posttoday

ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ถวายแด่...พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

26 ตุลาคม 2560

ตามโบราณราชประเพณี เพื่อให้ประชาชนคลายความเศร้าในห้วงไว้ทุกข์

โดย ชุติมา สุวรรณเพิ่ม, ภาดนุ จั่นประดับ

ตามโบราณราชประเพณี เพื่อให้ประชาชนคลายความเศร้าในห้วงไว้ทุกข์ และเป็นการออกทุกข์ในคราวเดียวกัน รวมทั้งให้ได้ชมการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงจากราชสำนัก จึงมีการจัดแสดงมหรสพสมโภชออกพระเมรุ เป็นส่วนหนึ่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งจะเริ่มในค่ำวันนี้ กรมศิลปากรจัดการแสดงมหรสพสมโภช ทั้งหมด 4 จุด

ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ถวายแด่...พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

 

จุดที่ 1 ทางทิศเหนือ เป็นการแสดงหนังใหญ่ เบิกหน้าพระ การแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอกเรื่องรามเกียรติ์

จุดที่ 2 ทางทิศตะวันออก ฝั่งศาลฎีกา เป็น การแสดงละคร เรื่องพระมหาชนก อิเหนา และ มโนห์รา หุ่นหลวง หุ่นกระบอก

จุดที่ 3 ทางทิศตะวันตก ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการบรรเลงดนตรีสากล และการแสดงบัลเลต์มโนห์รา ประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ 7 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 ดุจหยาดทิพย์ชโลมหล้า องก์ที่ 2 ใต้ฟ้าร่มเย็น เพราะพระบารมี องก์ที่ 3 ทวยราษฎร์น้อมสดุดี องก์ที่ 4 ถวายภักดีองค์ราชัน องก์ที่ 5 สถิตนิรันดร์ในใจราษฎร์ องก์ที่ 6 ปวงข้าบาทบังคมถวาย และองก์ที่ 7 ธ สู่สวรรคาลัยในทิพย์วิมาน

การแสดงทั้ง 3 เวที จะเริ่มแสดงเวลาประมาณ 19.00-20.00 น. และจะแสดงอีกครั้งในเวลา 24.00 น.

การแสดงในจุดที่ 4 การแสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม (หน้าพระเมรุมาศ) จัดแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ- การแสดงรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ-แสงอาทิตย์ ศรพรหมาสตร์ เริ่มการแสดง 20.00 น.

"พระมหาชนก" ละครที่คนไทยรักบูชา

ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ถวายแด่...พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

 

เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเผยแพร่ พระอัจฉริยภาพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดการแสดงละคร เรื่อง "พระมหาชนก" ใช้ผู้แสดงและทีมงานเบื้องหลังราว 150 คน ณ เวทีกลางแจ้ง บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ

พสกนิกรไทยล้วนรักและบูชาละครเรื่องนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยศึกษาค้นคว้า เรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่องโดย ทรงดัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย ทรงแปลมหาชนกชาดกเสร็จสมบูรณ์ ปี 2531 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล ให้เป็นเครื่องพิจารณา เพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของสาธุชนทั้งหลาย

วันทนีย์ ม่วงบุญ ผู้ชำนาญด้านนาฏศิลป์ไทย และผู้กำกับการแสดงละครเรื่องพระมหาชนก กล่าวว่า เนื่องจากตามบทพระราชนิพนธ์เป็นหนังสือ จึงนำบทละครของ อาจารย์เสรี หวังในธรรม ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาจัดทำเป็นรูปแบบละครชาดก

ฉากโดดเด่นคือพระมหาชนกแหวกว่ายน้ำกลางมหาสมุทร ทรงสนทนาธรรมกับนางมณีเมขลา และฉากพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรต้นมะม่วงใน พระราชอุทยาน ถือเป็นฉากสำคัญที่ทำให้เกิดเรื่อง พระมหาชนกขึ้น

"ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสดับพระธรรมเทศนา ณ วัดราชผาติการาม สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เทศนาชาดกเรื่องพระมหาชนกทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงมีผลรสดี ถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งจนโค่นลง ส่วนต้นที่ไม่มีผลกลับตั้งอยู่ตระหง่าน อันแสดงให้เห็นว่าสิ่งใดดีมีคุณภาพ มักจะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่ง และเป็นอันตรายในท่ามกลางผู้ขาดปัญญา พระมหาชนกพิจารณาด้วยพระสติปัญญาแล้ว จึงทรงให้ตั้งปูทะเลย์มหาวิชชาลัยตามคำของนางมณีเมขลา เพื่อเป็น สถานศึกษาให้ความรู้ และผลแห่งความเพียรและความ ตั้งมั่นทศพิธราชธรรมจึงทำให้บ้านเมือง ประชาราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุขสืบแต่นั้นมา

ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ถวายแด่...พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

 

ด้านการแต่งกายเป็นไปตามจินตนาการ อาจารย์เสรียึดรูปแบบกรมศิลปากร พระมหาชนกมี 3 ตัวละคร เมื่อทรงพระเยาว์ จนถึง 16 ชันษาแต่งยืนเครื่องพราหมณ์ และทรงเครื่องแบบพระมหากษัตริย์เมื่อขึ้นครองราชย์"

เอกลักษณ์การแสดงสำนักการสังคีต อาจารย์เสรีสอดแทรกการระบำเข้าไปด้วยเพื่อความสวยงาม และมีบทบาทของเทวดาซึ่งเป็นผู้รู้เรื่องราวทั้งหมด อาจารย์วันทนีย์ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดอรรถรส ผู้รับบทเทวดาซึ่งเป็นตลกหลวงก็จะมาเล่าเรื่องราวยาวๆ ปะติด ปะต่อตัดทอนสั้นๆ ประชาชนฟังแล้วก็จะเข้าใจได้ง่าย รับชมเรื่องราวได้สนุกสนาน

พระเอกของเรื่อง สมเจตน์ ภู่นา นาฏศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ผู้รับบท "พระมหาชนก" กล่าวว่า การแสดงละครพระมหาชนกเป็นสิ่งที่ยากพอสมควร ยิ่งต้องมารับบท "'พระมหาชนก" ซึ่งถือเป็นตัวละครหลักของเรื่อง ยิ่งต้องมีการซ้อมทั้งร้อง รำ และพูดไปพร้อมกัน

"การแสดงครั้งนี้ไม่มีการบอกบทเหมือนการแสดงอื่น ดังนั้น ทุกอย่างต้องชัดเจนและต่อเนื่อง ต้อง ครบถ้วนกระบวนความ ยกตัวอย่าง ภาษาในบทพูด 'หลังจากได้กระโดดจากยอดเสากระโดงเรือ' ถ้าไม่มีสมาธิ หรือเว้นวรรคไม่ดี ก็อาจจะพูดผิดได้เลย แม้จะซ้อมมาก่อนหน้านี้ก็รู้สึกประหม่าอยู่ดี

เดิมทีผู้ที่รับบทพระมหาชนกท่านแรกก็คือ รศ.ดร. ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งในครั้งนั้น ผมรับบทเป็น 4 อำมาตย์ ต่อมาเมื่อ อาจารย์ศุภชัย เกษียณอายุ จึงถ่ายโอนจากรุ่นสู่รุ่นจนมาถึงผมที่รับบทพระมหาชนก (ตอนเป็นกษัตริย์) อย่างในปัจจุบันนี้ ซึ่งผมมีโอกาสได้แสดงทั้งในโรงละครแห่งชาติและตามสถาบันการศึกษาต่างๆ มาหลายครั้ง"

ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ถวายแด่...พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

 

สมเจตน์ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้มีโอกาสรับบท "พระมหาชนก" ในครั้งนี้ว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจเป็นที่สุด แต่อีกด้านหนึ่งก็อดใจหายไม่ได้

"ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ผมมีโอกาสได้ร่วมแสดงโขนต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์ท่าน โดยรับบทเป็นพระราม ตอนนั้นรู้สึก เป็นเกียรติอย่างสูงกับชีวิตตัวเอง

ในครั้งนี้ช่วงที่เราทุกคนซ้อมละครกัน ในใจผมจะนึกถึงคำสอนพระมหาชนก เราก็จะนึกถึงความเพียรเป็นสำคัญ แต่หากได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง จะพบว่าพระองค์ท่านได้สอดแทรกทฤษฎีการเกษตรทั้งสมัยใหม่ และวิถีไทยไว้อย่างเต็มเปี่ยม เช่น การเพาะ เม็ดมะม่วง ตอนกิ่ง ปักชำ ทรงสอนให้ทุกคนได้ไปทดลองทำ และทำเกษตรให้เป็น ด้วยรากฐานการศึกษา ให้รู้จริง ถ้าเราถอดบทละครก็จะมีทั้งธรรมะและการให้ความรู้ ซึ่งถือเป็นการให้ที่ยั่งยืนที่ทรงมอบให้กับประชาชนทุกคน"

"มโนห์รา บัลเลต์" ที่สุดแห่งความงามวิจิตร

การแสดงครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการนำบัลเลต์มาแสดงในงานมหรสพ กรมศิลปากรร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) วิทยาลัยนาฏศิลป โรงเรียนราชินี จัดแสดงบัลเลต์ เรื่องมโนราห์ (Kinari Suite) ร่วมกับการบรรเลงเพลงประกอบการแสดงโดย วงดุริยางค์สากล โดยจะแสดงที่เวที 3 มณฑลพิธี สนามหลวง

ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ถวายแด่...พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

 

"มโนห์รา บัลเลต์" คืออีกบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แสดงครั้งแรกเมื่อปี 2505 และได้กลับมาแสดงอีกครั้งด้วยความงดงามที่สุด

สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา ศิษย์เก่าวิทยาลัยนาฏศิลป รุ่น 12 ออกแบบท่าเต้นและกำกับการแสดง ท่านผู้หญิง วราพร ปราโมช ณ อยุธยา คุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอน รับเป็นที่ปรึกษา โดยมีผู้เชี่ยวชาญและคณะครูอาจารย์จากวิทยาลัยนาฏศิลป สบศ. ร่วมฝึกซ้อมด้วย

ในการแสดงครั้งนี้เปิดโอกาสให้นักแสดงบัลเลต์ทุกสถาบันทั่วประเทศ เข้าร่วมคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมการแสดง และ รศ.อรชุมา ยุทธวงค์ รับกำกับอารมณ์ของตัวแสดงตามบทบาท บรรเลงประกอบการแสดงโดยวงดุริยางค์สากล จากกรมศิลปากร ทำให้มโนห์รา บัลเลต์สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น โดยทุกคนมีวัตถุประสงค์ดั่งปณิธานเดียวกัน คือ ทำเพื่อถวายพ่อแห่งแผ่นดินเป็นครั้งสุดท้าย

เครื่องแต่งกายออกแบบโดย ทูบว์ แกลเลอรี่ โดยสองดีไซเนอร์ ศักดิ์สิทธิ์ พิศาลสุพงศ์ พิสิฐ จงนรังสิน ถ่ายทอดความวิจิตรเสื้อผ้า สะกดสายตาผู้ชมตลอดการแสดง 29 นาที อีกทั้งยังได้เพิ่มดอกดาวเรือง และหญ้าแฝกเข้าไปเพื่อสื่อถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงทำเพื่อประชาชนตลอดการครองราชย์ 70 ปี

ศักดิ์สิทธิ์ ดีไซเนอร์ออกแบบเครื่องแต่งกายนักแสดง บอกถือเป็นเกียรติประวัติครั้งสำคัญของทีมงาน และกลุ่มจิตอาสา ซึ่งได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในวันสำคัญที่สุดของหน้าประวัติศาสตร์ไทย

ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ถวายแด่...พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย

 

"เสื้อผ้าทั้งหมดมีประมาณ 20 แบบ สำหรับ นักแสดงร่วม 100 คน ทุกชุดผสมผสานแสดงบัลเลต์ศิลปะตะวันตก และมโนห์ราศิลปะไทย โดยได้ แรงบันดาลใจจากชุดโขน นางรำ และจากชุดเสื้อผ้าที่ ปิแอร์ บัลแมง เคยออกแบบไว้ให้กับโปรดักชั่น มโนห์รา บัลเลต์ในปี 2505 ซึ่งย้อนไปในยุค 60 การออกแบบเสื้อผ้าในครั้งนี้จึงมีความแตกต่างจาก ของเดิมอยู่มากเลยครับ เนื่องจากเป็นมุมมองของ ดีไซเนอร์ไทย ที่ตีความเรื่องไทย สำหรับการแสดงนาฏศิลป์ตะวันตก จึงย่อมแตกต่างจากมุมมองของ ปิแอร์ บัลแมง ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส ที่เคยได้รับ มอบหมายให้ออกแบบเสื้อผ้าบัลเลต์ไทย

เทคนิคที่นำมาใช้มีทั้งงานปัก โครงสร้างเสื้อ ดูแปลกตา งานฉลุ การเพนต์มือ รวมทั้งลายปัก และลายพิมพ์ที่ได้แรงบันดาลใจจาก ว่าวไทย ดอกไม้ไทย ลายไทย ลวดลายบนชุดโขน ผสมผสานไปกับจินตนาการของผม กับพิสิฐ

ชุดมโนห์ราได้แรงบันดาลใจจากกินรีทองในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้นแบบในการออกแบบ ส่วนเทคนิคอื่นๆ เช่น สายน้ำ นำผ้ามาเล่นเป็นสายน้ำเพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจในเวทีกลางแจ้ง หรืออุปกรณ์ประกอบฉากที่ใช้ในการแสดงที่ได้แนวคิดจากการ หนังใหญ่ ใช้ลายรดน้ำไทยสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นฉากป่าหิมพานต์ ที่มีดอกบัว ผึ้ง ผีเสื้อ กวาง งู เสือ ลิง นกยูง พญานาค"

การสร้างสรรค์ใช้เวลากว่า 3 เดือน ผู้ร่วมงานกว่า 100 ชีวิต ซึ่งทีมงานทุกคนล้วนมีความตั้งใจเดียวกัน สร้างสรรค์ผลงานให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถพสกนิกร เล็กๆ จะทำได้ เพื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย