posttoday

หนูน้อยถูกประทัดลูกบอลบึ้มใส่นิ้วขาด พบแม้มีประกาศห้ามแต่ยังมีวางขาย

11 ตุลาคม 2561

เด็ก 10 ขวบถูกประทัดลูกบอลระเบิดใส่มือนิ้วขาดที่อุดรธินี พบแม้มีประกาศห้ามขายแต่ก็ยังมีเล็ดรอดนำออกมาวางขายในตลาด

เด็ก 10 ขวบถูกประทัดลูกบอลระเบิดใส่มือนิ้วขาดที่อุดรธินี พบแม้มีประกาศห้ามขายแต่ก็ยังมีเล็ดรอดนำออกมาวางขายในตลาด

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นพ.ณรงค์ ธาดาเดช ผอ.โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เดินทางเข้าเยี่ยมสอบถามอาการ เด็กชายอายุ 10 ขวบ นักเรียนชั้น ป.5 ใน อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับบาดเจ็บถูกประทัดระเบิดใส่มือจนนิ้วขาดที่ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลบ้านดุงมารักษาที่ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี

มารดาของเด็กชาย กล่าวว่า ช่วงนี้ใกล้ออกพรรษา มีเด็กและวัยรุ่นเริ่มเล่นประทัดแล้ว จนเมื่อ 2 ทุ่มวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ลูกชายถูกประทัดที่มือบาดเจ็บ นำส่งโรงพยาบาลจึงรู้ว่าบาดเจ็บมากถึงพิการ สอบถามรู้ว่าเล่นกับรุ่นพี่ โดยเอาประทัดมาแกะรวมกัน ให้รุ่นพี่เป็นคนจุด ลูกชายเป็นคนโยน อยากฝากไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ดูแลบุตรหลานเล่นประทัด ในช่วงนี้มากๆด้วย

ขณะที่เด็กชาย กล่าวว่า เคยเล่นประทัดในปีที่แล้ว ก็เป็นประทัดธรรมดา เล่นแบบเอาไปวางไว้แล้วจุด ปีนี้เพื่อนรุ่นพี่แถวบ้านยาย 2-3 คน ชวนกันไปซื้อประทัดที่ตลาดบ้านดุง ตัวเองซื้อประทัด “ลูกบอล” 10 ลูกๆละ 1 บาท เอากลับมาเล่นที่บ้าน โดยเพื่อนรุ่นพี่เป็นคนรวมประทัด ให้มีเสียงดังกว่าเดิม และได้โยนไปหลายลูกแล้ว จนมาถึงตัวเองเป็นคนโยน รุ่นพี่เป็นคนจุดให้ แต่ยังไม่ทันโยนก็ระเบิดก่อน รู้สึกเจ็บและตกใจมากที่สุด ต่อไปจะไม่เล่นอีกแล้ว

ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เด็กถูกประทัดบาดเจ็บรุนแรง นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง กระดูกแตก , นิ้วกวางข้อนิ้วแรกขาดออก และฝ่ามือมีบาดแผลลึก บาดแผลสามารถรักษาให้หายได้ แต่ข้อนิ้วกลางขาดถือว่า “พิการถาวร” ซึ่งภาพเด็กๆบาดเจ็บจากประทัด จะเข้ามารับการรักษาทุกปีช่วงออกพรรษา ส่วนรายนี้ถือเป็นรายแรกของปี ซึ่งแด็กบอกว่าเอาประทัดมาแกะออก เอามารวมกันให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก

"ผู้บาดเจ็บจากประทัดอายุระหว่าง 5-15 ปี เข้ารับการตรวจรักษามากที่สุด ส่วนใหญ่จะเกิดที่มือ รุนแรงถึงขั้นนิ้วขาดพิการ รองลงมาคือแขน และที่ โรงพยาบาลอุดรธานี ยังเคยมีประวัติประทัดถูกที่ดวงตา รุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอด การป้องกันทำอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้น จะดีกว่าการมารักษาแบบนี้ ต้องช่วยกันกับทุกภาคี เริ่มตั้งแต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน สถานศึกษา ที่ต้องเฝ้าระวังเด็กๆของเรา ตลอดจนทางราชการ ที่กำกับการอนุญาตจำหน่าย ซึ่งผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ก็พยายามเร่งรัดในเรื่องนี้อยู่ "นพ.ณรงค์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เก็บสถิติผู้บาดเจ็บจากประทัด ที่เริ่มรุนแรงมากในปี 2555-2558 รวมแล้วมากถึง 488 ราย แม้คณะแพทย์จะร่วมกับภาคีรณรงค์ จนในปี 2559 เริ่มลดลงเมื่อมีประกาศห้ามขายประทัดบางชนิด อาทิ ลูกบอล เหลือผู้บาดเจ็บเพียง 41 ราย และในปี 2560 เหลือเพียง 23 ราย นอกจากนี้สถิติยังเห็นได้ชัดว่า ประทัดลูกบอลมีความรุนแรงมาก เพราะผู้บาดเจ็บ 81.77%เกิดจากประทัดลูกบอล ที่เหลือเป็นประทัดอื่นๆอีก 8 ชนิด โดยผู้บาดเจ็บจนพิการรายแรกปีนี้ ก็เกิดจากประทัดลูกบอล