posttoday

ทำไมประชาธิปไตยถึงกลายร่างเป็นเผด็จการในท้ายที่สุด

17 พฤศจิกายน 2562

บทวิเคราะห์โดย Lawrence Torcello ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิชาปรัชญา แห่งสถาบัน Rochester Institute of Technology

บทวิเคราะห์โดย Lawrence Torcello ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิชาปรัชญา แห่งสถาบัน Rochester Institute of Technology

เพลโตหนึ่งในนักคิดและนักเขียนคนแรกเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยคาดการณ์ว่าการให้ประชาชนปกครองตนเองจะนำพามวลชนมาสนับสนุนการปกครองของเผด็จการ

เมื่อผมบอกนักศึกษาวิชาปรัชญาระดับวิทยาลัยของผมว่า เมื่อประมาณ 380 ปีก่อนคริสตกาล เพลโตเคยตั้งถามว่า “ไม่ใช่ว่าทรราชเกิดจากระบอบประชาธิปไตยหรอกหรือ?” บางครั้งพวกนักศึกษาต่างก็รู้สึกแปลกใจเพราะคิดว่ามันเป็นโยงที่น่าตกใจ

แต่เมื่อมองดูการเมืองยุคใหม่ของโลก สำหรับผมแล้วดูเหมือนเรื่องนี้จะไม่ห่างไกลกันเลย ในประเทศประชาธิปไตย เช่น ตุรกี สหราชอาณาจักร ฮังการี บราซิล และสหรัฐอเมริกา มีกลุ่มนักปลุกระดมต่อต้านชนชั้นนำกำลังชักนำประชานิยม โดยมีแรงขับเคลื่อนจากความรู้สึกหยิ่งผยองของชาตินิยม นี่เป็นสัญญาณว่าเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยกำลังอ่อนแอลง

สำหรับนักปรัชญาแล้ว คำว่า "เสรีนิยม" ไม่ได้เหมือนกับระบอบการเมืองของสหรัฐเลย เสรีนิยมในฐานะปรัชญาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงเสรีภาพในการคิด ศาสนา และการดำเนินชีวิตต่อต้านความคิดเห็นแบบเหมารวม และการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด


เกิดอะไรผิดปกติขึ้นในเอเธนส์?

ในนครรัฐเอเธนส์ยุคโบราณ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของระบอบประชาธิปไตยนั้น การชุมนุมของประชาธิปไตยเป็นเวทีที่ใช้วาทศิลป์อย่างไม่มีข้อจำกัด โดยไม่ยึดกับข้อเท็จจริงหรือความสัตย์จริง ได้รู้เพียงแค่นี้ก็รู้สึกคุ้นๆ แล้ว

ในเวลานั้นอริสโตเติลและศิษย์ของเขายังไม่ได้วางรากฐานแนวและหลักการของตรรกะอย่างเป็นทางการ ดังนั้นผู้ที่กระหายอำนาจจึงเรียนวิชาจากนักปราชญ์สำนักโซฟิสต์ซึ่งเป็นนักวาทศิลป์ เน้นการควบคุมอารมณ์ของผู้ฟัง มากกว่าที่จะกระตุ้นให้ผู้ฟังเกิดความคิดเชิงตรรกะ

นี่เองที่เป็นกับดัก เพราะอำนาจจะตกอยู่ในมือใครก็ได้ที่สามารถควบคุมเจตจำนงของประชาชนโดยตรง โดยการกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ร่วม แทนที่จะใช้หลักฐานและข้อเท็จจริงเพื่อเปลี่ยนความคิดของพวกเขา


จัดการคนด้วยความกลัว

ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์สงครามเพโลพอนนีเซียน” (History of the Peloponnesian War) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกชื่อ ธูซีไดดิส (Thucydides) ได้ยกตัวอย่างกรณีของ เพลิคลิส (Pericles) รัฐบุรุษชาวเอเธนส์ที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยและไม่ถือว่าเป็นเผด็จการ แต่ก็ยังสามารถบงการพลเมืองของเอเธนส์ได้

“เมื่อใดก็ตามที่เพลิคลิสรู้สึกว่าชาวเอเธนส์กลายเป็นเย่อหยิ่งและมีความมั่นใจมากเกินกว่าที่สถานการณ์ในเวลานั้นจะทำให้มั่นใจได้ เขาก็จะพูดอะไรบางอย่างที่ทำให้ชาวเอเธนส์เกิดความรู้สึกกลัว และในทางกลับกันเมื่อเขาเห็นชาวเอเธนส์เกิดกลัวโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เขาก็ฟื้นความมั่นใจอีกครั้ง ดังนั้นเมื่อพูดถึงสิ่งเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยแล้ว ในทางปฏิบัติมันก็คือการปกครองของผู้นำเด่นๆ คนเดียวนั่นเอง”

คำพูดที่ชักนำให้เข้าใจผิดเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเผด็จ เพราะเผด็จการต้องการการสนับสนุนจากประชาชน การบงการความคิดของนักปลุกระดมต่อชาวเอเธนส์ได้ทิ้งมรดกเอาไว้ นั่นการปกคงที่ไม่มีเสถียรภาพ การนองเลือด และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดังที่มีบันทึกเอาไว้ไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของธูซีไดดิส

บันทึกนั้นเป็นเหตุให้โสกราตีส ได้ตราหน้าระบอบประชาธิปไตยชาวเอเธนส์ว่าเป็นการยกย่องความเห็นของพวกม็อบโดยทำลายความสัตย์จริง ก่อนที่โสกราตีสจะถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการลงคะแนนเสียงตามระบอบประชาธิปไตย (ฐานปลุกระดมคนหนุ่มสาวให้ต่อต้านระบบ - ผู้แปล)

การที่ประวัติศาสตร์อันยาวนานของกรีซเต็มไปด้วยการนองเลือด ก็เป็นสาเหตุให้เพลโตเชื่อมโยงประชาธิปไตยกับการปกครองแบบเผด็จการดังที่ระบุในบทที่ 8 ของหนังสือ “สาธารณรัฐ” (The Republic) นั่นคือ การโคจรมาพบกันของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีอะไรควบคุมกับสัญชาติญาติที่เลวร้ายที่สุดของมหาชนคนส่วนใหญ่

แปลจาก Why tyranny could be the inevitable outcome of democracy โดย Lawrence Torcello Associate Professor of Philosophy, Rochester Institute of Technology ใน The Conversation

(บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ตามหลักการ Creative Commons licence)

Photo by ANGELOS TZORTZINIS / AFP