posttoday

ญี่ปุ่นล้ำ! ใช้เอไอช่วยร่างนโยบายท้องถิ่นรับสังคมสูงวัย

01 สิงหาคม 2562

ด้วยความที่ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรลดลง ฐานภาษีของประเทศหดหาย ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นเผชิญกับความยุ่งยากในการกำหนดนโยบายด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นประโยชน์กับประชากรกลุ่มใหญ่ในอนาคต เนื่องจากต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากและต้องมีหลักฐานรองรับ ด้วยเกรงว่าการวางนโยบายผิดพลาดจะนำมาสู่หายนะทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น

ด้วยความที่ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรลดลง ฐานภาษีของประเทศหดหาย ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นเผชิญกับความยุ่งยากในการกำหนดนโยบายด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นประโยชน์กับประชากรกลุ่มใหญ่ในอนาคต เนื่องจากต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากและต้องมีหลักฐานรองรับ ด้วยเกรงว่าการวางนโยบายผิดพลาดจะนำมาสู่หายนะทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทางการ จ.นะงะโนะ ประกาศว่าในอนาคตจังหวัดจะใช้คอมพิวเตอร์สร้างโมเดลและร่างเค้าโครงนโยบายท้องถิ่น หลังร่วมกับศูนย์วิจัยโคโคโรแห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต บริษัท ฮิตาชิ และบริษัทวิจัยและที่ปรึกษา มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ของญี่ปุ่นสร้างโมเดลดังกล่าวโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้ได้นโยบายที่ดีที่สุดสำหรับสังคมที่ยั่งยืน และแสวงหาประโยชน์จากโอกาสที่ผ่านเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวท้องถิ่น เพราะ จ.นะงะโนะกำลังจะเปิดใช้สถานีรถไฟชินคันเซ็นในปี 2027

ขั้นตอนการสร้างโมเดลจะเริ่มจากการรวบรวมข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในปัจจุบัน แผนเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของประชากร เพื่อป้อนให้กับปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างเค้าโครงร่างนโยบายที่มีโอกาสเป็นไปได้ จากนั้นจึงวิเคราะห์เลือกนโยบายที่เป็นไปได้

จ.นะงะโนะถือเป็นจังหวัดแรกของญี่ปุ่นที่นำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวางแผนนโยบายระยะยาว ทว่าจังหวัดอื่นๆ ก็เริ่มตื่นตัวประกาศว่าจะเดินตาม จ.นะงะโนะเช่นกัน อาทิ เมืองมะนิวะใน จ.โอคะยะมะ เมืองโองะกิของ จ.กิฟู ขณะที่เมืองอตสึใน จ.ชิงะ เริ่มนำปัญญาประดิษฐ์มีช่วยวิเคราะห์การรายงานการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เพื่อช่วยคุณครูเฝ้าระวังภาวะเครียดจากการถูกกลั่นแกล้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าวแย้งว่า โมเดลที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นยังมีข้อจำกัด เนื่องจากคอมพิวเตอร์จะคำนวณจากข้อมูลที่ถูกป้อนให้เท่านั้น ทั้งยังมีเหตุการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมหรือคาดเดาไม่ได้ เช่น ภัยธรรมชาติ ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะวางแผนไว้ดีอย่างไรก็อาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ การสร้างโมเดลดังกล่าวจึงเป็นการสิ้นเปลืองภาษีท้องถิ่นโดยเปล่าประโยชน์  นอกจากนี้ ประชาชนส่วนหนึ่งยังหวั่นว่าจะเกิดมหันตภัยเช่นเดียวกับในภาพยนตร์ไซไฟที่พึ่งพาคอมพิวเตอร์ในการตัดสินใจทางการเมืองแทนมนุษย์