posttoday

โพลชี้แรงงานต่างด้าวมีรายได้-ความสุขมากกว่าแรงงานไทย

04 พฤศจิกายน 2560

ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจ พบ แรงงานต่างด้าวมีรายได้ - ความสุขมากกว่าแรงงานไทย

ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจ พบ แรงงานต่างด้าวมีรายได้ - ความสุขมากกว่าแรงงานไทย

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง โพลแรงงานไทย ยุคทอง คนต่างด้าว กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนไทยทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,065 คน และงานต่างด้าว เมียนมา ลาว และ กัมพูชาจำนวน 400 คน ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 15 ต.ค.-3 พ.ย.ว่า สิ่งที่น่าสนใจคือผลสำรวจรายได้เฉลี่ยต่อเดือนจากการทำงานในครัวเรือนที่ศึกษา โดยแรงงานต่างด้าวมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 28,458.47 บาทต่อเดือน ขณะที่ แรงงานไทย มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 27,395.60 บาทต่อเดือน นอกจากนี้แรงงานไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.3 ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่นายจ้าง จ้างแรงงานต่างด้าว เพราะจ่ายน้อยกว่า และร้อยละ 39.8 ของผู้ทำการสำรวจยังเคยถูกแย่งอาชีพจากแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ ผลสำรวจด้านพฤติกรรมการดื่มสุรา ของแรงงานต่างด้าวกับแรงงานไทยยังพบว่าแรงงานต่างด้าวดื่มสุรามากกว่าแรงงานไทย คือร้อยละ 42.6 ต่อร้อยละ 28.5 ขณะที่ ค่าเฉลี่ยความสุขที่ได้จากการทำงาน แรงงานต่างด้าวมีค่าเฉลี่ยความสุขอยู่ที่ 8.15 คะแนน สูงกว่าแรงงานไทยที่มีความสุขจากการทำงานเฉลี่ย 6.24 คะแนน

นายธนิช นุ่มน้อย อดีตผู้ตรวจราชการและอดีตรองอธิบดี กรมการจัดหางานกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผลสำรวจที่ออกมาสะท้อนถึง หลายอย่างในการจัดหางานของแรงงานไทย เช่น ค่าเฉลี่ยรายได้แต่ละเดือนของแรงงานต่างด้าวสูงกว่าไทย เพราะมีเงินเก็บมากกว่า ทั้งที่ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าเนื่องจากแรงงานต่างด้าว มีการใช้จ่ายและค่าใช้จ่าย หรือภาระในแต่ละวันน้อยกว่าแรงงานไทย

ขณะที่ ค่าเฉลี่ยอัตราความสุข ของแรงงานต่างด้าว มีความสุขมากกว่า สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต เกี่ยวกับรายได้เฉลี่ยที่แรงงานต่างด้าวได้รับอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวในการทำงานบางอย่าง เนื่องจากประเทศไทยขาดแรงงานระดับล่าง  แต่แนวทางในการแก้ไขปัญหาคือจะต้องจัดระบบทั้งเรื่องของกฎหมาย มาตรการ ซึ่งต้องเปิดโอกาส และอาชีพให้กับแรงงานไทยก่อน รวมทั้งระบุอย่างชัดเจนว่าอาชีพใดที่แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้และทำไม่ได้ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับการปรับกฎหมายให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ขณะที่แรงงานไทย จะต้องได้รับการฝึกอบรม ทักษะความรู้ความสามารถการทำงาน รวมถึงได้รับโอกาสในตำแหน่งงาน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนด้วย

ภาพประกอบข่าว