posttoday

หมอดูรัฐศาสตร์ : (๔) ชะตากรรมของคนไทย

05 พฤษภาคม 2562

เราน่าจะได้เห็นภาพของการประสานประโยชน์กันครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะด้วย “ความเป็นคนไทย” ที่สืบทอดกันมานับเป็นพันๆ ปี หรือด้วย “กฤษดาภินิหาร”ที่คุ้มครองปกป้องคนไทยตลอดมา ซึ่งจะทำให้สังคมไทยยังคง “ก้าวเดิน” ได้อีกไกล

เราน่าจะได้เห็นภาพของการประสานประโยชน์กันครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะด้วย “ความเป็นคนไทย” ที่สืบทอดกันมานับเป็นพันๆ ปี หรือด้วย “กฤษดาภินิหาร”ที่คุ้มครองปกป้องคนไทยตลอดมา ซึ่งจะทำให้สังคมไทยยังคง “ก้าวเดิน” ได้อีกไกล

*************

โดย ทวี สุรฤทธิกุล

ช่วงเวลามหามงคล ต้องมองให้คนไทยเป็นสุข

มีนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส ชื่อนายหลุยส์ ฟิโนต์ ได้ศึกษาคนไทยไว้ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า “คนไทยเป็นนักปรับตัว” โดยเปรียบว่าคนไทยนั้นเหมือน “น้ำ”ที่ธาติแท้นั้นมีความใสบริสุทธิ์ เหมือนกับ “ความอิสระเสรี”ของคนไทย ที่ไหลซอกซอนไปทั่วทุกทิศ (จากประวัติศาสตร์เรื่องคนไทยที่อพยพมาจากภาคกลางของจีน แล้วแผ่ซ่านตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในจีนตอนใต้และอินโดจีน)

เมื่อเผชิญอุปสรรคก็ “ไหลผ่าน” อุปสรรคนั้นไปได้ เหมือนน้ำเมื่อเจอที่แคบก็บีบตัวแทรกผ่านไป ครั้นไปสู่ที่กว้างก็กระจายตัวเอิบอาบไปทุกด้าน น้ำนั้นสามารถปรับตัวเข้ากับทุกสภาวะแวดล้อม เมื่ออยู่ในภาชนะใดก็คงรูปร่างเป็นไปตามภาชนะนั้น อากาศจะร้อนเย็นอย่างไร น้ำก็จะมีอุณหภูมิเช่นนั้น ที่สุดนายฟิโนต์บอกว่า “เมื่อท้องฟ้าเป็นสีใด น้ำก็สะท้อนสีท้องฟ้านั้น”ฟังดูแล้วช่างโรแมนติคและชวนปลาบปลื้มกับ “ความเป็นไทย”เสียจริงๆ

ตามแนวคิดนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกเปรียบเทียบกับการฝ่าฟันปัญหาทางการเมืองต่างๆ ของคนไทย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ “ไร้ความรุนแรง”อันเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของการเมืองไทย นั่นก็คือ “การปรับตัว”เข้ากับผู้ปกครองและรูปแบบการปกครองได้ทุกคณะและทุกรูปแบบมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งสิ่งนี้คงไม่ใช่แค่ “ความสามารถ” แต่น่าจะเป็น “วัฒนธรรม”ที่คนไทยถูกหล่อเลี้ยง “ซึมซับ”มาเช่นนั้น อันน่าจะเรียกได้ว่านี่คือ “ชะตากรรมของคนไทย”

นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มตั้งประเด็นว่า “การปกครองของไทยเต็มไปด้วยความรุนแรง”โดยอ้างถึงการผลัดแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี แล้วมาเชื่อมโยงเข้ากับการเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบันว่า ก็ยังเต็มไปด้วยการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจกันและกัน ทำให้เป็นประชาธิปไตยได้ยาก และบ้านเมืองไม่เจริญ

ดังที่เราได้เห็นวาทกรรมแนวนี้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคมที่ผ่านมา นั่นก็คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านเผด็จการ กับคนรุ่นเก่าที่ต่อต้านการล้มเจ้า ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นความคิดที่สร้างความขัดแย้ง ไม่เป็นไปตามวัฒนธรรมที่ว่าคนไทยนี้รักสงบและพยายามประสานประโยชน์กันเรื่อยมา

ตัวแบบการเมืองที่แสดงแบบอย่างของ “การเมืองการปกครองแบบไทยๆ”ได้ดีที่สุดก็คือ “การประนีประนอมและรู้จักประสานประโยชน์” ที่มีมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และมีความเด่นชัดที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๕ สืบเนื่องมาถึงรัชกาลที่ ๗ รวมถึงในสมัยรัชกาลที่ ๙ ที่ผ่านมา โดยที่ในช่วงรัชกาลที่ ๔ และ ๕ พระมหากษัตริย์ต้องประนีประนอมและประสานผลประโยชน์กับกลุ่มขุนนางทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

ในขณะที่นอกประเทศก็ต้องใช้นโยบาย “ไผ่ลู่ลม” เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียเอกราชและดินแดน ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ที่ทรงทราบดีว่าสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังมีภัยจากความต้องการของคนบางกลุ่มที่คิดจะ “จำกัด” พระราชอำนาจ จนถึง “กำจัด”การมีอยู่ซึ่งสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ แต่ก็ทรงใช้ความอดทนพร้อมกับเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ด้วยการเร่งให้มีรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่ยังไม่ทันสมบูรณ์ คณะราษฎรก็ชิงยึดอำนาจเสียก่อน แต่รัชกาลที่ ๗ ก็ทรงพยายามี่จะประสานประโยชน์เพื่อไม่ให้คนไทยต้องเสียเลือดเนื้อ ทรงประนีประนอมยอมพระองค์ลงมาอยู่ใต้ตามรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรต้องการ จนเมื่อทรงเห็นว่าคณะราษฎรไม่ได้คิดสร้างประชาธิปไตยที่แม้จริง จึงทรงต้องสละราชสมบัติในที่สุด

การเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๙ ก็เช่นเดียวกัน คือเต็มไปด้วยการแก่งแย่งอำนาจของผู้ปกครอง โดยเฉพาะทหารกับนักการเมือง แต่ก็ทรงประสานประโยชน์ให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันต่อไปได้ แม้ในยามที่บ้านเมืองเป็นจลาจล เช่น ในเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ ก็ทรงเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ด้วยพระราชขันติ จนเหตุการณ์คลี่คลายไปได้ด้วยดี

นอกจากนี้ในช่วงที่ประเทศไทยถูกภัยแทรกซึมจากคอมมิวนิสต์ พระองค์ท่านก็ไม่ได้คิดที่จะแบ่งแยกคนไทยตามที่ผู้ปกครองคือทหารในช่วงนั้นพยามจะระบายสีคนไทย ที่สุดเมื่อมีทหารที่เข้าใจในพระราชหฤทัยที่แท้จริง จึงได้มีนโยบาย ๖๖ /๒๕๒๓ ให้คนไทยให้อภัยแก่พวกที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ จากนั้นเราก็ไม่มีปัญหาเรื่องลัทธิและอุดมการณ์ที่รุนแรงอะไรอีกเลย

อนึ่ง ความขัดแย้งในทางการเมืองไทยหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะในระยะ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้ ที่ได้เกิด “สงครามสี” มาโดยตลอด แต่คนไทยก็ไม่ได้ถึงกับการก่อการจลาจลฆ่าฟันกันเอง จะมีก็แต่ “มือที่สาม” ที่เข้ามาสร้างสถานการณ์เพื่อที่จะให้เกิดความรุนแรง (ต่างจาก ๑๔ ตุลา ๑๖ และพฤษภา ๓๕ ที่รัฐได้สั่งใช้กำลังทหาร) รวมถึงผู้มีอำนาจรัฐก็พยายามที่จะไม่ใช้ความรุนแรงนั้นด้วย ที่สะท้อนให้เห็นในภาพของ “ทหารแตงโม” หรือ “ตำรวจมะเขือเทศ”เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งก็คือคนไทยแม้จะเป็นผู้ที่ถืออาวุธ ก็มีความระมัดระวังที่จะใช้กำลังกับคนไทยนี้อยู่พอสมควร

ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเร็วๆ นี้ เช่น มีการเลือกตั้งใหม่ หรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ก็คงจะไม่มีใครกล้าใช้ความรุนแรง เพราะถ้า “วัฒนธรรมประนีประนอมและประสานประโยชน์”นี้เป็นจริง

เราน่าจะได้เห็นภาพของการประสานประโยชน์กันครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะด้วย “ความเป็นคนไทย” ที่สืบทอดกันมานับเป็นพันๆ ปี หรือด้วย “กฤษดาภินิหาร”ที่คุ้มครองปกป้องคนไทยตลอดมา ซึ่งจะทำให้สังคมไทยยังคง “ก้าวเดิน” ได้อีกไกล

แม้จะมีสะดุดบ้างก็เพราะหนทางไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ