posttoday

พัดไปกับสายลม

12 เมษายน 2558

“ฉายภาพไปที่ศพใช่ตอนจบรายงานข่าวคำถามอีกยืดยาวถึงเรื่องราวฆาตกร...”

“ฉายภาพไปที่ศพใช่ตอนจบรายงานข่าวคำถามอีกยืดยาวถึงเรื่องราวฆาตกร...”

ผมเขียนกวีบทนี้ จากความน้อยเนื้อต่ำใจอะไรบางอย่าง เขียนมันตอนบ่ายๆ ของวันที่7 มี.ค. 2557 ผมจำได้ว่าเช้าวันนั้นตื่นมาด้วยอาการปวดหัว เพราะนอนน้อยและเครียดขมับทั้งสองข้างมีเส้นโลหิตเต้นตุบๆ หน่วงๆตามสไตล์ชีวิตที่เจ็บปวดของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

เช้าวันนั้น ผมรีบขับรถมาทำงาน ในหัวเต็มไปด้วยเรื่องราวที่จะต้องเผชิญกับมัน ผมอยากไปถึงที่ทำงานให้เร็วที่สุด เพื่อสะสางงานต่างๆ รถฮอนด้าแอคคอร์ดปี ค.ศ. 1989 คู่ใจของผม พาผมแซงรถยนต์รุ่นใหม่ราคาแพงบนทางด่วนได้หลายสิบคัน เข็มไมล์วัดรอบความเร็วกวาดมาอยู่ที่ความเร็ว 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะใกล้ถึงทางลงทางด่วน ผมเริ่มรู้สึกว่าแอร์ในรถเริ่มไม่เย็น ผมปรับเร่งแอร์ให้แรงขึ้น ปรากฏว่ามีแต่ลมออกมา

ไม่กี่วินาทีจากนั้น เริ่มมีกลิ่นเหม็นไหม้จากในห้องเครื่องด้านหน้ารถ ผมชะลอรถจอดข้างทาง เมื่อเปิดฝากระโปรงพบควันเหม็นไหม้โชยโขมงออกมาตรงคอมเพรสเซอร์แอร์ ท่ามกลางความตกใจของคนที่สัญจรผ่านไปมา โชคดีผมมักได้รับแถมน้ำดื่มเวลาเติมแก๊สแอลพีจี ผมมีสติพอที่จะนำมันมาราดรดไปตรงจุดที่มีควันออกมา ยิ่งราดน้ำควันยิ่งโขมงด้วยความร้อนที่เจอความเย็น ท้ายสุดควันค่อยลดและจางลงไป ผมยืนงงอยู่ริมถนนสักพัก ตัดสินใจสตาร์ทเครื่องแล้วไปต่อ โดยไม่เปิดแอร์ แม้จะกังวลว่าจะมีอะไรไหม้รถอีกมั้ยในระหว่างทาง แต่ผมต้องเดินหน้าต่อแล้ว ด้วยภายในหัวใจมีเรื่องที่เพลิงกำลังลุกไหม้มากกว่านั้น...

เด็กหญิง 7 ขวบ ลูกคนงานก่อสร้างชาวกัมพูชาหายตัวไปอย่างลึกลับก่อนหน้านี้ประมาณ 10 วัน ผมลงไปในพื้นที่ทันทีหลังจากได้รับแจ้งเหตุนี้ เคสนี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง ด้วยความที่พ่อแม่เด็กเป็นชาวกัมพูชาเอกสารในการเข้าเมืองก็ไม่ค่อยจะถูกต้องนักการไปแจ้งความลูกหายบนโรงพัก จึงเป็นเรื่องยากมากสำหรับพวกเขา โชคดีมีร้านค้าของชำแถวแคมป์คนงานก่อสร้างทราบเรื่องและเกิดความสงสาร จึงช่วยพาพ่อแม่เด็กหายชาวกัมพูชาคู่นี้ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่โรงพักและแจ้งเรื่องมาที่มูลนิธิกระจกเงา

ด้วยความยากจน พวกเขาจึงไม่ค่อยได้ถ่ายภาพลูกสาวไว้ ภาพถ่ายอันเลือนรางที่มีอยู่เพียงภาพเดียว เป็นสิ่งที่พวกเราใช้ประกาศตามหาและบอกคนในสังคมให้รู้ว่า มีเด็กหญิงอายุเพียง 7 ขวบ หายตัวไปอย่างลึกลับ

การเด็กหายที่เป็นเด็กหญงิ ต่างด้าว ทำให้ความสำคัญของเรื่องถูกลดทอนไปตามค่านิยมของสังคม พวกเรารู้ดีกว่าหากเธอเป็นเด็กไทย เธออาจได้รับการติดตามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่านี้ ถูกนำเสนอข่าวมากกว่านี้และสังคมให้ความสนใจมากกว่านี้

มีการรายงานข่าวการหายตัวไปของเด็กหญิงคนนี้เพียงไม่กี่ช่อง ผมคิดว่าชีวิตเธอช่างแผ่วเบามาก เกินกว่าจะได้รับความสำคัญและอาจไม่มีคุณค่าพอในการเป็นข่าวหรือไร ระหว่างการลงพื้นที่ ผมพยายามนำเสนอประเด็นและความเคลื่อนไหวตลอดผ่าน Facebook เพื่อหวังว่าสื่อกระแสหลักอาจสนใจมาช่วยประกาศติดตามหาตัวเธอแต่ก็ได้รับการตอบรับน้อยมาก

ในความเป็นจริงแล้ว ตอนกำลังตามหาเด็กหายจำนวนมาก ก็มักไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเท่าที่ควร สังเกตได้จากปริมาณของสื่อที่มาทำข่าวและนำเสนอ มักพบเสมอว่าตอนกำลังตามหาเด็กหาย นักข่าวสนใจน้อยกว่าตอนพบตัวเด็กแล้ว มันเป็นการนำเสนอความสำเร็จของข่าวที่ไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่การติดตาม ทั้งๆ ที่การตามหาเด็กหายควรจะได้รับเบาะแสจากการประชาสัมพันธ์จากสื่อกระแสหลักในทุกช่องทาง แต่ในขณะที่เมื่อพบตัวเด็กแล้ว ภาพแห่งความดีใจที่ครอบครัวได้สวมกอดกับเด็กที่หายไป กลับมีภาพเด็กและครอบครัวอยู่ในพื้นที่ข่าวมากกว่าตอนกำลังตามหาเสียอีก หรือถ้าโชคร้ายปรากฏว่าเด็กหายเสียชีวิต กลายเป็นว่าข่าวเด็กตายได้รับความสนใจกว่าตอนที่เด็กหายตัวไปเสียอีก คุณค่าของชีวิตคนกับคุณค่าของข่าวมีบางอย่างสวนทางกันเสมอ

พัดไปกับสายลม

 

ในรอบเพียงหนึ่งปีเศษๆ ที่ผ่านมา มีเด็กหายเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมประมาณ 10ราย ศพแรกผ่านไป ศพสอง ศพสามค่อยๆผ่านไป ดูเหมือนว่าสังคมจะตื่นตัวต่อเรื่องปัญหาเด็กหายก็ต่อเมื่อเด็กหายได้ตายลงไปในขณะที่ช่วงสำคัญในการตามหาเด็กหายกลับได้รับความสนใจที่รองลงมาเสมอ

ศพเด็กหญิงวัย 7 ขวบ ลูกสาวคนงานก่อสร้างชาวกัมพูชา ถูกพบในป่ากกไม่ไกลจากแคมป์คนงานก่อสร้างในจุดที่เด็กหายตัวไป นักข่าวสื่อมวลชน กล้องทีวี กล้องหนังสือพิมพ์มาที่เกิดเหตุกันอย่างมืดฟ้ามัวดินประหนึ่งว่า ข่าวการเสียชีวิตของเด็กคนนี้มีความสำคัญขึ้นมาทันที มากกว่าตอนชีวิตน้อยๆ อาจกำลังรอการช่วยเหลืออยู่ตอนกำลังตามหา

เนื้อหาของข่าวไม่มีอะไรมาก นอกจากความตายที่ถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยม การบรรยายถึงความโศกเศร้าของพ่อแม่ญาติพี่น้อง บางข่าวลงเรื่องลี้ลับหลังจากการตายของเธอ นี่คือข่าวสาธารณะที่ส่งถึงสังคมในวาระการตายของเด็กหญิงคนหนึ่ง

หลังจากจบรายงานข่าวการพบศพ แทบไม่มีใครกล่าวถึงความตายของเด็กหญิงอีกเลย แทบไม่มีสื่อใดทวงถามต่อว่าฆาตกรเป็นใคร ในขณะที่จากสถิติบอกเสมอว่า คนร้ายที่ฆาตกรรมเด็ก มักจะก่อเหตุซ้ำอีกเสมอ ซึ่งคดีนี้ยังไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ

หลังจากนั้นไม่นาน มีเด็กหญิงอายุ 4ขวบหายตัวไป และก็เหมือนเช่นเคย แค่เด็กในชุมชนแออัดหายตัวไป แทบไม่มีใครสนใจการส่งต่อข่าวสารถึงเรื่องการหายตัวไปของเด็กคนนี้น้อยมาก กระทั่งไม่กี่วันต่อมา พบศพเด็กคนนี้ถูกฆาตกรรมยัดท่อระบายน้ำใกล้กับจุดที่เด็กหายตัวไป และก็เหมือนเช่นเคยข่าวการเสียชีวิตของเธอถูกจับจ้องมากกว่าตอนที่เธอหายตัวไป

แม้ดูเหมือนว่า สื่อมวลชนถูกคาดหวังในการช่วยเหลือติดตามเด็กหายมากเกินไปหรือเปล่า แต่ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องใดที่สื่อให้ความสนใจ สังคมก็มักให้ความสนใจตามกระแสเช่นกัน สื่อจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของสังคม

ในขณะที่การรายงานข่าวศพแล้วศพเล่าของเด็กหาย จนกลายเป็นเรื่องธรรมดามักพัดหายไปกับสายลม เพื่อรอเวลาให้มีศพใหม่เกิดขึ้นอีกอย่างนี้ร่ำไป จนไม่ได้กล่าวถึงหรือกระตุ้นเตือนผู้เกี่ยวข้องให้ตระหนักและเห็นความสำคัญจนเกิดการเปลี่ยนแปลงของปัญหาเด็กหายแต่อย่างใด

กองไฟมอดดับลงแล้ว มีควันไฟลอยคลุ้ง และเดี๋ยวมันก็คงหายไป รอกองไฟใหม่ลุกลามเพื่อมอดลงแบบนี้ไม่รู้จบ แต่บทกวีของผมกลับถึงจุดจบแล้วกับคำถามที่ค้างคาใจผมจนถึงทุกวันนี้

“เด็กหายอีกกี่ศพถึงจะครบอุทาหรณ์ศพหน้าคงอีกตอนคงอีกตอน ต่อต่อไป”