logo-pwa

เพิ่ม Post Today

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
posttoday

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย "10 คดีเด่น" ในศาลทหารปี58

31 ธันวาคม 2558

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิด 10 คดีเด่นในศาลทหารประจำปี58 ชี้กระบวนการยุติธรรมวันนี้มีสภาพเป็น "กระบวนการยุติธรรมลายพราง"

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิด 10 คดีเด่นในศาลทหารประจำปี58 ชี้กระบวนการยุติธรรมวันนี้มีสภาพเป็น "กระบวนการยุติธรรมลายพราง"

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่รายงาน "10 คดีเด่นในศาลทหารประจำปี 2558" โดยมีเนื้อหาดังนี้

ปี 2558 นับเป็นขวบปีที่สองแล้วที่พลเรือนจำนวนมากยังคงถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร ภายใต้ระบอบการปกครองของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ความผิดตามมาตรา 112, มาตรา 116 และความผิดตามประกาศหรือคําสั่งคสช. ยังคงถูกนำมาใช้กล่าวหาต่อการเคลื่อนไหว หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประชาชนที่ไม่ได้กระทำการเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ถูกกล่าวหาด้วยความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ก็ถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหารจำนวนมากเช่นกัน จากสถิติของกรมพระธรรมนูญที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลมา ระบุว่าตั้งแต่ 22 พ.ค.57-30 ก.ย.58 มีคดีของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจำนวน 1,408 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวมแล้ว 1,629 คน

ในรอบปี 2558 ศูนย์ทนายฯ รับคดีเพิ่มเติมจำนวน 42 คดี รวมเป็นคดีทั้งหมดในความรับผิดชอบจำนวน 69 คดี นับแต่การรัฐประหาร ในโอกาสสิ้นปีนี้ ศูนย์ทนายฯ จึงรวบรวม 10 คดีเด่นในศาลทหาร ซึ่งพอจะเป็นตัวแทนภาพรวมของปัญหากระบวนการยุติธรรมภายใต้การปกครองของคสช. ตั้งแต่การริเริ่มคดีในการกล่าวหาบุคคลว่ากระทำความผิดโดยเจ้าหน้าที่ทหาร การใช้อำนาจในการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร การเข้าร่วมสอบสวนโดยทหาร การสั่งฟ้องโดยอัยการทหาร การพิพากษาคดีโดยตุลาการศาลทหาร ไปจนถึงการคุมขังในเรือนจำภายในค่ายทหาร ทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร จนกล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมวันนี้มีสภาพกลายเป็น “กระบวนการยุติธรรมลายพราง” คดีเด่นๆ ในรายงานนี้จึงเป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่จะสะท้อนถึงสภาพกระบวนการนี้ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในปีที่ผ่านมา

1. คดีผู้ชุมนุมน้อยที่สุด : กรณีพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพเดินเท้าเพื่อเข้ารายงานตัวที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน

วันที่ 14-16 มี.ค.58 พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้ทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” โดยเดินจากบ้านพักย่านบางบัวทองไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เพื่อเข้าให้การในคดีเลือกตั้งที่รัก(ลัก)ในวันที่ 16 มี.ค.58 ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน โดยในวันที่ 14 มี.ค.58 พันธ์ศักดิ์มีเป้าหมายเดินเท้าจากบางบัวทองมายังสะพานลอยหน้าสำนักพิมพ์ไทยรัฐ แต่ระหว่างทางกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมจับขึ้นรถตู้และนำตัวมาส่งยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันโดยไม่ให้เดิน เป็นเหตุให้วันต่อมานายพันธ์ศักดิ์เริ่มต้นเดินอีกครั้งจากหมุดของ “เฌอ” บริเวณซอยรางน้ำ ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำให้ระหว่างทางมีคนนำดอกมามอบให้กำลังใจในการต่อสู้คดี

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย "10 คดีเด่น" ในศาลทหารปี58

นายพันธ์ศักดิ์ถูกจับกุมในวันที่ 26 มี.ค.58 ก่อนการจัดกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน#2 และถูกดำเนินคดีในความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการเดินในวันที่ 15 มี.ค.58 นับเป็นการจับกุมดำเนินคดีต่อกิจกรรมที่มีผู้ชุมนุมจำนวนน้อยที่สุด คือเพียงหนึ่งคน แต่กลับถูกดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 รวมถึงข้อหาการสร้างผลกระเทือนต่อความมั่นคงตามมาตรา 116 แม้จะเป็นเพียงการเดินเท้าเพียงคนเดียวไปให้การเพิ่มเติมจากการถูกดำเนินคดีอยู่แล้วก็ตาม

2. คดีที่ฝากขังดึกที่สุด: กระบวนการฝากขังขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ยาวนานข้ามคืน

วันที่ 26 มิ.ย.58 ถือเป็นค่ำคืนที่ยาวนานสำหรับกลุ่มนักศึกษาและประชาชนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษากรุงเทพฯ และกลุ่มดาวดินจากขอนแก่น รวม 14 คน หลังจากเวลาประมาณ 17.30 น. ทั้ง 14 คน ถูกควบคุมคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจเกือบร้อยนาย ที่เข้าปิดล้อมสวนเงินมีมา ของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ตามหมายจับศาลทหารจากกรณีการทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 25 มิ.ย.58 ในฐานความผิดฝ่าฝืนการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58

ทั้งหมดถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง เพื่อทำบันทึกการจับกุม แต่มีปัญหาโต้แย้งข้อเท็จจริง ซึ่งขบวนการประชาธิปไตยใหม่ต้องการให้ระบุในบันทึกจับกุมว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมปฏิบัติการจับกุมด้วย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอม จึงยังไม่มีการลงชื่อในบันทึกจับกุมในวันนั้น ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงนำตัวทั้งหมดไปฝากขังยังศาลทหารในคืนนั้น โดยระหว่างกระบวนการฝากขัง บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปยังศาลทหารเพื่อร่วมกระบวนการดังกล่าวได้ แม้คดีดังกล่าวจะไม่ได้สั่งพิจารณาลับก็ตาม มีเพียงทนายความ เจ้าหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝ่ายการนักศึกษาที่สามารถเข้าไปได้

ปกติแล้วศาลทหารจะเปิดทำการเพียงเวลา 16.30 น. แต่ในวันดังกล่าว ศาลทหารกลับเปิดรอรับคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนจนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. และกว่ากระบวนการขอฝากขังและคัดค้านการฝากขังทั้งหมดจะเสร็จสิ้น ก็เป็นเวลาประมาณ 00.30 น.แล้ว นับเป็นเวลาทำการฝากขังดึกที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในศาลใด และเป็นการพิสูจน์ความเป็นอิสระและเป็นกลางของศาลทหารได้เป็นอย่างดี

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย "10 คดีเด่น" ในศาลทหารปี58

นอกจากนี้ ภายหลังการฝากขังเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดยพล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ได้ขอเข้าตรวจค้นรถของนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความ เพื่อขอตรวจค้นโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาทั้ง 14 ราย แต่เนื่องจากทนายความเห็นว่าพนักงานสอบสวนได้อยู่ร่วมกับผู้ต้องหามาตั้งแต่เวลา 17.00 น.จนถึง 00.30 น.โดยมิได้ขอตรวจยึดโทรศัพท์มือถือจากผู้ต้องหาและไม่สามารถตอบได้ว่าต้องการสิ่งใดในโทรศัพท์มือถือ จึงไม่อนุญาตให้ทำการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการยึดรถและผนึกรถด้วยกระดาษ A 4 ทำให้เจ้าหน้าที่จากศูนย์ฯ ต้องนอนเฝ้ารถคันดังกล่าวบริเวณหน้าศาลทหารตลอดทั้งคืน

3. คดีระเบิดหน้าศาลอาญา : จำเลยอย่างน้อย 4 ราย ร้องเรียนการถูกซ้อมทรมาน

สืบเนื่องจากเหตุระเบิดศาลอาญาในตอนค่ำของวันที่ 7 มี.ค.58 โดยคดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 14 ราย ผู้ต้องหา 4 ราย ในความรับผิดชอบศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานระหว่างการสอบสวน ได้แก่ นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน  นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรพัฒน์ เหลือผล และนายวิชัย อยู่สุข โดยรูปแบบการซ้อมทรมาน เช่น การชกต่อย การกระทืบบริเวณศีรษะ ทรวงอก หลัง และข่มขู่ว่าจะทำร้าย เพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลจากผู้ต้องหากลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ผู้ต้องหาบางรายยังโดนช็อตด้วยไฟฟ้า โดยเฉพาะของนายสรรเสริญที่ระบุว่าตนเองโดนช็อตที่ต้นขาถึง 30-40 ครั้ง และปรากฏร่องรอยดังกล่าวบริเวณผิวหนัง  ระหว่างการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ทางศูนย์ทนายฯ ได้ทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ขอให้รวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการซ้อมทรมานกรณีนายสรรเสริญ แต่ภายหลังได้รับหนังสือตอบจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลว่า บาดแผลของนายสรรเสริญสันนิษฐานว่าเกิดจาก “การกระทบหรือล้มไปกระทบกับสิ่งของไม่มีคม แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่าบาดแผลดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด”

แม้ว่าในรายงานตรวจสอบของพนักงานสอบสวนนั้น จะปรากฏบันทึกการตรวจร่างกายผู้ต้องหาโดยแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจและทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จะระบุว่าพบรอยแผลไฟไหม้ก็ตามตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ศูนย์ทนายฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานระหว่างการถูกควบคุมตัวทั้งหมด 19 ราย ซึ่งข้อร้องเรียนระบุว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัวเจ็ดวันภายใต้กฎอัยการศึก หรือคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่3/58 ซึ่งไม่มีบุคคลภายนอกเข้าไปตรวจสอบได้ และเมื่อมีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเข้าถึงพยานหลักฐาน รวมถึงเมื่อเกิดข้อร้องเรียนขึ้นแล้ว ยังมีปัญหาในการสอบสวนที่ขาดความเป็นอิสระและเป็นกลาง คดีระเบิดหน้าศาลอาญาจึงเป็นอีกคดีหนึ่งซึ่งมีผู้ต้องหาร้องเรียนปัญหาการซ้อมทรมานจำนวนมากในคดีเดียวกัน

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย "10 คดีเด่น" ในศาลทหารปี58

ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม

นอกจากศูนย์ทนายฯ จะได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานจำเลยระหว่างการสอบสวนในคดีระเบิดศาลอาญาแล้ว คดีนี้ยังเป็นอีกคดีหนึ่งที่กระบวนการยุติธรรมเกิดความล่าช้าอย่างมาก โดยศาลทหารได้นัดสอบคำให้การจำเลยทั้งหมดครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 พ.ย.58 ซึ่งห่างจากวันที่อัยการได้ส่งฟ้องตั้งแต่ 5 มิ.ย.58 เป็นเวลา 5 เดือน คดีนี้ยังเกิดปัญหาฝ่ายโจทก์ฟ้องซ้อนกับจำเลยในคดีบางราย ทำให้การสอบคำให้การต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 19 ม.ค.2559 ซึ่งทำให้จำเลยในคดีซึ่งยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ  ต้องรอกระบวนการดังกล่าวมาเป็นเวลาอย่างน้อย 7 เดือน โดยยังไม่ได้เริ่มพิจารณาคดี นอกจากนั้นคดีของพลเรือนที่ขึ้นสู่ศาลทหารและมีการสืบพยานตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารเป็นต้นมา ประสบปัญหาความล่าช้าในการนัดสืบพยานหลายคดี เนื่องจากศาลทหารไม่มีการกำหนดวันนัดสืบพยานทั้งหมดในคดีไว้ตั้งแต่วันนัดพร้อม แต่จะเป็นการนัดหลังสืบพยานเสร็จเป็นครั้งๆ ไป แต่ละนัดห่างกันกว่าเดือน และมักจะสืบพยานกันเพียงครึ่งวันเช้าหรือบ่ายเท่านั้น หลายครั้งพยานบางปากต้องมาให้การในศาลถึง 2-3 วัน  ทำให้กระบวนการพิจารณาคดียืดเยื้อยาวนาน การนำกฎหมายความมั่นคงมาดำเนินคดีต่อ

4. ใช้กฎหมายความมั่นคงมาดำเนินคดีต่อการวิจารณ์ตัวบุคคล: คดีโพสต์ประยุทธ์โอนเงิน

ตลอดปีที่ผ่านมาเกิดการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งบัญญัติอยู่ในหมวดความมั่นคง มาใช้ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออก โดยเฉพาะจากการวิพากษ์วิจารณ์ คสช.หลายกรณี และหนึ่งในกรณีที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมของปีนี้ นางรินดา พรศิริพิทักษ์ได้ถูกจับกุมและดำเนินคดีด้วยข้อหาปลุกปั่นยุยง ตามมาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กกล่าวหาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและภรรยา ว่ามีการโอนเงินออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งรินดายอมรับว่าได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง แต่เห็นว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตามปกติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนที่ผ่านมาๆ ก็เกิดกรณีลักษณะนี้มาก่อน

วันที่ 21 ธ.ค.58 ศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นว่าคดีของรินดาไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 116 เป็นเพียงคดีหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลจึงจะทำความเห็นส่งให้ศาลอาญาพิจารณาขอบเขตอำนาจศาล และนัดมาฟังความเห็นและคำสั่งศาลต่อไป ทั้งนี้หากศาลอาญามีความเห็นตรงกับศาลทหาร จะส่งผลให้คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจพิพากษาของศาลทหาร

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่ามาตรา 116 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหนึ่ง ในกรณีที่บุคคลอาจกระทำความผิดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทผู้มีอำนาจในรัฐบาลหรือคสช.แทนที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีในฐานความผิดดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ทหารกลับนำมาตรา 116 มาใช้ในการกล่าวหา เพื่อให้คดีดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของศาลทหาร อาทิเช่น คดีพลเมืองรุกเดินของพันศักดิ์ ศรีเทพ คดีชญาภา ซึ่งโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการปฏิวัติซ้อน หรือล่าสุดกรณีการโพสต์เกี่ยวแผนผังการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงคดีนี้ซึ่งศาลทหารเองมีความเห็นแล้วว่าเป็นเพียงคดีหมิ่นประมาทฯ ซึ่งหากศาลทหารมีความเห็นในแนวทางดังกล่าวก็สามารถไม่รับฟ้องคดีประเภทดังกล่าวในอนาคตตั้งแต่ต้น

5. โทษจำคุกหนักที่สุดในประวัติศาตร์ : คดีมาตรา 112 ของ ‘พงษ์ศักดิ์’ จำคุก 60 ปี

วันที่ 7 สิงหาคม 58 อาจนับเป็นวันที่ “โหดร้าย” ที่สุดในรอบปีนี้ เมื่อศาลทหารได้ทำ “สถิติ” ใหม่ถึงสองครั้งในวันเดียวกัน คือการพิพากษาคดีมาตรา 112 ด้วยโทษจำคุกสูงที่สุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

ในช่วงเช้าวันนั้น ศาลทหารกรุงเทพฯ พิพากษาจำคุก ‘พงษ์ศักดิ์’ จากกรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ในชื่อ ‘samparr’ จำนวน 6 ข้อความ โดยให้จำคุกกรรมละ 10 ปี รวมจำคุก 60 ปี แต่เนื่องจากให้การรับสารภาพ จึงลดโทษจำคุกเหลือ 30 ปี  ขณะเดียวกันในช่วงบ่าย ศาลทหารเชียงใหม่ได้พิพากษาจำคุก ‘ศศิวิมล’ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ในชื่อ ‘รุ่งนภา คำภิชัย’ จำนวน 7 ข้อความ ศาลให้จำคุกกรรมละ 8 ปี รวมจำคุก 56 ปี ให้การรับสารภาพ จึงเหลือจำคุก 28 ปี

ทั้งสองกรณีชี้ให้เห็นการเพิ่มอัตราโทษอย่างหนักหน่วงของศาลทหารในคดีมาตรา 112 จากเดิมในศาลยุติธรรม อัตราโทษต่อกรรมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปี แต่ในศาลทหารอัตราโทษถูกทำให้เพิ่มสูงขึ้นไปที่กรรมละ 8-10 ปี อีกทั้งการฟ้องร้องคดียังมีลักษณะของการนับจำนวนกรรมจากข้อความบนเฟซบุ๊กเป็นรายข้อความ ทำให้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาด้วยจำนวนหลายกรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน และนำไปสู่การทำให้ความผิดจากการ “แสดงความคิดเห็น” มีโทษที่หนักหน่วงจนน่าตกใจ  ในปีหน้านี้ ยังมีคดีที่น่าจับตาว่าจะมีการพิพากษาด้วยโทษที่สูงอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของ ‘อัญชัน’ ในศาลทหารกรุงเทพฯ ซึ่งถูกกล่าวหาจำนวนถึง 29 กรรม จากกรณีอัพโหลดและเผยแพร่คลิปของ ‘บรรพต’ ขึ้นบนเว็บไซต์ยูทูป

6. คดีพิศวงและชวนสยอง: ความตายระหว่างควบคุมตัวภายในเรือนจำชั่วคราวฯ มทบ.11

ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2558 ปรากฏเหตุการณ์ที่นับได้ว่าน่าพิศวงและสร้างความสยองในรอบปีนี้ ภายหลังเกิดกระแสข่าวการควบคุมตัวนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.58 ตามมาด้วยการปฏิเสธการควบคุมตัวโดยพล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผู้บังคับการปราบปราม แต่ต่อมาในวันที่ 21 ต.ค.58 นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และเลขานุการของนายสุริยัน กลับถูกนำตัวมาทำการฝากขังที่ศาลทหาร ในข้อหาตามมาตรา 112  และถูกนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี ไม่กี่วันต่อมา กลับปรากฏการเสียชีวิตของพ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ในวันที่ 23 ต.ค.58 โดยสาเหตุถูกระบุว่าเป็นการผูกคอตนเองตาย อีกทั้งในวันที่ 7 พ.ย.58 นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ก็เสียชีวิตตามมา โดยถูกระบุสาเหตุว่ามีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ข้อมูลทั้งหมดมาจากแถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่อาจถูกตรวจสอบได้โดยบุคคลภายนอก เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นภายในเรือนจำภายในค่ายทหาร และทั้งสองกรณีไม่ปรากฏว่าญาติได้รับแจ้งให้เข้าร่วมกระบวนการชันสูตรพลิกศพ รวมไปจนถึงการพิธีเผาศพในทันที โดยไม่มีพิธีกรรมสวดศพตามความเชื่อในพุทธศาสนา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าปัญหาดังกล่าว เกิดจากการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 โดยไม่เปิดเผยสถานที่และไม่ให้ญาติหรือทนายความเข้าเยี่ยมได้ รวมไปถึงการจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวขึ้นภายในเขตมณฑลทหารบกที่11 ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวขาดการตรวจสอบถ่วงดุลโดยบุคคลภายนอก เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการตรวจสอบที่ชัดเจนถึงสาเหตุในการเสียชีวิตของบุคคลทั้งสอง คดีนี้จึงนับเป็นคดีที่น่าพิศวงและชวนสยองติดอันดับคดีหนึ่ง

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย "10 คดีเด่น" ในศาลทหารปี58

7. คดีที่มีการคุกคามการทำหน้าที่ทนายความอย่างร้ายแรง: “คดีเตรียมป่วน Bike for Dad”

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2558 ขณะที่กำลังมีการเตรียมจัดงานปั่นเพื่อพ่อ (Bike for Dad)ปรากฏข่าวว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมด 9 ราย ซึ่งมีพฤติการณ์ในการวางแผนสร้างสถานการณ์ปั่นป่วนงานสำคัญในหลายพื้นที่ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ  ผู้ต้องหา 4 ใน 9 ราย เป็นจำเลยในคดีขอนแก่นโมเดล ซึ่งมีเบญจรัตน์ มีเทียน เป็นทนายความ โดยนายธนกฤต ทองเงิน เพิ่ม หนึ่งในผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดลและคดีนี้อยู่ระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำขอนแก่น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้โทรศัพท์ในการร่วมกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา

วันที่ 29 พ.ย.58 เบญจรัตน์ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับพล.ต.วิจารณ์ จดแตง ในฐานะหัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานกฎหมาย คสช. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน เนื่องจากเหตุการออกหมายจับธนกฤต ทำให้หลังจากการแจ้งความดังกล่าวเบญจรัตน์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ติดตามนับสิบสาย

ต่อมาในวันที่ 30 พ.ย.58 ภายหลังเบญจรัตน์ มีเทียนเข้าเยี่ยมลูกความที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี กลับถูกกักตัวไม่ให้ออกจากเรือนจำจนต้องอาศัยช่วงจังหวะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจากองบังคับการปราบปรามมาติดตามตัววิ่งหนีออกมา แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังติดตามเบญจรัตน์และไปนั่งเฝ้าเบญจรัตน์หน้าห้องพิจารณาคดี และขอให้เข้ามายังกองบังคับการปราบปรามเพื่อให้ถอนแจ้งความ แต่เบญจรัตน์ปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้าพบนายธนกฤตข่มขู่ว่าเขาแจ้งความเท็จ และให้เขาเซ็นถอนแจ้งความ โดยเสนอที่จะถอนหมายจับเขาเป็นการแลกเปลี่ยน วันที่ 8 ธ.ค.58 พล.ต.วิจารณ์ จดแตง พร้อมด้วย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. ยังเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับทนายความเบญจรัตน์ ในความผิดฐาน แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน และข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ทนายความอย่างร้ายแรง ทั้งการคุกคามระหว่างเข้าพบลูกความและสอบข้อเท็จจริงที่เรือนจำชั่วคราวฯ การติดตามของพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการถอนแจ้งความ และการถูกแจ้งความดำเนินคดีกลับ จากการทำหน้าที่ทนายความให้นายธนกฤต ทองเงินเพิ่ม  ทั้งหมดอาจส่งผลให้ทนายความมีความหวาดระแวงในการทำหน้าที่ต่อไป อีกทั้งหลักการที่ว่าผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจำมีคำพิพากษาถึงที่สุด อันเป็นหัวใจของกระบวนการยุติธรรม ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง หากผู้ต้องหาไม่อาจเข้าถึงทนายความได้

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย "10 คดีเด่น" ในศาลทหารปี58

8. คดีประหลาด: กรณีหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง

หนึ่งในคดีที่สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมและตกเป็นข่าวไปทั่วโลก คือการจับกุมนายฐนกร ด้วยข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยพิจารณาฐานความผิดตามกฎหมายแล้ว อาจไม่รู้สึกว่าคดีนี้มีความแปลกประหลาด เพราะนับแต่ที่ คสช.ยึดอำนาจก็ได้มีการดำเนินคดีในฐานความผิดเหล่านี้อย่างเอิกเกริก แต่หากจะบอกว่าฐนกรถูกจับเพราะการกดไลค์ภาพบนเฟซบุ๊ก การโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง และการแชร์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ อาจจะพอทำให้เครื่องหมายคำถามลอยวนไปเวียนมาอยู่ในใจใครหลายคนได้บ้าง

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี แม้หลักกฎหมายอาญาจะระบุว่าต้องตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด แต่สำหรับการตั้งข้อกล่าวหาต่อฐนกรในคดีนี้มีลักษณะการขยายการตีความมาตรา 112 ให้ครอบคลุมไปถึงสุนัขทรงเลี้ยง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจยังออกมากล่าวโดยพร้อมเพรียงกันว่า แค่กด “ไลค์” ข้อความที่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ก็ถือว่ามีความผิดตามมาตรานี้ไปด้วย ยิ่งพาให้ประชาชนตระหนกตกใจกันไปทั้งเมืองว่าเสรีภาพการแสดงออนไลน์ยุคนี้ยังมีอะไรเหลืออยู่บ้าง ในปีหน้าจึงน่าจับตาว่าทั้งพนักงานสอบสวน อัยการทหาร และศาลทหาร จะมีความเห็นต่อกรณีนี้อย่างไรต่อไป จะสร้างบรรทัดฐานของการตีความกฎหมายขยายความในลักษณะนี้หรือไม่ อย่างไร

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย "10 คดีเด่น" ในศาลทหารปี58

9. คดีลักหลับ: คดีโพสต์ข้อความปฏิวัติซ้อน

ควบคุมตัวจากบ้านไปค่ายทหารอย่างเงียบๆ อัยการสั่งฟ้องอย่างเงียบๆ และพิพากษาในวันนัดสอบคำให้การอย่างเงียบๆ สำหรับคดีของชญาภา จำเลยในคดีโพสต์ข่าวลือในทำนองว่าจะมีการปฏิวัติซ้อนบนเฟซบุ๊ก ทำให้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมกับเพิ่มข้อหามาตรา 112 จากข้อความอื่นที่มีการโพสต์ด้วย การดำเนินกระบวนการยุติธรรม ‘อย่างเงียบๆ’ เช่นนี้อาจไม่ถึงขั้นลักหลับ ถ้าหากชญาภาจะไม่ได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีนี้อยู่แล้ว และศาลทหารกรุงเทพจะนำตัวจำเลยมาในวันที่ฟ้องคดีเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม รวมถึงแจ้งวันนัดให้ทั้งจำเลย ญาติจำเลย หรือทนายความทราบล่วงหน้า

กรณีของชญาภานั้น เนื่องจากจำเลยอยู่ในการควบคุมของทัณฑสถานหญิงกลาง ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่นำตัวจำเลยมายังศาลในวันที่มีการฟ้องคดี ซ้ำยังไม่อนุญาตให้ทนายความคัดถ่ายสำเนาคำฟ้องในครั้งแรก โดยอ้างว่าศาลต้องส่งคำฟ้องไปให้จำเลยอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ในวันนัดสอบคำให้การศาลยังได้พิพากษาจำคุกจำเลย โดยที่จำเลยทราบล่วงหน้าว่าต้องมาศาลในคืนก่อนวันนัดไม่กี่ชั่วโมง ขณะทนายความซึ่งไปติดตามนัดหมายคดีที่ศาลทหารมาโดยตลอดจนถึงก่อนวันนัดหนึ่งวัน ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ศาลทหารเพียงว่าคดีของชญาภานั้นยังไม่กำหนดวันนัด ทำให้วันรุ่งขึ้นที่นัดสอบคำให้การ ชญาภาถูกนำตัวมาศาลทหารกรุงเทพและมีการพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากทนายความในกระบวนการ ทั้งศาลยังยกคำร้องขอคัดค้านกระบวนพิจารณามิชอบของทนายความในกรณีดังกล่าว ส่วนตัวชญาภาแจ้งแก่ทนายความว่าเพิ่งได้รับเอกสารหมายนัดหลังกลับไปทัณฑสถานหญิงกลางในวันที่มีการพิพากษา นับเป็นคดีที่สะท้อนให้เห็นปัญหาในทางปฏิบัติในการอำนวยความยุติธรรมของศาลทหารได้เป็นอย่างดี แต่ผลเสียทั้งหมดกลับตกอยู่กับประชาชน

10. คดีจับกุมคนป่วย: กรณีเธนตร อนันต์วงษ์ ถูกอุ้มจากโรงพยาบาลสิรินธร

ข่าวที่อยู่ในความสนใจของประชาชนช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2558 คงต้องมีเรื่องการตัดตู้รถไฟขบวนของนักศึกษา-นักกิจกรรมที่เดินทางไปในกิจกรรม ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ ติดอันดับเข้ามาด้วยอย่างแน่นอน แม้วันนั้น ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 36 คน จะได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน ทว่ารัฐบาล คสช. กลับใช้วิธีตามเช็คบิลย้อนหลังรายบุคคล และธเนตร อนันตวงษ์ คือหนึ่งใน 36 คน ที่โดนคดีนำร่องไปก่อนใครเพื่อน

วันที่ 13 ธ.ค. 2558 ธเนตรอยู่ระหว่างเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสิริธร เขาถูกควบคุมตัวไปโดยเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ กว่า 6 วัน โดยไม่มีใครทราบชะตากรรม แม้เพื่อนจะพยายามติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอนำยาไปให้ธเนตร ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พบ ทำให้ ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ต้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวธเนตร เนื่องจากถูกควบคุมตัวมิชอบ ต่อศาลอาญาถึง 2 ครั้ง แต่ศาลกลับยกคำร้องโดยไม่ดำเนินการไต่สวนผู้ร้องทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ระบุว่า ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน นับเป็นการยอมรับอำนาจคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/58 โดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ว่าเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ทำให้ตลอดเวลาที่ธเนตรถูกควบคุมตัวโดยญาติและทนายความไม่สามารถเข้าพบได้นั้น อาจจะทำให้ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ รวมถึงสุ่มเสี่ยงต่อการซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหายอีกด้วย

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย "10 คดีเด่น" ในศาลทหารปี58