posttoday

สื่อ-นักวิชาการนอกจี้ไทยให้เสรีภาพชาวมุสลิม "ปตานี"

22 กันยายน 2563

ชาวมุสลิมภาคใต้เรียกร้องรัฐบาลแสดงพฤติกรรมที่เป็นประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว Anadolu รายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาโดยตั้งข้อสังเกตเรื่องการพบปะหารือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับคณะผู้แทนกลุ่มมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทยเพื่อรับฟังความต้องการของพวกเขาท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

Anadolu ซึ่งเป็นสำนักข่าวสำหรับชาวมุสลิมที่มีสำนักงานในตุรกีรายงานว่า ตัวแทนชาวปัตตานี หรือที่สื่อรายนี้เรียกว่า "มุสลิมปตานี" ขอให้รัฐบาลประกาศให้วันศุกร์ ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาของชาวมุสลิม เป็นวันหยุดราชการ และประกาศให้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการของจังหวัดปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสงขลาตอนใต้ เนื่องจากสี่จังหวัดนี้มีชุมชนมุสลิม ชาวมลายูปตานีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีประชากร 1.4 ล้านคนตามข้อมูลของรัฐบาล

พวกเขายังเสนอให้มีการร่างกฎหมายเป็นแนวทางการปฏิบัติของศาสนาอิสลามสำหรับจังหวัดเหล่านี้ โดยเสนอตั้งคณะกรรมการร่วมรองรับพื้นที่พิเศษ พ.ร.บ.กระจายอำนาจ พ.ร.บ.การปกครองรูปแบบพิเศษ

Teuku Zulkhairi ผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาวอินโดนีเซีย จากมหาวิทยาลัยอิสลาม Ar-Raniry State กล่าวกับ Anadolu ชนกลุ่มน้อยในภาคใต้ของไทย คือชาวปตานีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนเชื้อสายมุสลิมมลายูที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและแข็งแกร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Zulkhairi กล่าวว่าชาวปตานีไม่ใช่ชุมชนใหม่ในจังหวัดทางภาคใต้ของไทย และตั้งข้อสังเกตว่าศาสนาอิสลามเข้ามาในภูมิภาคนี้ในศตวรรษที่ 15 ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งอาณาจักรปตานีดารุสซาลาม หรือ Patani Darussalam Kingdom 

ผู้เชี่ยวชาญชาวอินโดนีเซียชี้ว่าอาณาจักรปตานีดารุสซาลามถูกยึดครองโดยราชอาณาจักรสยามหรือประเทศไทยในปัจจบุันเมื่อ พ.ศ. 2328 โดยสยามเข้าครอบครองดินแดนทั้งหมดของปตานีและแบ่งออกเป็นเจ็ดเมือง

Zulkhairi อ้างว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของไทยได้ละเมิดสนธิสัญญาสันติภาพกับจังหวัดต่างๆ ในปี พ.ศ. 2444 และส่งทหารเข้ามายึดดินแดน ความขัดแย้งสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2452 เมื่อสยามทำสนธิสัญญากับอังกฤษ คือสนธิสัญญาแองโกล-สยาม ซึ่งปูทางให้ประเทศสยามผนวกพื้นที่ของปตานีเป็นดินแดนของประเทศ และส่งผลให้ดินแดนมลายูถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือของมาเลเซียและปตานีตกอยู่ใต้อธิปไตยของสยามอย่างสมบูรณ์ (หมายเหตุ - นี่คือมุมมองของนักวิชาการต่างขาติ อาจไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ไทย)  

Zulkhairi ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญในการให้สิทธิเสรีภาพกับชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อยในการปฏิบัติศาสนกิจและการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาของพวกเขา

นอกจากนี้เขายังเรียกร้องให้ประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซียจี้ให้ไทยปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยมุสลิมปาตานี

เขากล่าวว่าหากชาวมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทยสามารถอยู่อย่างสันติ มีเสรีภาพ และความยุติธรรม สิ่งนี้จะมีอิทธิพลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานานาชาติ

Mustopha Mansor นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจากสมาคมประชาสังคมมาเลเซีย ซึ่งมักให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในภาคใต้ของประเทศไทยมีมุมมองที่คล้ายกันเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยมุสลิม

เขากล่าวว่าข้อเรียกร้องจากคณะผู้แทนมุสลิมปตานีเป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ชนกลุ่มน้อยมุสลิมปตานีมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นเลือกศาสนาและความเชื่อของพวกเขา โดยเป็นอิสระจากความกลัว

ส่วน Marwan Ahmad ชาวมุสลิมในจังหวัดปัตตานีบอกว่า ชาวปตานีจำนวนมากไม่ไว้วางใจทีมเจรจาสันติภาพของคณะผู้แทนไทยเนื่องจากขณะนี้เกิดการประท้วงในกรุงเทพมหานครเพื่อต่อต้านการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาล และรัฐบาลต้องสร้างความไว้วางใจและแสดงพฤติกรรมที่เป็นประชาธิปไตย