posttoday

"ฟู้ดทรัค" เพื่อสังคม พลิกชีวิตผู้ด้อยโอกาสมาเลย์

17 มีนาคม 2562

เปิดภารกิจ “มาซาลา วีลส์” องค์กรธุรกิจเพื่อสังคมสัญชาติมาเลเซียในรูปแบบทันสมัยอย่าง “ฟู้ดทรัค” มอบความอิ่มท้องให้กับผู้ยากไร้

เปิดภารกิจ “มาซาลา วีลส์” องค์กรธุรกิจเพื่อสังคมสัญชาติมาเลเซียในรูปแบบทันสมัยอย่าง “ฟู้ดทรัค” มอบความอิ่มท้องให้กับผู้ยากไร้

************************

โดย...จุฑามาศ เนาวรัตน์

“หากคุณให้ปลา 1 ตัวกับชายคนหนึ่ง เขาก็จะอิ่มเพียงมื้อเดียว แต่หากคุณสอนให้ชายคนนั้นตกปลา เขาก็จะมีปลากินไปตลอดชีวิต”

นี่คือปรัชญาที่อยู่ภายใต้เบื้องหลังการดำเนินงานของ “มาซาลา วีลส์” (Masala Wheels) องค์กรธุรกิจเพื่อสังคมสัญชาติมาเลเซียในรูปแบบทันสมัยอย่าง “ฟู้ดทรัค” หรือร้านอาหารบนรถบรรทุกขนาดเล็ก ที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพียงแค่มอบความอิ่มท้องให้กับผู้ยากไร้เท่านั้น แต่ยังช่วยจุดประกายหนทางที่จะทำให้คนกลุ่มนี้อยู่ได้โดยที่ไม่ต้องโหยหิวไปอีกทั้งชีวิต

คูฮาน ปาทีย์ วิศวกรชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียตัดสินใจก่อตั้ง มาซาลา วีลส์ ขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2015 ด้วยการร่วมมือกับเพื่อนวัยเด็กอีก 3 คน เพื่อหมายมั่นปั้นให้มาซาลา วีลส์เป็นองค์กรที่จะช่วยให้คนไร้บ้านในเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียไม่ต้องทนหิวโหยอีกต่อไป

ก่อนที่ มาซาลา วีลส์ จะมีฟู้ดทรัคเป็นรูปเป็นร่าง จุดเริ่มต้นมาจากการใช้ห้องครัวเล็กๆ ของแม่คูฮานทำอาหารเพื่อแจกจ่ายให้กับคนไร้บ้านเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมดคิดค้นไอเดียขึ้นมาได้ว่า การทำฟู้ดทรัคซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในมาเลเซีย จะสามารถช่วยระดมทุนให้แก่คนไร้บ้านได้มากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่รอรับการบริจาค

นับตั้งแต่นั้นมา รถบรรทุกขนาดเล็กสีส้มสดใสของมาซาลา วีลส์ ก็ได้โลดแล่นออกสู่ท้องถนน เพื่อไปจอดในย่านพลุกพล่านของกัวลาลัมเปอร์ เพื่อขายอาหารอินเดียที่เริ่มต้นด้วยราคาเพียง 5 ริงกิต (ราว 39 บาท) เท่านั้น ซึ่งฟู้ดทรัคของ มาซาลา วีลส์ มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์ #Eat2Donate หรือ #กินเพื่อบริจาค ซึ่งกำไร 100% หลังหักต้นทุน องค์กรจะนำมารวบรวมเพื่อสร้างสรรค์มื้ออาหารฟรีให้แก่คนไร้บ้าน

ทว่า หลังจากที่เริ่มแจกอาหารฟรีให้แก่คนไร้บ้านมาสักพัก มาซาลา วีลส์ ก็ต้องเผชิญกับปัญหา จากการที่อาหารฟรีนั้นกระจุกตัวให้แก่คนไร้บ้านในพื้นที่เดิมๆ และดูเหมือนว่าคนไร้บ้านจะไม่ยอมทำอะไรเลย นอกจากรอคอยมื้ออาหารฟรีไปวันๆ

จากปัญหาเช่นนี้ทำให้คูฮานตระหนักได้ว่า “การเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่ดีนั้นไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาสังคมเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมให้ได้อย่างยั่งยืน” และนับตั้งแต่นั้นมา ผู้ร่วมก่อตั้งมาซาลา วีลส์ทั้งหมดก็ได้หันหน้าคุยกับคนไร้บ้าน เพื่อให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการจริงๆ

“คุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้คนต้องการอะไร จนกว่าคุณจะได้ลองคุยกับพวกเขาอย่างจริงจัง คุณจำเป็นต้องใส่รองเท้าแบบเดียวกับพวกเขา แล้วเดินทางไปดูมุมมองของโลกในสิ่งที่พวกเขาเหล่านี้ต้องเผชิญ” เอส ราวิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของมาซาลา วีลส์ กล่าว

"ฟู้ดทรัค" เพื่อสังคม พลิกชีวิตผู้ด้อยโอกาสมาเลย์

สอนให้ยืนด้วยตัวเอง

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของมาซาลา วีลส์เกิดขึ้นในปลายปี 2016 เมื่อองค์กรตัดสินใจผันตัวจากการเป็นแค่ผู้ให้ความอิ่มท้อง ไปเป็น “ผู้มอบชีวิตใหม่ให้แก่คนไร้บ้านด้วยการสอนให้คนเหล่านี้รู้จักการทำอาหาร จนสามารถก้าวสู่การเป็นเจ้าของกิจการได้ในอนาคต”

คูฮาน เล่าว่า จุดเปลี่ยนครั้งนี้ได้รับแรงบัลดาลใจมาจากองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมหลายแห่งในอังกฤษ เช่น ยูนิตี คิทเช่น (Unity Kitchen) และคิทเช่นส์ ฟอร์ กู๊ด (Kitchens for Good) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของกลุ่มคนชายขอบ ด้วยการฝึกทักษะการทำอาหารเพื่อให้กลายเป็นอาชีพได้

ในครั้งนี้มาซาลา วีลส์ไม่ได้ช่วยเหลือเพียงแค่คนไร้บ้านเท่านั้น แต่ขยายการจำกัดความของคำว่าคนชายขอบไปถึงคนจนและแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วย ด้วยแนวคิดที่ว่าคนเหล่านี้มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “การขาดโอกาส”

มาลาซา วีลส์เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เรียนรู้การทำงานในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็น การทำอาหาร การจัดเลี้ยง หรือ
แม้กระทั่งการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ผ่านการปฏิบัติงานจริง และเมื่อมีความพร้อมเต็มที่ ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ก็จะสามารถก้าวขึ้นเป็นเจ้าของกิจการฟู้ดทรัคภายใต้แบรนด์ของมาซาลา
วีลส์ได้

ทีมผู้ก่อตั้งมาซาลา วีลส์ตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ภายในฟู้ดทรัคให้ทันสมัยและครบครันยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถเช่าฟู้ดทรัคจากองค์กรได้ในราคาถูกแต่คุ้มค่า โดยมีระยะเวลาการเช่าสูงสุดที่ 3 เดือน ซึ่งรายได้ที่ได้มานั้นจะถูกแบ่งให้กับมาซาลา วีลส์เป็นจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

คูฮาน เปิดเผยว่า หนึ่งในความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของมาซาลา วีลส์ คือ การช่วยให้เด็กชายวัย 16 ปีรายหนึ่ง ที่เคยอยู่ในแก๊งอันธพาลจนต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคัน ให้กลับมากลายเป็นเด็กที่ขยันและมุ่งมั่นทำงานเพื่อตัวเองและครอบครัวมากขึ้น โดยปัจจุบันเด็กคนนี้กำลังอยู่ระหว่างการฝึกงานผ่านการเป็นพนักงงานในคาเฟ่แห่งหนึ่งในกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์

“เยาวชนที่เคยเป็นปัญหาสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำงานของเรา เพราะพวกเขาเกิดมาในวงจรของความรุนแรงและแก๊งอันธพาล และนั่นคือทั้งหมดที่พวกเขารู้ พวกเขาต้องการที่จะเป็นผู้นำในแก๊งเพื่อให้คนอื่นเคารพ ดังนั้นเราจึงสอนวิธีการที่ทำให้พวกเขาเป็นผู้นำของตัวเองก่อน และนั่นจะทำให้พวกเขารู้ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งก็ประสบความสำเร็จเองได้” คูฮาน กล่าว

"ฟู้ดทรัค" เพื่อสังคม พลิกชีวิตผู้ด้อยโอกาสมาเลย์

องค์กรเพื่อสังคม 4.0

แม้จะว่าแนวทางนี้ของมาซาลา วีลส์จะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่องค์กรก็ยังคงไม่หยุดเดินหน้าพัฒนา โดยล่าสุดได้มีการจับมือกับ เคคอม กรุ๊ป (KCOM Group) องค์กรธุรกิจเพื่อสังคมด้านเทคโนโลยีของมาเลเซีย เพื่อนำเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพให้แก่การดำเนินงานขององค์กรมากยิ่งขึ้น

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสร้าง “ระบบครัวอัตโนมัติ” ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาร่วมพัฒนาด้วย ซึ่งเอไอจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของฟู้ดทรัคให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น

“สิ่งนี้จะทำให้ผู้ด้อยโอกาสได้รับการฝึกฝนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น และช่วยให้พวกเขามีทักษะแห่งอนาคต ที่กำลังจะกลายเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการมากขึ้นในภายภาคหน้า ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อระบบในครัวทำงานโดยอัตโนมัติ ผู้ด้อยโอกาสจะมีเวลาอยู่หน้าร้านเพื่อพูดคุยกับลูกค้ามากขึ้น นั่นเท่ากับว่าสามารถพัฒนาทักษะด้านปฏิสัมพันธ์กันผู้อื่นได้ไปในตัว” คูฮาน กล่าว

จากความทุ่มทั้งหมดที่ต้องเห็นคนด้อยโอกาสในสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้มาซาลา วีลส์ได้รับรางวัลระดับประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัล The Star Golden Hearts และรางวัล Perdana Young Indian Entrepreneur Award ที่ทางการมาเลเซียมอบให้แก่องค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่ดีผลงานยอดเยี่ยม รวมถึงได้รับเลือกจากสถานทูตสหรัฐให้เป็นตัวแทนของมาเลเซียไปเข้าร่วมงาน Global Entrepreneurship Summit ประจำปี 2016 ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งมีอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอย่าง บารัก โอบามา เข้าร่วมงานด้วย

“มันคือฝันที่กลายเป็นจริง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงจุดเล็กๆ ในสังคมของคุณเอง ก็สามารถกลายเป็นโมเดลต้นแบบในระดับโลกได้” คูฮาน กล่าว