posttoday

ความไม่ไว้ใจจีนกับอนาคตที่มืดมนของหลักการหนึ่งประเทศ สองระบบ

11 กันยายน 2562

สมมติว่าไต้หวันคล้อยตามข้อเสนอของสีจิ้นผิง ที่จะเป็นเขตปกครองพิเศษเหมือนฮ่องกง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงจะทำให้คนไต้หวันเปลี่ยนใจอยู่ดี


บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับนักการทูตรายหนึ่ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความวุ่นวายที่ฮ่องกงกำลังทำให้คนไต้หวันไม่มั่นใจกับการรวมชาติกับจีนแผ่นดินใหญ่ และทำให้กระแสสนับสนุนเอกราชของไต้หวันมีน้ำหนักมากขึ้น

ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตกลับไปว่า แนวโน้มที่เกิดขึ้นไม่เป็นผลดีต่อพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ที่มีท่าทีเป็นมิตรกับแผ่นดินใหญ่และค่อนข้างที่จะหวังให้ไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่รวมเป็นประเทศเดียวกัน ในการเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า มีโอกาสที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) จะได้รับชัยชนะ

การสนทนานี้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในฮ่องกงและไต้หวัน นั่นคือความรู้สึกไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งกับจีนแผ่นดินใหญ่ หรืออย่างน้อยกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ และไม่ใช่แค่ผู้เขียนกับนักการทูตท่านนี้เท่านั้นที่เห็นตรงกัน สำนักข่าวต่างประเทศ เช่น Bloomberg ก็มีบทวิเคราะห์ในทำนองนี้ โดยชี้ว่า ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินของไต้หวันจากพรรค DPP กำลังมีคะแนนนิยมดีขึ้นมาก ทั้งๆ ที่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 คะแนนนิยมของไช่อิงเหวินดิ่งลงเหลือแค่ 15% หลังจากพรรค DPP พ่ายการเลือกตั้งท้องถิ่นให้กับพรรค KMT

ในช่วงปลายปี 2018 ถึงต้นปี 2019 มติมหาชนในไต้หวันสวิงกลับไปทางพรรคสายนิยมจีนแผ่นดินใหญ่ แต่พอเกิดความวุ่นวายในฮ่องกง มติมหาชนดีดกลับไปที่พรรคสายต่อต้านแผ่นดินใกฆญ่อีกครั้ง และทำให้ไช่อิงเหวินรอดตายหวุดหวิด ทั้งยังอาจเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ได้ด้วยซ้ำ จากเดิมที่เกือบจะหมดอนาคตอยู่แล้ว

สำนักข่าว Bloomberg ได้สัมภาษณ์ความเห็นของคนไต้หวันรายหนึ่งชื่อเจียง ซึ่งแต่ก่อนเธอโหวตให้พรรค KMT เกือบทุกครั้ง และต้องการให้รักษาความสัมพันธ์อันดีกับแผ่นดินใหญ่เอาไว้ เนื่องจากพ่อของเธอทำงานที่แผ่นดินใหญ่ และพี่สะใภ้มาจากมณฑลเจ้อเจียง แต่ทัศนะของเจียงเปลี่ยนไป หลังจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมที่ฮ่องกงด้วยกำลัง ทำให้เธอเห็นว่าจีนพร้อมที่ละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศ

เธอบอกกับ Bloomberg ว่า "ฉันไม่เชื่ออะไรเกี่ยวกับหนึ่งประเทศสองระบบจากปากพวกนั้นอีกแล้ว"

การละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศที่ชาวไต้หวันรายนี้เอ่ยถึง ไม่ใช่แค่ข้อตกลงระหว่างจีนกับอังกฤษเกี่ยวกับสถานะของฮ่องกง (Sino-British Joint Declaration 1984) เท่านั้น แต่รวมถึงข้อตกลงที่เรียกว่า ฉันทามติปี 1992 (1992 Consensus)

ฉันทามติปี 1992 เป็นผลจากการประชุมระหว่าง KMT กับตัวแทนอย่างไม่เป็นทางการของรัฐบาลจีน โดยฝ่าย KMT อ้างว่า ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะยอมรับหลักการ "จีนเดียว" ทั้งแผ่นดินใหญ่และไต้หวันถือเป็นจีนประเทศเดียวกัน แต่ตกลงกันว่าจะตีความสถานะความเป็นจีนกันเอง

ปักกิ่งตีความว่า จีนเดียวที่ว่านี้หมายถึงรัฐบาลสาธารณรฐประชาชนจีน โดยที่ไต้หวันเป็นแค่เขตปกครองพิเศษ ลักษณะเดียวกันฮ่องกง หรือมาเก๊า

ไทเปตีความว่า จีนเดียวคือสาธารณรัฐจีน ที่ตอนนี้บริหารที่ไต้หวันแต่มีอธิปไตยเหนือแผ่นดินใหญ่ เพียงแต่ตอนนี้มีอำนาจบริหารไปถึงแค่เกาะจินเหมิน

แม้จะตีความต่างกันแต่หัวใจของข้อตกลงนี้ก็คือการรักษาสถานะเดิม (Status quo) เอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากัน แม้ว่าพรรค DPP ในไต้หวันจะไม่ยอมรับแนวคิดก็ตาม

ในระหว่างการสนทนากับนักการทูตท่านนั้น ผู้เขียนได้รับการบอกกล่าวว่า ประธานาธิบดี สีจิ้นผิงไม่ยอมรับข้อตกลงปี 1992 แล้ว โดยท่าทีของสีจิ้นผิงก็คือ จะยอมรับไต้หวันในสถานะเดียวกับฮ่องกงเท่านั้น ซึ่งไช่อิงเหวินไม่ยอมรับ โดยกล่าวว่าจีนพยายามดึงไต้หวันให้เข้ามาอยู่ในหลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ซึ่งนอกจากไช่อิเหวินจะไม่รับหลักการนี้แล้ว ยังไม่ยอมรับข้อตกลงปี 1992 ด้วย

สมมติว่าไต้หวันคล้อยตามข้อเสนอของสีจิ้นผิง ที่จะเป็นเขตปกครองพิเศษเหมือนฮ่องกง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับฮ่องกงจะทำให้คนไต้หวันเปลี่ยนใจอยู่ดี

ยังไม่นับสื่อต่างประเทศบางแห่งที่ถึงกับคาดเดาว่า ดีไม่ดีจีนอาจจะละเมิดข้อตกลงกับอังกฤษเรื่องสถานะของฮ่องกงด้วยซ้ำ เพราะข้อตกลงนี้ไม่มีพันธะผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ 

ด้วยแนวโน้มต่อต้านจีน พรรคที่สนับสนุนแนวทางปรองดองอย่าง KMT จะต้องหาทางออกโดยด่วน เพราะหากยังยึดกับหลักจีนเดียวและหลักรักษาสถานะเดิม โอกาสที่จะกลับมากกุมอำนาจจะยิ่งน้อยลง และพรรคสายเรียกร้องเอกราช คือ DPP ก็จะยิ่งได้รับความไว้วางใจ ไม่ว่าจะบริหารประเทศได้แย่แค่ไหนก็ตาม

ปัญหาก็คือ ดูเหมือนว่า KMT ยังจนแต้มไม่รู้จะเปลี่ยนท่าทีอย่างไร เพราะแม้แต่สมาชิกระดับนำที่ป็อปปูลาร์ที่สุดอย่าง หานกั๋วอวี่ นายกเทศมนตรีเมืองเกาสง ที่ถูกถามเรื่องฮ่องกง แต่บอกว่าไม่รู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น

*ภาพประกอบ คือ เอ็ดดี้ ชู (ซ้าย) นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยฮ่องกง โจชัว หว่อง (กลาง) และ หลัวเหวินเจีย เลขาธิการพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าแห่งไต้หวัน (DPP) เข้าร่วมการแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ DPP ในไทเป เมื่อเดือนกันยายน 3, 2019. ภาพถ่ายโดย Sam YEH / AFP)