแห่งชาติและเจ้าหน้าที่คณะรัฐมนตรีเข้าร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานบริหารของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

3. หลังจากในปี 2002 บลินเคนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการความสัมพันธ์ต่างประเทศของวุฒิสภาซึ่งดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2008 เขายังเป็นสมาชิกอาวุโสของศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศ บลินเคนใกล้ชิดกับไบเดนอยู่ไม่น้อยเพราะทำงานเพื่อหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของไบเดนกับโอบามาในปี ในปี 2008 และเป็นสมาชิกของทีมเปลี่ยนผ่านอำนาจหลังจากโอบามา-ไบเดนชนะ

4. ตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2013 เขาดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยประธานาธิบดีและที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของรองประธานาธิบดี ระหว่างอยู่ในตำแหน่งนี้เขายังช่วยกำหนดนโยบายของสหรัฐเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน ปากีสถานและโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และเขายังเป็นตัวจักรสำคัญของรัฐบาลโอบามาในการร่างนโยบายต่อซีเรีย จนเรียกได้ว่าเห็นหน้าเป็นตาของรัฐบาลเรื่องนี้

5. บลินเคนมีท่าทีชัดเจนเรื่องกิจการของสหรัฐในตะวันออกกลาง ถึงแม้จะอยู่กับนักการเมืองพรรคเดโมแครตเขาก็สนับสนุนการรุกรานอิรักของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (ซึ่งไบเดนก็สนับสนุนด้วย ดูบทความเรื่อง "ไบเดนเป็นใหญ่โลกเสรีเบ่งบาน รัฐประหารจะตัน") ตอนที่โอบามาตัดสินใจที่จะสังหารอุซามะห์ บินลาเดน เมื่อปี 2011 บลินเคนกล่าวว่า "ผมไม่เคยเห็นการตัดสินใจของผู้นำที่กล้าหาญมากกว่านี้อีกแล้ว"

6. ดังนั้นเราอาจคาดการณ์ได้ว่า แอนโทนี บลินเคนจะมีท่าทีเชิงรุกมากขึ้นในเรื่องตะวันออกกลางหลังจากที่สหรัฐสมัยทรัมป์รามือในเรื่องนี้ไป การกลับมาของบลินเคนมาสู่เวทีระหว่างประเทศด้วยอำนาจที่สูงสุดในกระทรวง คงจะทำให้เขาจับเรื่องซีเรียจริงจังมากขึ้น เขาเป็นคนสนับสนุนให้รัฐบาลช่วยเหลือาวุธแก่กบฎในซีเรีย

7. การแทรกแซงซีเรียจะทำให้บลินเคน (และรัฐบาลไบเดน) เผชิญหน้ากับรัสเซียอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง เพราะรัสเซียสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย บลินเคนยังเป็นผู้ช่วยกำหนดแนวทางของรัฐบาลสหรัฐในการต่อต้านการกลืนคาบสมุทรไครเมียของรัสเซีย และย้ำถึงความสำคัญที่จะต้องคว่ำบาตรพลพรรคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินในวงกว้าง

8. ดังนั้น เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ว่าปูตินไม่พอใจพลพรรคของไบเดนมากแค่ไหน เขาจึงบอกยังไม่อาจยอมรับชัยชนะของไบเดนได้อย่างสนิทใจ แต่บลินเคนยังอาจเป็นเสี้ยนหนามต่อรัสเซียหนักกว่านี้ เพราะเขาต่อต้านการทำรัฐประหารในตุรกีเมื่อปี 2016 ซึ่งมำให้ตุรกีแทบจะตัดเพื่อนกับสหรัฐเพราะรัฐบาลทรัมป์ไม่ยอมส่งตัวเบื้องหลังผู้ก่อรัฐประหารให้ ทำให้ตุรกีเริ่มหันไปซบอกรัสเซียมากขึ้นและแข็งกร้าวกับสหรัฐ

9. มีโอกาสสูงที่บลินเคนจะเยียวยาความบาดหมางกับตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรนาโต-สหรัฐที่สำคัญมากในการวางหมากอำนาจในตะวันออกกลางและการเข้าไปแทรกแซงซีเรีย การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ (ถ้าเกิดขึ้นจริง) ก็จะสอดคล้องกับนโยบายของไบเดนที่จะกลับมาฟื้นคืนความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่ถูกทรัมป์ทำให้ห่างเหินไป บลินเคนเคยบอกเองว่าสหรัฐต้อง "หาหนทางที่จะทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ" กับตุรกี

10. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2020 หลังจากได้รับการประกาศให้เป็นตัวเลือกรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลไบเดน บลินเคนก็กล่าวว่า "เราไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดของโลกเพียงลำพังได้" และ "เราต้องทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ" ท่าทีนี้สอดคล้องกับแนวนโยบายของไบเดนอย่างมาก

11. ในส่วนท่าทีต่อจีนบลินเคนมีจุดยืนเหมือนกับไบเดนนั่นคือจะแข็งกร้าวกับจีนมากขึ้น ขณะที่ชาวโลกเข้าใจว่าทรัมป์แข็งกร้าวกับจีนจนทำให้เกิดสงครามกาาค้าและสงครามเย็นใหม่ แต่บลินเคนกลับบอก (เหมือนไบเดน) ว่ารัฐบาลทรัมป์ช่วยจีนโดย "ทำให้พันธมิตรอเมริกันอ่อนแอลง เกิดทำให้สูญญากาศในโลกที่เปิดทางให้จีนเข้ามาเติมเต็ม ละทิ้งค่านิยมของเรา และให้ไฟเขียวแก่จีนในการเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยจากซินเจียงถึงฮ่องกง"

Photo by STEPHANE DE SAKUTIN / AFP