posttoday

ศาลใช้คอนเฟอเรนซ์ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังลดเสี่ยงโควิด-19

31 มีนาคม 2563

เลขาฯศาลยุติธรรม มีหนังสือด่วนถึงอธิบดีราชทัณฑ์ ยึดแนวใช้คอนเฟอเรนซ์ศาล-เรือนจำ ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขัง แจ้ง ผบ.ตร.-อธ.ดีเอสไอ ปฏิบัติตามแนวขอออกหมายจับ-หมายค้น ระบบ IT ออนไลน์

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.63 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมแนบส่งระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หรือสถานที่กักขัง ในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease: COVID-19) พ.ศ.2563 แจ้งให้ทราบว่าหลังจากนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ลงนามในระเบียบดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไปนั้น เพื่อประโยชน์ในการการปฏิบัติงานตามระเบียบดังกล่าวระหว่างศาลยุติธรรมกับเรือนจำ จึงขอให้ดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะเดียวกันวันนี้ ตนยังได้มีหนังสือเวียนแจ้งถึง หัวหน้าหน่วยงานสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมด้วย ให้ปฏิบัติตามแนวทางการออกหมายขังและหมายปล่อย กรณีการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลสูงและศาลชั้นต้นในลักษณะการประชุมทางจอภาพด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้ ตามที่ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลสูงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ พ.ศ.2562 และประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอ่านคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลสูงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ กำหนดให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการแนวทางปฏิบัติของศาลในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการอ่านคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลสูง ในลักษณะการประชุมทางจอภาพมาใช้บังคับกับกรณีที่มีการนัดอ่านคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในลักษณะการประชุมทางจอภาพกับเรือนจำหรือศาลปลายทางโดยอนุโลมนั้น เนื่องจากปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ รวมถึงบุคลากรต่างๆในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การออกหมายขังและหมายปล่อย หลังจากที่มีการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลสูงและศาลชั้นต้นในลักษณะการประชุมทางจอภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดการมาศาลป้องกันบุคลากรจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว สำนักงานศาลยุติธรรมจึงเห็นควรกำหนดแนวทางในการออกหมายขังและหมายปล่อยดังกล่าว

นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุด้วยว่า นอกจากกรมราชทัณฑ์แล้ว ตนยังมีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 31 มี.ค.ถึง ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ด้วย เรื่องขอความร่วมมือในการขอออกหมายจับและหมายค้นโดยทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ

ซึ่งเนิ้อหานั้น ศาลยุติธรรมได้ขอความร่วมมือ ให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินการขอออกหมายจับ และหมายค้น ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติงานสำนักงานศาลยุติธรรมที่ได้ประกาศใช้แนวทางการยื่นคำร้องขอออกหมายจับและหมายคัน , การรับคำสั่ง , การออกหมาย ทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ.2548 ข้อ 28-34 ซึ่งกำหนดแนวทางปฏิบัติงานของศาลในการยื่นคำร้องขอออกหมายจับและหมายค้น ทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ และการไต่สวนคำร้องผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ , แอปพลิเคชั่นหรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้การดำเนินการออกหมายจับและหมายคันตามคำร้องของเจ้าพนักงานเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว ลดการเดินทางมาศาล และให้การออกหมายจับและหมายค้นป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน กับเพื่อความปลอดภัยด้านสุขอนมัยของเจ้าพนักงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้สามารถดาวน์โหลดแนวทางปฏิบัติงานดังกล่าว ได้ที่ htp://www.oja.cojgo.th หรือผ่าน QR CODE

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หรือสถานที่กักขังฯ นั้น กำหนดเนื้อหาเพื่อปฏิบัติดังนี้

- ในการติดต่อระหว่างศาล กับพนักงานสอบสวน , พนักงานอัยการ , ทนายความ , คู่ความในคดี และเจ้าพนักงานเรือนจำหรือเจ้าหน้าที่สถานที่กักขัง อาจกระทำโดยโทรสาร (แฟกซ์) , สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นก็ได้

- การสอบถามผู้ต้องหา หรือทำการไต่สวนพยานหลักฐานในการออกหมายขังผู้ต้องหา ศาลพึงพิจารณาดำเนินการให้มีการสอบถาม โดยถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87/1 และข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการสอบถามผู้ต้องหา หรือทำการไต่สวนพยานหลักฐานในการออกหมายขังผู้ต้องหาในลักษณะประชุมทางจอภาพ พ.ศ.2556 และพึงอนุโลมใช้กับการยื่นคำร้องขอหมายขังและการสอบถามผู้ต้องหา ตั้งแต่ครั้งแรกด้วย

- การถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ , การอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง , การสอบถามคำให้การ , การตรวจพยานหลักฐาน และการสืบพยาน ศาลพึงพิจารณาดำเนินการโดยถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการสืบพยานคดีอาญาในลักษณะการประชุมทางจอภาพ พ.ศ.2556 โดยอนุโลม

- การอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ศาลพึงพิจารณาดำเนินการโดยถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการอ่านคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลสูงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ พ.ศ.2562 โดยอนุโลม

ศาลใช้คอนเฟอเรนซ์ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังลดเสี่ยงโควิด-19

ศาลใช้คอนเฟอเรนซ์ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังลดเสี่ยงโควิด-19

ศาลใช้คอนเฟอเรนซ์ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังลดเสี่ยงโควิด-19