posttoday

คนไทยพ้นมลทินคดีโทโมโกะ-ยธ.แกะรอยผู้ต้องสงสัยเกาหลี-ญี่ปุ่น

23 กรกฎาคม 2563

ยุติธรรมแถลงผลดีเอ็นเอขอบกางเกงโทโมโกะเป็นสารพันธุกรรมเกาหลี-ญี่ปุ่น ใช้กม.ความร่วมมือระหว่างประเทศเชิญผู้ต้องสงสัยตรวจเทียบสอบประวัติอาชญากรเข้าพื้นที่วันเกิดเหตุหรือไม่ ส่วนคนงานคอกหมูพ้นมลทิน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และพ.ต.อ กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีดีเอสไอ.และนพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ผอ กองสาร.พันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แถลงคดีฆาตกรรมน.ส.โทโมโกะ คาวาชิตะ นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ถูกฆาตกรรมเสียชีวิตที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยปี 2550 โดยมี นายโทโมยูกิ ฟูจิยามะ หัวหน้านายตำรวจญี่ปุ่นและนายฮิโรยูกิ มูระมัตสึ เลขานุการโทและกงสุล เข้าร่วมรับฟัง

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ดีเอสไอรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษตั้งแต่ปี 56 และทำการสืบสวนมาอย่างต่อเนื่องและยุติการสอบสวนเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เนื่องจากไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด ล่าสุดได้มีผู้ให้ข้อมูลว่ามีผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้ แต่ได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2553 ดีเอสไอจึงนำกระดูกของผู้ต้องสงสัยรายดังกล่าวมาทำการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกัับสารพันธุกรรมที่พบที่ขอบกางเกงของน.สโทโมโกะฯ แต่ไม่สามารถตรวจหาสารพันธุกรรมจากกระดูกได้เนื่องจากกระดูกถูกเผาด้วยความร้อนสูง

"ต่อมาพนักงานสืบสวนทราบว่า ผู้ต้องสงสัยรายดังกล่าวมีบุตรชายหนึ่งคน จึงได้ทำการเก็บสารพันธุกรรมเพื่อนำมาเปรียบเทียบค่าโครโมโซม Y ตามหลักการทางนิติวิทยาศาสตร์ ในการพิสูจน์การเป็นบิดาบุตร และยังทราบอีกว่าผู้ต้องสงสัยยังมีพี่ชายต่างมารดา และหลานชายอีกหนึ่งคน ซึ่งทำงานอยู่ที่ไต้หวัน พนักงานสืบสวน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ จึงได้เดินทางไปไต้หวันเมื่อปลายปี62 เพื่อทำการเก็บสารพันธุกรรมนำมาตรวจหาความสัมพันธ์ของค่าโครโมโซม Y ซึ่งผลการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมของบุคคลทั้งสามของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์พบว่าสารพันธุกรรมของบุคคลทั้งสามไม่ตรงหรือไม่มีความสัมพันธ์กับค่าโครโมโซม Y ที่ขอบกางเกงของน.ส.โทโมโกะ"นายสมศักดิ์ กล่าว

น.พ.วรวีร์ กล่าวว่า พนักงานสืบสวนได้ส่งวัตถุพยานของผู้ตาย ซึ่งประกอบด้วย เสื้อยืดแขนสั้นสีขาว, เสื้อแขนยาวสีน้ำตาล, กางเกงขาสามส่วนสีน้ำเงิน ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจพิสูจน์ซ้ำอีกครั้งโดยใช้วิธีการตรวจหารูปแบบสารพันธุกรรมด้วยน้ำยาใหม่ที่ตรวจจากเดิม 16 ตำแหน่ง เป็น 24 ตำแหน่ง ซึ่งผลการตรวจทำให้พบรูปแบบสารพันธุกรรมเพิ่มขึ้น จากเดิมที่พบ 16 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นเป็น 22 ตำแหน่ง จาก 24 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนหาผู้กระทำผิดมากขึ้น และจากการตรวจพิสูจน์และวิเคราะห์รูปแบบสารพันธุกรรมบนโครโมโซม Y (Y Chromosome) จากกางเกงขาสามส่วนสีน้ำเงินในฐานข้อมูล สารพันธุกรรมเพศชาย YERD ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์จากเครือข่ายนิติพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความเห็นตรงกันว่า สารพันธุกรรมดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับคนเชื้อชาติญี่ปุ่นหรือเกาหลี และเห็นว่าควรแจ้งข้อมูลให้ญี่ปุ่นรับทราบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสืบสวนต่อไป

พ.ต.ท กรวัชร์ กล่าวว่า จากการหารือกับหัวหน้าตำรวจประจำสถานทูตญี่ปุ่นขอให้ดีเอสไอ นําพยานหลักฐานที่เป็นดีเอ็นเอ ซึ่งตรวจพบที่เสื้อผ้าของผู้ตาย ประสานกับทาง INTERPOL เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลอาชญากรของ INTERPOL ซึ่งคณะพนักงานสืบสวนกำลังหาแนวทางการนำสารพันธุกรรมต้นแบบที่มีอยู่ไปค้นหาในฐานข้อมูลของ INTERPOL ต่อไป และคณะพนักงานสืบสวนได้ประสานกับหัวหน้านายตำรวจประจำสถานทูตญี่ปุ่น เพื่อดำเนินการตามช่องทางกฎหมายความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้ทางการญี่ปุ่นดำเนินการร้องขอต่อศาลในการเชิญตัวผู้ต้องสงสัยชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่น มาตรวจสารพันธุกรรม เพื่อนำมาตรวจเปรียบเทียบกับสารพันธุกรรมที่พบที่ขอบกางเกงของนางสาวโทโมโกะ

"นอกจากนี้พนักงานสืบสวนจะทำการสืบสวนเพิ่มเติมว่า ในช่วงเกิดเหตุ นอกจากผู้ต้องสงสัยรายดังกล่าวแล้ว ยังมีชาวเกาหลีหรือชาวญี่ปุ่น เข้ามาเที่ยวในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยในช่วงวันเวลาเกิดเหตุอีกหรือไม่"อธิบดีดีเอสไอ กล่าว