posttoday

เถียนเหิง เจ้านายผู้ยอมตายเพื่อลูกน้อง

09 กรกฎาคม 2560

เมื่อราชวงศ์ฉินของจิ๋นซีฮ่องเต้ล่มสลาย แผ่นดินแตกแยก ขุนศึกใหญ่ผู้มีบทบาทโดดเด่นในช่วงนั้นมีหลิวปัง และเซี่ยงอวี่

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

เมื่อราชวงศ์ฉินของจิ๋นซีฮ่องเต้ล่มสลาย แผ่นดินแตกแยก ขุนศึกใหญ่ผู้มีบทบาทโดดเด่นในช่วงนั้นมีหลิวปัง และเซี่ยงอวี่ แต่ท่ามกลางการขับเคี่ยวของทั้งสองยังมีวีรกรรมของผู้นำอีกคนที่ถูกจารึกชื่อเอาไว้

ผู้นำคนนั้นคือ เถียนเหิง แห่งแคว้นฉี

เถียนเหิงเป็นคนแคว้นฉี 1 ใน 6 แค้วนที่ล่มสลายไปเพราะแคว้นฉิน เมื่อฉินล่ม พี่ชายและเขาต่างคิดฟื้นฟูแคว้นฉี พวกเขารวบรวมสมัครพรรคพวก แล้วพี่ชายของเถียนเหิงตั้งตนขึ้นเป็นอ๋อง ส่วนตัวเถียนเหิงเองดำรงตำแหน่งแม่ทัพแคว้นฉีตั้งอยู่ติดกับอาณาเขตของเซี่ยงอวี่ หลิวปังจอมเจ้าเล่ห์ทำทีไม่สนใจที่จะรวมแผ่นดินหนึ่งเดียว แล้วหลอกล่อยุแหย่ให้เซี่ยงอวี่รบเอาดินแดนของแคว้นฉีมาครอบครอง

เซี่ยงอวี่เห็นแคว้นฉีเป็นชิ้นปลามัน ไม่ได้หวาดระแวงหลิวปัง จึงเข้าคุกคามแคว้นฉีอย่างต่อเนื่อง แล้วหลิวปังก็ส่งทูตมาแคว้นฉี ทำทีจะขอร่วมมือกันต่อต้านเซี่ยงอวี่ อ๋องแคว้นฉีรู้สึกยินดี รีบสาบานตนเป็นทัพพันธมิตรกับหลิวปัง

หารู้ไม่ว่าหลิวปังซ้อนแผนไว้อย่างแนบเนียน หลังคืนร่วมสาบานเป็นพันธมิตร หลิวปังก็อาศัยจังหวะแคว้นฉีไม่ระวังตัวส่งทัพประชิดชายแดน

เถียนเหิงในฐานะผู้บัญชาการทัพแคว้นฉีโกรธมาก สั่งให้เอาทูตของหลิวปังไปต้มทั้งเป็น เหยื่อคนแรกที่ต้องสังเวยให้แผนการนี้จึงเป็นทูตของหลิวปังนั่นเอง

 แต่ทุกอย่างก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว แคว้นฉีถูกโจมตีพ่ายแพ้ยับเยิน อ๋องแคว้นฉีถูกสังหาร เถียนเหิงจึงขึ้นเป็นอ๋องแห่งแคว้นฉีแทน

เถียนเหิงคิดร่วมมือกับเซี่ยงอวี่โจมตีหลิวปัง แต่ถึงเวลานั้นตัวเซี่ยงอวี่ก็ยังเอาตัวเองไม่รอด เซี่ยงอวี่พ่ายแพ้หลิวปังอย่างสิ้นเชิง เถียนเหิงต้องถอยร่นให้กับทัพของหลิวปังอย่างต่อเนื่อง

แล้วแผ่นดินทั้งหมดก็ตกไปอยู่ในมือของหลิวปัง เหลือแต่เพียงเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งแถบซานตงเกาะเดียวเท่านั้นที่เถียนเหิงใช้เป็นที่ตั้งมั่นสุดท้ายของเขา

บนเกาะนั้นเขาเหลือผู้ติดตามเพียง 500 นาย

ขออธิบายด้วยว่า ก่อนแผ่นดินจีนจะรวมเป็นหนึ่งในยุคราชวงศ์ฉิน กษัตริย์หรือเจ้านายภายในแต่ละแคว้นมักนิยมเลี้ยงดูแขกเหรื่อมากมาย ผู้คนเหล่านี้มาจากต่างถิ่นและต่างฐานะ ซึ่งมีความสามารถหลากหลาย ไม่ว่าด้านการเมือง การทหาร หรือกระทั่งเป็นนักรบ

เจ้านายเลี้ยงผู้คนเหล่านี้ไว้ใช้งาน ส่วนคนพวกนี้ก็ได้ช่องทางในการสำแดงฝีมือ

ทั้งหมดนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างลูกน้องเจ้านายที่ไม่จำเป็นต้องผูกพันกันตายตัว ใครจะเข้าใครจะออกเมื่อไหร่ก็ย่อมได้ และในอีกด้าน เจ้านายจะเลี้ยงดูหรือเลิกเลี้ยงดูใครเมื่อไหร่ก็ได้เช่นกัน (แน่นอนว่าหากมีใจภักดีซึ่งกันและกันย่อมเป็นที่ชื่นชม แต่ยังไม่ถึงระดับเป็นค่านิยมที่ควรต้องประพฤติไปทั่ว)

ความสัมพันธ์ระหว่างเถียนเหิงและผู้ติดตามทั้ง 500 ก็เป็นความสัมพันธ์เช่นนี้

เถียนเหิงและผู้ติดตามทั้ง 500 ต่างรู้ดีว่าคงไม่สามารถต่อสู้กับหลิวปังได้ แต่ขอใช้ชีวิตอยู่เป็นสามัญชนบนเกาะ แต่หลิวปังไม่อยากเหลือเสี้ยนหนามไว้ให้กังวล จึงส่งทูตมาเกลี้ยกล่อมเถียนเหิง ว่าหากเถียนเหิงเข้าสวามิภักดิ์จะได้ยศได้ตำแหน่ง แต่หากเถียนเหิงไม่ยินยอม หลิวปังจะยกทัพขยี้ทั้งเกาะให้แหลกคามือ

เถียนเหิงรู้ดีว่าฝืนไปก็ไม่ได้การ และจะทำให้ชีวิตของผู้ที่ภักดีต่อตัวเขาอีก 500 ชีวิตต้องเดือดร้อนไปด้วย จึงตัดสินใจยอมเดินทางไปสวามิภักดิ์หลิวปัง

ผู้ติดตามทั้ง 500 ย่อมรู้จักหลิวปังจอมเจ้าเล่ห์ดี อีกทั้งยังรู้สึกเป็นห่วงเถียนเหิง เกรงว่าหากผิดพลาดจะเกิดเรื่องร้ายได้ ต่างไม่ยอมให้เถียนเหิงไป แต่เถียนเหิงยังคงยืนยัน เพราะไม่เช่นนั้นทุกคนต้องเดือดร้อน

ผู้ติดตามทั้ง 500 จึงขออาสาเดินทางไปพร้อมกัน แต่เถียนเหิงปฏิเสธ และออกเดินทางไปพร้อมผู้ติดตามไปเพียง 2 คน ตำนานว่ากันว่า แม้แต่ม้าศึกที่เขาจะขี่ออกจากเกาะไปยังไม่ยินยอมให้เขาเดินทางไปหาหลิวปัง

เมื่อเดินทางไปถึงจุดที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงเพียง 30 ลี้ เถียนเหิงจึงบอกกับทูตของหลิวปังว่า “หลังฉินล่มสลาย ข้าและหลิวปังตั้งตนเป็นอ๋องขึ้นพร้อมกัน วันนี้หลิวปังเป็นใหญ่ในแผ่นดินเพียงหนึ่งเดียว ส่วนข้าพ่ายแพ้ล่าถอย นับเป็นความอับอายของตัวข้า คงไม่สามารถแบกหน้ารับใช้หลิวปังต่อไปได้”

“ท่านหลิวปังเรียกตัวข้าเพื่อพบหน้า ย่อมไม่มีปัญหา ผู้ติดตามทั้งสองจะนำหัวเขานี้ไปพบกับท่านหลิวปังเอง รับรองว่าใบหน้าข้าเถียนเหิง จะเป็นใบหน้าเดียวกันกับตอนที่ยังมีชีวิต” ว่าแล้วเถียนเหิงก็เชือดคอตัวเองไปต่อหน้าทุกคน

ผู้ติดตามทั้งสองจึงได้แต่ทำตามคำสั่งเถียนเหิง ตัดและนำหัวเถียนเหิงไปมอบให้กับหลิวปัง หลิวปังตกตะลึง นึกไม่ถึงว่าเถียนเหิงจะทระนงและกล้าหาญเช่นนี้

และที่หลิวปังต้องตะลึงอีกครั้งก็คือ ผู้ติดตามทั้งสองคนเมื่อจัดการศพของเถียนเหิงเรียบร้อยก็เชือดคอตายตามเจ้านายไปฃ

หลิวปังรู้ดีว่าผู้ติดตามเถียนเหิงที่เหลือมีความสามารถและกล้าหาญ ยังต้องการให้เข้ามาสวามิภักดิ์ แต่เมื่อหลิวปังส่งทูตไปเกลี้ยกล่อม และทั้งหมดได้รู้ข่าวการตายของเถียนเหิง ต่างก็โศกเศร้าและซาบซึ้งใจ ตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองตามเจ้านายไปบนผืนแผ่นดินผืนสุดท้ายที่พวกเขายืนหยัดปักหลักด้วยกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายและลูกน้องในยุคนั้น มีความเฉพาะตัวต่างจากช่วงอื่นใดในประวัติศาสตร์จีน และไม่เหมือนความสัมพันธ์เชิงขุนนางและฮ่องเต้ ซึ่งในยุคหลังถูกสร้างเป็นธรรมเนียมตายตัว

ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายและลูกน้องยุคนั้นจึงเป็นทั้งความสัมพันธ์ที่ทั้งจืดจางและเข้มข้น

จืดจางเพราะไม่มีใครจำเป็นต้องผูกติดกับใคร และเข้มข้นเพราะถ้าทนอยู่ด้วยกันแม้ในยามยากได้ ก็เป็นเพราะมีใจภักดีให้จริง มิใช่เพราะขนบธรรมเนียม หรือกฎเกณฑ์

เถียงเหิงและกลุ่มผู้ติดตามทั้ง 500 คือตัวอย่างความเข้มข้นที่สุดตัวอย่างสุดท้ายของความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายและลูกน้องแบบนี้ในประวัติศาสตร์จีน และเป็นตัวอย่างพิเศษอันน้อยนิดที่เจ้านายขอสละชีพด้วยหวังว่าให้ลูกน้องของตนอยู่รอดปลอดภัย

ปัจจุบันเกาะนั้นชื่อว่าเกาะเถียนเหิง ซึ่งชาวจีนตั้งชื่อไว้เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงศักดิ์ศรีและวีรกรรมของเถียนเหิงและผู้ติดตามทั้ง 500 คน

ผ่านมาหลายพันปีจนยุคนี้ความสัมพันธ์ของลูกน้องและเจ้านายกลับมาคล้ายยุคนั้นกันอีกครั้ง คือเป็นอิสระต่อกัน ไม่ถูกยึดโยงด้วยขนบธรรมเนียม แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีความผูกพันระดับนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่

เถียนเหิงและผู้ติดตามทั้ง 500 จึงยังคงเป็นตัวอย่างอมตะต่อไป และยังไม่มีใครมาลบสถิติความผูกพันระหว่างเจ้านายและลูกน้องเช่นนี้ได้อีกเลย n

หมายเหตุ - ภาพประกอบเป็นภาพที่มีชื่อเสียงของจีน คือภาพเถียนเหิงอำลาผู้ติดตามทั้ง 500 วาดโดยจิตรกรชื่อดังนาม สวีเปยหง เขาวาดภาพนี้ในช่วงปี 1930 ในยุคที่จีนอ่อนแอพ่ายแพ้แก่มหาอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อกระตุ้นเตือนให้ชาวจีนต่อสู้ถึงที่สุด และไม่ยอมอยู่ใต้แผ่นดินของศัตรู (ใบหน้าของชายที่ยืนอยู่หน้าสุด คือใบหน้าของตัวสวีเปยหงเอง)