posttoday

วสท.ตรวจเจดีย์วัดพระยาทำยุบทับคนงาน คาดเหตุจากดินอ่อนตัว

25 กันยายน 2561

วิศวกรรมสถาน เข้าตรวจสอบเจดีย์วัดพระยาทำยุบตัวทับคนงานเจ็บ คาดเหตุจากดินอ่อนตัว เตรียมใช้เครื่องสแกน3มิติประเมินว่าจะล้มลงมาหรือไม่

วิศวกรรมสถาน เข้าตรวจสอบเจดีย์วัดพระยาทำยุบตัวทับคนงานเจ็บ คาดเหตุจากดินอ่อนตัว เตรียมใช้เครื่องสแกน3มิติประเมินว่าจะล้มลงมาหรือไม่

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. เวลา 15.20 น. สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย รองศาตราจารย์(รศ.) เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา และ รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วสท. ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายเหตุ เจดีย์วัดพระยาทำ ย่านบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ที่อยู่ระหว่างบูรณะได้พังยุบตัวลง จนคนงานได้รับบาดเจ็บ 11 คน

รศ.เอนก กล่าวว่า จากการสังเกตเบื้องต้นทราบว่า เจดีย์ทั้งองค์ยังไม่ถล่มลงมา เพียงแต่ยุบตัวเท่านั้น ปกติแล้วสิ่งปลูกสร้างตามแนวดิ่งจะล้มเอียงทางด้านข้างมากกว่า 1 ใน 3 ส่วน เช่น ในความสูง 10 เซนติเมตร หากมีความลาดเอียง 1-2 เซนติเมตรก็มีแนวโน้มจะถล่มได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี

อย่างไรก็ตามในวันที่ 26 ก.ย. วสท.จะขอความร่วมมือกับภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการนำเทคโนโลยีเครื่องสแกน 3 มิติ มาตรวจสอบว่าจะมีการล้มลงมาหรือไม่ และจะให้กรมศิลป์ฯ ดำเนินการบูรณะต่อไป

สำหรับการยุบตัวนั้นคาดว่าสาเหตุมาจากการยกฐานขึ้นมาระหว่างซ่อมบูรณะ ซึ่งหวังว่าจะไม่มีแรงลมจากพายุมาเป็นอุปสรรค

อย่างไรก็ตาม บางครั้งทางวัดมักจะดำเนินการโดยไม่แจ้งแบบแผน ทั้งการก่อสร้างพระพุทธรูป หรือยกย้ายสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งล้วนเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมในท้องถิ่น เช่น ในกรณีนี้คือกรุงเทพมหานคร ที่จะหาวิศวกรมาทำการสำรวจและกำหนดวิธีการรื้อถอนปรับปรุง แต่เนื่องจากกรณีนี้มีหน่วยงานรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเกิดข้อสงสัยว่ามีคำสั่งระงับใช้อาคารหรือไม่

รศ.สิริวัฒน์ กล่าวว่า จากการยุบตัวดังกล่าวเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเนื้อดินที่รองรับตัวเจดีย์คงมีความอ่อนตัว ทำให้รอยต่อของโครงสร้างภายในเคลื่อนตัวตามไปด้วย

ทั้งนี้ เจดีย์ดังกล่าวเป็นโครงสร้างโบราณไม่เหมือนสมัยใหม่ จึงไม่มีโครงเหล็กยึดภายใน ฉะนั้นระหว่างการซ่อมแซมโครงสร้างภายนอกตามหลักวิศวกรรมจะต้องเสริมโครงสร้างเฝือกให้ผิวนอกของเจดีย์เป็นเนื้อเดียวกันก่อน จึงค่อยยกฐานเจดีย์ตามเดิม

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังพระลูกวัด ทราบว่า เจดีย์ดังกล่าวถูกเรียกกันว่าเจดีย์ยักษ์ แต่เดิมเป็นหอระฆังมีอายุนานหลายร้อยปีซึ่งอยู่ระหว่างการตกแต่งพื้นผิวภายนอกใหม่ และยกระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 1.3 เมตรจากเดิม โดยเริ่มซ่อมแซมตั้งแต่เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะยุบตัวจนยอดหักโค่นลงมาตามที่เป็นข่าว และอธิบายอีกว่า ในการซ่อมแซมโบราณสถานต่างๆ จะต้องมีการทำพิธีบวงสรวงตามประเพณีความเชื่อพราหมณ์ แต่ตนทราบมาว่าในการซ่อมแซมครั้งนี้ มีเพียงการนำพวงมาลัยมาไหว้เท่านั้น

วสท.ตรวจเจดีย์วัดพระยาทำยุบทับคนงาน คาดเหตุจากดินอ่อนตัว

วสท.ตรวจเจดีย์วัดพระยาทำยุบทับคนงาน คาดเหตุจากดินอ่อนตัว