posttoday

ภาค4เจรจาลับ2แกนนำป่วนใต้

14 กันยายน 2555

กองทัพภาค 4 ประสานเจรจาลับกับ 2 แกนนำ บีอาร์เอ็นค่าหัว 10 ล้านบาทวางอาวุธสงบศึกไฟใต้

กองทัพภาค 4 ประสานเจรจาลับกับ 2 แกนนำ บีอาร์เอ็นค่าหัว 10 ล้านบาทวางอาวุธสงบศึกไฟใต้

พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 กล่าวว่า ได้มีการประสานกับผู้นำศาสนาผู้นำท้องถิ่น ที่ได้รับความเชื่อถือจาก 2 แกนนำกองกำลังติดอาวุธกลุ่ม บีอาร์เอ็น โคออดิเนต คือ 1.นายสะแปอิง บาซอ ซึ่งมีค่าหัวรางวัลนำจับ 10 ล้านบาท ที่หน่วยงานความมั่นคงเชื่อว่าหากการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สำเร็จจะได้รับความไว้วางใจเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐปัตตานี 2.นายมะแซ อุเซ็ง ซึ่งมีค่าหัวรางวัลนำจับ 3 ล้านบาท ที่หน่วยงานความมั่นคงเชื่อว่าหากการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สำเร็จจะได้รับความไว้วางใจเป็น ผบ.ทบ.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 คน ได้หลบหนีคดีไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศที่ 3 หลังจากที่นายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ หรือเจ๊ะอาลี ผู้ต้องหาซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญที่วางแผนบุกปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 ที่ผ่านมา ได้นำพวก 100 คน เข้าแสดงตัวยืนยันเพื่อยุติการต่อสู้กับภาครัฐเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2555 ที่ผ่านมานั้น
 
ทั้งนี้ทางกองทัพภาค 4 ได้ส่งนายทหารร่วมเดินทางไปกับผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่นร่วมเจรจาในทางลับเพื่อให้ทั้ง 2 คน ได้แสดงตัวยืนยันเพื่อยุติการต่อสู้กับภาครัฐ ซึ่งการเจรจาอยู่ในระหว่างขั้นตอนการต่อรองในเรื่องของคดี รวมไปถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ต้องการให้ภาครัฐให้ความยุติธรรมโดยประเด็นสำคัญขอดูผลจากการที่นายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ ได้วางอาวุธว่า ภาครัฐให้ความยุติธรรมระดับไหน และข้อเรียกร้องต่างๆที่ยืนเสนอไปนั้น ภาครัฐตอบสนองได้มากน้อยเพียงใด และหากแกนนำ 2 คน อย่างนายสะแปอิง บาซอ และนายมะแซ อุเซ็ง ยอมลดบทบาทเข้าแสดงตัวยืยยันเพื่อยุติการต่อสู้กับภาครัฐคาดว่าอาจจะมีสมาชิกกองกำลังติดอาวุธกลุ่ม บีอาร์เอ็น.โคออดิเนต อีกจำนวน 10-15 คน วางอาวุธด้วย
 
ขณะเดียวกันแหล่งข่าวจากกองทัพนายหนึ่ง เปิดเผยว่า การเจรจาลับกับแกนนำของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆที่ต้องการให้ลดบทบาทในการวางอาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องการที่จะให้มีการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะชน เนื่องจากเกรงกลุ่มที่ถูกเจ้าหน้าที่ทาบทามหรือติดต่อประสานให้วางอาวุธเกิดความกดดัน โดยเฉพาะในประเด็นการเจรจากับกลุ่มเหล่านี้ถือว่าทางกองทัพเกิดความพ่ายแพ้จึงได้มีการเจรจาในที่สุด