posttoday

ย้อนรอยตำนาน 'ที่สุด'แห่งโอลิมปิก

28 กรกฎาคม 2555

เปิดฉากขึ้นแล้วกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติครั้งสำคัญ อย่าง การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 30

โดย...ลภัสรดา ภูศรี

เปิดฉากขึ้นแล้วกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติครั้งสำคัญ อย่าง การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 30 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอนดอนแห่งสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 27 ก.ค.12 ส.ค. 2555 อย่างยิ่งใหญ่

และเป็นที่รู้กันดีว่า ในศึกการแข่งขันแห่งศักดิ์ศรีเช่นนี้ ไม่ได้มีแต่เรื่อง “แพ้ชนะ” ในเกมกีฬาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะตลอดช่วงเวลาที่มีการจัดการแข่งขันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ได้เกิดเหตุการณ์แห่งความทรงจำสำคัญต่างๆ มากมาย

งานนี้เราจึงได้รวบรวมเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็น “ที่สุดของที่สุด” ของตำนานโอลิมปิกมาให้ร่วมพลิกหน้าประวัติศาสตร์และย้อนอดีตไปด้วยกัน ไล่กันไปตั้งแต่...

...แปลกที่สุด

หากจะพูดถึง “ตำนานความแปลก” ของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ คงไม่มีเรื่องใดที่ทำให้เราต้องนั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดได้เท่ากับสารพัดการแข่งขันกีฬาแปลกๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกบรรจุไว้ในโอลิมปิกเกมส์ ที่บรรดานักกีฬาจากหลายประเทศทั่วโลกเคยลงสนามประชันฝีมือสู้ศึกชิงเหรียญกันอย่างจริงจังมาแล้ว

ไล่กันไปตั้งแต่ กีฬาการ “ยิงนกพิราบ” สุดโหด ที่ถูกประเดิมบรรจุไว้เป็นหนึ่งในเกมกีฬาในโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส เมื่อปี 1900 เป็นครั้งแรก โดยหลักการของเกมก็โหดสมชื่อ คือ ผู้เข้าแข่งขันจากทุกประเทศต้องมาห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด ด้วยการยิงนกพิราบตัวเป็นๆ ให้ได้มากที่สุด โดยผู้ชนะที่สามารถปลิดชีพนกพิราบที่ถูกปล่อยออกมาจากกรงได้มากที่สุด จะได้เงินรางวัลสูงถึง 2 หมื่นฟรังก์ (ราว 6.3 แสนบาท) ไปเลย

ย้อนรอยตำนาน \'ที่สุด\'แห่งโอลิมปิก

ว่ากันว่า การแข่งขันยิงนกพิราบในครั้งนั้น มีนกพิราบผู้น่าสงสารต้องถูกยิงไปมากกว่า 300 ตัวเลยทีเดียว และถือว่าเป็นการแข่งขันกีฬาที่มีการนองเลือดและยุ่งเหยิงมากที่สุด เพราะนอกจากต้องมีการเก็บกวาดซากนกพิราบที่โชกเลือดหลายร้อยตัวแล้ว ยังต้องมีการยิงนกพิราบที่นักกีฬายิงพลาดซ้ำจนกว่าจะตายอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องมีการมาเช็ดล้างทำความสะอาดสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยเลือดสัตว์และขนนกปลิวว่อนอีกครั้งใหญ่ ซึ่งน่าจะกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้กีฬาการแข่งขันยิงนกพิราบถูกยกเลิกไปในที่สุด โดยที่ไม่มีประเทศไหนกล้านำมาบรรจุไว้เป็นหนึ่งในเกมโอลิมปิกอีกเลย

อย่างไรก็ตาม เกมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ขึ้นชื่อเรื่องความแปลก ไม่ได้มีแต่เพียงการยิงนกพิราบเป็นๆ เท่านั้น เพราะใครจะไปเชื่อว่าหนึ่งในกิจกรรมยามว่างที่คุ้นเคยของเด็กๆ ทั่วโลกอย่างการ “กระโดดบนแทรมโพลีน” ในสนามหลังบ้าน และการ “ปีนเชือก” ก็เคยถูกบรรจุไว้เป็นหนึ่งในกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติสุดยิ่งใหญ่ที่มีนักกีฬามืออาชีพจากหลายชาติทุ่มเทเก็บตัวฝึกซ้อมร่างกายอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน

และถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นการแข่งขันปีนเชือกแบบมืออาชีพอีกแล้ว หลังจากที่มีการยกเลิกไปอย่างถาวรเมื่อปี 1932 แต่เราจะยังคงได้ติดตามเชียร์นักกีฬาแทรมโพลีนนิสต์ ที่พร้อมร่วมโชว์ความสามารถในการกระโดดแทรมโพลีนด้วยเทคนิคที่แม่นยำและสง่างามแบบโปรเฟสชันนอลในโอลิมปิกเกมส์ลอนดอน 2012 นี้ได้อย่างแน่นอน

...โกงได้ใจที่สุด

เป็นที่รู้กันดีว่า การได้มาซึ่งชัยชนะเป็นความต้องการสูงสุดของนักกีฬาทุกประเภท แต่เมื่อผลการแข่งขันย่อมมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ จึงอาจทำให้ใครหลายคนยอมทำทุกวิถีทางเพื่อคว้าชัยชนะเอาไว้ในมือ ถึงแม้ว่าหนทางนั้นจะเป็น “วิธีสกปรก” ก็ตาม

การโกง จึงถือเป็นอีกหนึ่งด้านมืดของโอลิมปิกเกมส์เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยแล้ว “กลยุทธ์การโกง” ก็มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ทว่า กลยุทธ์การโกงที่เรียกว่าเด็ดได้ใจที่สุด และเคยถูกนำมาใช้กันเป็นว่าเล่นเลยก็คงหนีไม่พ้น “การปลอมเป็นผู้หญิงเข้าแข่งขัน!”

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าตำนานการปลอมตัวของนักกีฬาชายอกสามศอกเพื่อเข้าแข่งกีฬาประเภทของผู้หญิง เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งอย่างน่าตกใจ แต่ทว่าครั้งที่เรียกได้ว่าเป็นที่สุดของตำนานการปลอมตัว คงต้องยกให้กับการปลอมตัวของ โดรา ราทเจน นักกีฬากระโดดสูงของเยอรมนี ที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลินของเยอรมนีเมื่อปี 1936

ถึงแม้ว่าในครั้งนั้น ราทเจน สามารถทำคะแนนรั้งตำแหน่งที่ 4 เท่านั้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ ราทเจน ถอดใจ เพราะเจ้าหล่อนได้กลับมาเข้าร่วมการแข่งขันในการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปเมื่อปี 1938 อีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ ราทเจน สามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ขึ้นแท่นเป็นแชมป์ยุโรปกระโดดสูงหญิงคนแรกของโลกได้เป็นผลสำเร็จ

ทว่า ภายหลังจากที่สาวราทเจนดื่มด่ำกับชัยชนะเพียงไม่นาน ความลับที่ถูกเก็บงำมานานของสาวราทเจน ก็ถูกตีแผ่ หลังจากที่เพื่อนนักกีฬาสาว 2 คน ได้สังเกตเห็นความผิดปกติเกี่ยวกับร่างกายของสาวราทเจน และต่างงงเป็นไก่ตาแตกไปตามๆ กัน

เพราะในขณะที่นักกีฬาทั้งหมดกำลังยืนรอรถไฟกลับจากการแข่งขัน เพื่อนนักกีฬากลุ่มหนึ่งก็ได้เห็น “เงาส่วนเกินโด่ออกมาจากเป้า” ของสาวราทเจน ถึงแม้ว่าในขณะนั้นราทเจนจะใส่กระโปรงอยู่ก็ตาม

โดโรธี เทย์เลอร์ สาวนักกีฬากระโดดสูงจากแดนผู้ดี ซึ่งก่อนหน้านี้ออกมายอมรับว่า ไม่กล้าแม้แต่จะคิดลงแข่งขันกับสาวราทเจน เพราะคิดว่าอย่างไรก็สู้ไม่ได้นั้น ระบุว่า แม้ว่าในตอนแรกแทบจะไม่เชื่อสายตาตัวเอง แต่ทันทีที่ตั้งสติได้และลองคิดทบทวนอีกครั้ง ก็ได้ข้อสรุปว่าสิ่งที่ตัวเองเห็นไม่น่าจะเป็นภาพหลอนอย่างแน่นอน

เพราะตลอดเวลาที่ร่วมเก็บตัวนักกีฬาด้วยกันมา สาวเทย์เลอร์พร้อมกับเพื่อนนักกีฬาสาวก็ได้สังเกตความผิดปกติหลายอย่างในตัวของสาวราทเจน เพราะนอกจากเจ้าหล่อนจะเป็นคนที่มีรูปร่างใหญ่โตและมีเสียงใหญ่และทุ้ม ผิดธรรมชาติของผู้หญิงทั่วไปแล้ว สาวราทเจนก็มักปฏิเสธที่จะเข้าอาบน้ำรวมกับนักกีฬาหญิงคนอื่นๆ อีกด้วย

และผลการตรวจสอบประวัติเชิงลึกก็พบว่า แท้จริงสาวราทเจนนั้น ที่แท้ก็เป็นชายอกสามศอกที่มีชื่อว่า ไฮริก ราทเจน และหลังจากนั้นราทเจนก็ถูกสั่งลงดาบห้ามเข้าร่วมการแข่งขันอีกต่อไป

ใครจะไปเชื่อว่าสาวราทเจนกลับไม่ใช่นักกีฬาคนสุดท้ายที่ถูกสั่งห้ามเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาจากโทษฐานการปลอมตัว เพราะหลังจากนั้นก็เกิดกรณีในลักษณะเดียวกันมาโดยตลอด

จนในที่สุด เมื่อปี 1966 ในการแข่งขันกรีฑานานาชาติที่กรุงบูดาเปสต์ของฮังการี ได้มีการตั้งกฎการตรวจสอบเพศของนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโปรแกรมการแข่งขันของผู้หญิงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมีการปลอมแปลงของผู้ชายอย่างเช่นในอดีต

อย่างไรก็ตาม วิธีการตรวจสอบเพศด้วยการตรวจดูอวัยวะเพศโดยแพทย์ ได้รับเสียงต่อต้านจากนักกีฬาหญิงเป็นอย่างมาก และส่งผลให้มีการถอนตัวจากการแข่งขันจำนวนมาก จนกระทั่งปี 1968 ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) จึงได้เสนอวิธีการตรวจเพศนักกีฬาหญิงใหม่ด้วยวิธีการที่มีชื่อว่า “เซ็กซ์ โครมาติน” หรือการตรวจเซลล์บริเวณกระพุ้งแก้มแทน แต่ทว่าวิธีการดังกล่าวถูกยกเลิกอีกครั้งเมื่อปี 1992 เนื่องจากยังมีข้อจำกัดทางวิทยาศาสตร์หลายประการ ซึ่งเกิดความผิดพลาดของผลตรวจสอบได้ง่าย

จนในที่สุดวิธีการตรวจสอบเพศนักกีฬาก็มาลงเอยที่วิธี “พีซีอาร์” หรือการตรวจหายีนจำเพาะในเพศชายแทน ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก ให้ผลเร็ว ประหยัด และปัจจุบันนิยมใช้อย่างกว้างขวางอีกด้วย

ย้อนรอยตำนาน \'ที่สุด\'แห่งโอลิมปิก

 

...ฉาวที่สุด

และหากพูดถึงตำนานความฉาวที่เป็นที่สุดของมหกรรมกีฬาระดับโลก คงต้องยกให้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกลอนดอน 2012 ในครั้งนี้ วัดได้จากข่าวคราวความฉาวที่ถูกตีแผ่ออกสื่อแบบไม่เว้นแต่ละวัน

เริ่มตั้งแต่ข่าวฉาวที่แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีงามของประเทศ แต่เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีของอุตสาหกรรมการพนันในอังกฤษที่กำลังจะได้รับเงินเป็นกอบเป็นกำจากการแข่งขันในครั้งนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยงานนี้บ่อนการพนันทุกแห่งทั่วราชอาณาจักรต่างพร้อมใจกันเปิดให้บริการอย่างเต็มที่

เรียกได้ว่าใครใคร่พนันสิ่งใด หรือเรื่องใด ก็สามารถลงเงินเสี่ยงดวงได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการพนันแบบเบสิก เช่น ทายผลการแข่งขันกีฬาทั้งหมด 26 ประเภทว่าทีมชาติใดจะเป็นผู้คว้าเหรียญไปครองบ้าง ไปจนถึงการทำนายว่า โอกาสที่จะได้เห็นยานยูเอฟโอระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้มีมากน้อยเพียงใดเลยทีเดียว โดยมีการคาดการณ์ว่า น่าจะมีเงินจากการพนันสะพัดถึง 100 ล้านปอนด์ (ราว 4.9 หมื่นล้านบาท) เลยทีเดียว

นอกจากการพนันที่จะแพร่สะพัดไปทั่วการแข่งขันครั้งนี้แล้ว ว่ากันว่า กิจกรรมเข้าจังหวะระหว่างนักกีฬา อาจจะคึกคักและดุเดือดพอๆ กับผลการแข่งขันกีฬาเลยก็ว่าได้

เห็นได้จากการทุ่มทุนแจกถุงยางจำนวนกว่า 1.5 แสนชิ้น ให้กับนักกีฬาทั้งหมด 1.05 หมื่นคน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีการแจกมา โดยตลอดช่วงการแข่งขันราว 3 สัปดาห์ นักกีฬาสามารถใช้ถุงยางอย่างถนัดมือคนละ 15 ชิ้นเลยทีเดียว

โฮป โซโล หนึ่งในนักฟุตบอลหญิงของสหรัฐให้สัมภาษณ์อย่างเปิดอกว่า นักกีฬามีเซ็กซ์กันอย่างเปิดเผย ทั้งกลางวัน กลางคืน กลางแจ้ง หรือตามซอกมุมตึก

“ฉันอาจจะแอบพานักกีฬาสักคนขึ้นห้องสักคืนและออกมาด้วยกันโดยที่ไม่มีใครสนใจ และนั่นคือความลับในโอลิมปิกของฉัน” โซโล กล่าว

...เศร้าที่สุด

เชื่อได้ว่า ไม่ว่าใครก็คงต้องจดจำโศกนาฏกรรมสังหารหมู่นักกีฬาอิสราเอลในหมู่บ้านนักกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิกที่มิวนิกเมื่อปี 1972 ได้อย่างแม่นยำ เพราะบรรยากาศแห่งความสูญเสียยังคงคละคลุ้งจนมาถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 1972 สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์ ที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มกันยายนทมิฬ” ทั้งหมด 8 คน พร้อมอาวุธปืนและลูกระเบิดครบมือ ได้บุกเข้าไปในหมู่บ้านนักกีฬา และสังหารนักกีฬาอิสราเอลเสียชีวิตทันที 2 คน ก่อนที่จะจับตัวนักกีฬาชาวอิสราเอลอีก 9 คนไว้เป็นตัวประกันเพื่อกดดันให้มีการปล่อยตัวสมาชิกของกลุ่มราว 200 คน ที่ถูกจองจำอยู่ในอิสราเอลสู่อิสรภาพโดยเร็วที่สุด

ภายหลังจากความพยายามต่อรองอยู่นาน ‌ท้ายที่สุดการเจรจาก็ล้มเหลว เพราะถึงแม้ว่า‌ทางการเยอรมนีตะวันตกจะยื่นข้อเสนอให้เงิน‌จำนวนมากเพื่อแลกกับตัวประกัน แต่ทว่า‌หัวหน้าผู้ก่อการร้ายได้ตอบกลับมาอย่างเลือด‌เย็นว่า“พวกตนไม่สนเรื่องเงิน หรือแม้แต่การ‌มีชีวิตอยู่”

และแล้ววินาทีแห่งความสูญเสียก็เกิดขึ้น ‌เมื่อเฮลิคอปเตอร์ที่ทางการเยอรมนีจัดให้ตามคำ‌เรียกร้องของกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่พยายามขนถ่าย‌ตัวประกันทั้ง 9 คน ลงจอดที่สนามบินใกล้เคียง ‌ก็เกิดการยิงปะทะกันขึ้นในทันที ส่งผลให้ผู้ก่อ‌การร้ายตัดสินใจจุดชนวนระเบิดเฮลิคอปเตอร์‌ลำดังกล่าว และทำให้ตัวประกันทั้งหมดเสียชีวิต‌คาที่ ทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนั้นจบ‌ลงกลางคัน ด้วยความบาดหมางและโศกเศร้า‌อย่างหาที่สุดไม่ได้

ย้อนรอยตำนาน \'ที่สุด\'แห่งโอลิมปิก

 

...อึ้งที่สุด

คงไม่มีเหตุการณ์ใดในหน้าประวัติศาสตร์‌โอลิมปิกที่สร้างความแรงกระเพื่อมด้านความ‌เท่าเทียมกันของมวลมนุษย์ได้ชัดเจนเท่ากับ‌โอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 11 ที่จัดขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน‌ของเยอรมนีเมื่อปี 1936อีกแล้ว กับเหตุการณ์‌ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการหยามศักดิ์ศรีผู้นำของ‌ประเทศเจ้าภาพอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ครั้ง‌สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้

เป็นที่รู้กันดีว่า การแข่งขันโอลิมปิกในครั้ง‌นั้น ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทาง‌การเมืองของฮิตเลอร์ ที่ต้องการ‌แสดงให้โลกเห็นถึงความเก่งกาจ‌และฉลาดปราดเปรื่องของชนเผ่า‌อารยันที่เหนือกว่าชนเผ่าอื่นในทุกๆ ‌ด้านทั้งสิ้น ถึงขั้นมีการขนานนามว่า‌เป็น“นาซีเกมส์”เลยทีเดียว เพราะ‌นอกจากทุกสนามแข่งขันจะถูก‌ประดับประดาด้วยผืนผ้าสีแดงตรา‌สวัสดิกะเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของ‌ลัทธินาซีแล้ว นักกีฬาที่คว้าชัยชนะ‌ได้นั้นล้วนเป็นชนเผ่าอารยันของ‌ตัวเองทั้งสิ้น

แต่แล้วความพยายามของฮิตเลอร์ก็เป็นอัน‌วูบ ภายหลังจากที่มีนักกีฬาผิวสีชาวอเมริกันที่มี‌ชื่อว่าเจสซี โอเวนสามารถเอาชนะนักกีฬา‌เจ้าภาพเยอรมนีและคว้าได้ถึง 4 เหรียญทอง ‌จากทั้งการวิ่งระยะสั้นและกีฬากระโดดไกล

ว่ากันว่าฮิตเลอร์ถึงขั้นฉุนขาด และออกจาก‌สนามไปโดยไม่ยอมจับมือแสดงความยินดีกับโอเวน ซึ่งขึ้นมารับเหรียญทอง เหมือนดังนักกีฬา‌คนอื่นๆ เพราะชัยชนะของโอเวนในครั้งนั้น‌เปรียบได้กับการตบหน้าฮิตเลอร์ฉาดใหญ่เลย‌ทีเดียว ที่จู่ๆ เผ่าพันธุ์คนผิวสีซึ่งถูกมองว่าต้อยต่ำ‌กว่า สามารถเอาชนะชนเผ่าอารยันอันสูงค่าของ‌ฮิตเลอร์ได้อย่างไม่ติดฝุ่น

แต่เรื่องราวสุดอึ้งของเหตุการณ์นี้ไม่ได้จบอยู่‌เพียงเท่านี้ เพราะหลังจากนั้นก็มีกลุ่มผู้สื่อข่าว‌กีฬาอาวุโสของเยอรมนีออกมาเปิดเผยว่า แท้‌จริงแล้วฮิตเลอร์ได้ทำการจับมือแสดงความยินดี‌กับโอเวนเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะเดินทางออก‌จากสนาม โดยทั้งหมดยืนยันคำกล่าวอ้างด้วย‌การโชว์หลักฐานรูปถ่ายขณะที่โอเวนอยู่ด้านหลัง‌แท่นรับเหรียญและกำลังจับมือกับฮิตเลอร์อยู่จริง ซึ่งเป็นภาพที่ถูกถ่ายไว้โดยช่าง‌ภาพส่วนตัว ทำให้ภาพดังกล่าวไม่ได้ถูกเผยแพร่‌ผ่านสื่อกระแสหลัก

โดยแม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาโอเวนจะ‌พยายามแก้ไขข้อมูลทางประวัติศาสตร์ต่อสิ่งที่‌เกิดขึ้นระหว่างฮิตเลอร์และตัวเขาให้ถูกต้องว่า‌ไม่ได้เกิดความบาดหมางขึ้นอย่างที่เป็นข่าว แต่‌ความพยายามของโอเวนก็ดูเหมือนจะไร้ผล ‌เพราะหลังจากเบอร์ลินเกมส์อีก 3 ปี ฮิตเลอร์ก็พาประเทศเข้าสู่สงคราม และกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้โลกต้องวุ่นวายและไร้สันติภาพ ‌จนไม่มีการจัดกีฬาโอลิมปิกยาวนานถึง 12 ปีเลยทีเดียว