posttoday

คนซอยสวนพลูวันนี้ นำเสนอเรื่อง "การเมืองไทยในสงครามระหว่างวัย" (จบ)

23 มิถุนายน 2562

หม่อมคึกฤทธิ์ เคยแสดงความเห็นขอให้นักศึกษาระมัดระวังการเคลื่อนไหวเพราะท่านเชื่อว่าจะต้องล้มตายมากถ้า “บุ่มบ่าม” ชุมนุมกันอย่างไม่ระมัดระวัง

หม่อมคึกฤทธิ์ เคยแสดงความเห็นขอให้นักศึกษาระมัดระวังการเคลื่อนไหวเพราะท่านเชื่อว่าจะต้องล้มตายมากถ้า “บุ่มบ่าม” ชุมนุมกันอย่างไม่ระมัดระวัง

........................

โดย ทวี สุรฤทธิกุล

คนรุ่นใหม่ยุคนี้น่าจะเรียนรู้ได้เร็ว

คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานการเมืองยุคนี้ที่มีอายุราว ๒๐ – ๔๐ ปี ส่วนใหญ่เกิดไม่ทันช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ “กระแสประชาธิปไตย” ในช่วงเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่มาจบลงในเหตุการณ์วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ แต่คนรุ่นใหม่เหล่านี้เติบโตมาในช่วงของการปฏิรูปการเมือง ใน พ.ศ. ๒๕๔๐ และถูกหล่อหลอมมาในบรรยากาศของการเมืองในยุค “ระบอบทักษิณ” ซึ่งยังคงมีอิทธิพลต่อความเชื่อความคิดของพวกเขามาตราบถึงทุกวันนี้

ที่ผู้เขียนนำเหตุการณ์ในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๖ ถึง ๒๕๑๙ มากล่าวอ้าง ก็เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นช่วงที่ “น่าจะ” สร้างระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น “ขาดบทเรียน” จากการที่ไม่ได้มองสังคมไทยให้ลึกซึ้ง ด้วยเชื่อตามความคิดของมาร์กซิสต์ในยุคนั้นว่า ถ้าโค่นล้มศักดินาได้แล้ว ประชาชนก็จะขึ้นครองอำนาจเป็นใหญ่ได้ ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในรัสเซียกับจีนที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น รวมถึงการเข้ายึดครองของคอมมิวนิสต์ในเวียตนาม ลาว และกัมพูชา ที่เกิดขึ้นในช่วงที่นิสิตนักศึกษาของเราได้ขับไล่ทหารออกไปจากระบบการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว

บทเรียนอันสำคัญจากช่วงเวลาดังกล่าวก็คือ “เด็กไม่ฟังผู้ใหญ่” ซึ่งผู้เขียนขออ้างถึง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช “ผู้หลักผู้ใหญ่” คนหนึ่งในบ้านเมืองในยุคนั้น ในคราวที่ผู้เขียนในฐานะอาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้จัดทำโครงการวิจัยประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยการสัมภาษณ์นักการเมืองอาวุโส ซึ่งก็มีท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็น “แหล่งข้อมูลสำคัญ” (Key Informant) อยู่ด้วยท่านหนึ่ง

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า ตอนที่จะเกิดเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ท่านได้ทราบข่าวสารจากลูกศิษย์ลูกหาในมหาวิทยาลัย “ส่งสัญญาณ” ให้ทราบบ้างแล้วว่า มีกลุ่มนิสิตนักศึกษากำลังจะมีการรวมตัวกัน “ขับไล่ทหาร” ด้วยความห่วงใยท่านก็ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐของท่าน “ตักเตือน” ไม่ให้กลุ่มนิสิตนักศึกษา “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” อย่างในกรณีที่ท่านเขียนถึงการล่าสัตว์ของกลุ่มข้าราชการที่ทุ่งใหญ่นเรศวรในตอนต้นปี ๒๕๑๖ ที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาได้ก่อตัวขึ้นโจมตีรัฐบาล แม้แต่ในกรณีที่มีนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงถูกไล่ออกในเรื่องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ท่านก็แสดงความเห็นผ่านบทความหนังสือพิมพ์ขอให้นักศึกษาต้องระมัดระวังการเคลื่อนไหว ไม่ให้ถูกฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐเข้าปราบปราม ทั้งหมดนี้ก็เพราะท่านมีความเชื่อว่า นิสิตนักศึกษาจะต้องล้มตายมาก ถ้า “บุ่มบ่าม” ชุมนุมกันอย่างไม่ระมัดระวัง

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า เหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ น่าจะรุนแรงและเกิดความเสียหายคือน่าจะมีคนบาดเจ็บล้มตายมากกว่านั้น รวมถึงเหตุการณ์ก็คงจะยังยืดเยื้อและเป็นสงครามกลางเมืองได้ แต่ด้วยเหตุที่มี “ผู้หลักผู้ใหญ่” จำนวนหนึ่งพยายามหาทางแก้ไขและช่วยเหลือนิสิตนักศึกษา ภาพจึงปรากฏเห็น “พระมหากรุณาธิคุณ” เกิดขึ้น และนำมาซึ่งการสงบศึกในเย็นวันที่ ๑๔ ตุลาคมนั้น

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า หลังจากที่มีการสงบศึกแล้ว นิสิตนักศึกษายังคงดำเนินยุทธวิธี “รุกไล่” ฝ่ายทหารอยู่อย่างไม่ยั้งมือ พร้อมกับภาพลักษณ์ของกระบวนการนิสิตนักศึกษาก็ “เสื่อมทราม” ลงเรื่อยๆ เพราะการที่ไม่เคารพกฎหมาย ก่อการประท้วงเต็มบ้านเต็มเมือง รวมถึงเข้าร่วมและสนับสนุนการประท้วงของกระบวนการคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคต่างๆ ที่สุดทหารก็ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” ขึ้นมาทำลายขบวนการของนิสิตนักศึกษา จนประสบความสำเร็จและยึดอำนาจคืนได้ด้วยการทำรัฐประหารในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

ประเด็นของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็คือ ด้วยเหตุที่กลุ่มนิสิตนักศึกษา “ไม่ชอบคุยกับผู้ใหญ่” โดยรังเกียจว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในต้นปี ๒๕๑๘ นั้นเป็นพวก “นายทุนขุนศึก” แม้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคการเมืองในแนวสังคมนิยมจะชนะเลือกตั้งเข้ามาได้เป็นจำนวนพอสมควร แต่ก็ดูเหมือนจะ “ตั้งป้อม” คือมุ่งแต่จะเป็นฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลไปในทุกเรื่อง ซึ่งในตอนนั้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ โดยเมื่อมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น ท่านก็พยายามที่จะพูดคุยกับกลุ่มนิสิตนักศึกษา รวมทั้งกลุ่มประท้วงต่างๆ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับความร่วมมือ และยังคงมีการก่อความวุ่นวายไม่สิ้นสุด ดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ภาพรวมของกระบวนการนิสิตนักศึกษาในยุคนั้นแบบสุภาพนิ่มนวลว่า “ใช้เสรีภาพเกินขอบเขต”

ผู้เขียนจึงนำมาเปรียบเทียบกับขบวนการของคนหนุ่มสาวในยุคนี้ ที่บางอย่างก็ยังดูคล้ายกันกับคนหนุ่มสาวในยุค ๑๔ ตุลา ๑๖ และ ๖ ตุลา ๑๙ ที่ยังคง “มุทะลุดุดัน” เดินหน้า “ต่อต้านสังคม” อย่างดุเดือด โดยไม่พยายามที่จะหาช่องทางพูดคุย หรือดำเนินยุทธศาสตร์การเมืองที่ “สุขุมลุ่มลึก” ให้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตามในรายชื่อ ส.ส.ของพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ผู้เขียนก็พอสังเกตเห็นว่ายังคงมี “ผู้หลักผู้ใหญ่” อยู่บ้าง ซึ่งคนเหล่านั้นก็น่าจะช่วยให้คำแนะนำจนกระทั่ง “ตักเตือน” แก่ “เด็กๆ ในพรรค” ให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและการกระทำบางอย่างให้ “ดูดีขึ้น” ได้บ้าง

ผู้เขียนโดยส่วนตัวตอนนี้ก็น่าจะอยู่ในวัยที่เป็น “ผู้หลักผู้ใหญ่” ได้เช่นกัน อีกทั้งก็ยังสนใจติดตามการเมืองไทยมานานตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยม ได้ทำงานกับ “นักการเมืองผู้ใหญ่” คือท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่เกือบสิบปี และประกอบอาชีพเป็นอาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์มากว่าสามสิบปี จึงอยากจะให้คำแนะนำแก่คนรุ่นใหม่ในสมัยนี้สักเล็กน้อยว่า แน่นอนว่าบ้านเมืองเราตอนนี้ในเรื่องของการเมืองมันแย่มากๆ โดยเฉพาะสภาพที่เรายังปกครองอยู่ในระบอบเผด็จการ แต่ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยเราก็ต้องทำให้คนไทยเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยให้ได้เสียก่อน และต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยที่คนไทย “ยอมรับได้” ไม่ใช่ไปทำลายล้างบางสิ่งบางอย่างแล้วสร้างอะไรที่ “แปลกปลอม” ขึ้นมาใหม่

“สงครามระหว่างวัย” ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ลองคุยกับผู้ใหญ่แล้วใช้ “สันติวิธี” สร้างขึ้นเถิด