posttoday

สกสว.อัพเกรดกาแฟ-หัวปลี สู่เกษตรมูลค่าสูง ตัวท็อป จ.เชียงราย

23 กุมภาพันธ์ 2567

สกสว. พร้อมหนุนนโยบายกระทรวงเกษตรฯ อัปเกรดงานวิจัย-เกษตรมูลค่าสูง พร้อมอวด 2 สินค้าเกษตรตัวท็อปเมืองเชียงราย เพิ่มมูลค่าใหม่กาแฟ-เนื้อเทียมจากหัวปลี ชูนวัตกรรมอัพเลเวล “โปรดักส์ไฮเอนด์”

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศที่มีหน้าที่ในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณด้านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) รวมถึงบริหารระบบงบประมาณด้าน ววน. ผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบ โดยจัดสรรในรูปแบบงบประมาณแบบวงเงินรวม (Block Grant) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพตามพันธกิจของหน่วยงาน ให้แก่ กระทรวง กรม มหาวิทยาลัย ทั้งในและนอกกระทรวง อว. รวม 190 หน่วยงาน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นหนึ่งในจำนวนนี้ และการดำเนินงานที่ผ่านมา มีผลการวิจัยที่สามารถนำพัฒนาต่อยอดยกระดับการพัฒนา และนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์มากกว่า 20 โครงการ 

สกสว.อัพเกรดกาแฟ-หัวปลี สู่เกษตรมูลค่าสูง ตัวท็อป จ.เชียงราย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าใหม่แก่กาแฟแบบครบวงจรในพื้นที่ปางขอน จังหวัดเชียงราย โดย ผ.ศ.ดร.สมฤทัย ตันมา และคณะ ซึ่งได้มีการพัฒนา เพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าใหม่แก่กาแฟแบบครบวงจร ซึ่งนักวิจัยได้พัฒนารายงานสภาพดินจากแหล่งปลูกกาแฟบ้านปางขอนเพื่อเปรียบเทียบดินปลูกกาแฟจากสวนผสมผสานและสวนเชิงเดี่ยว และการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์กาแฟด้วยการสร้างระบบ AI ข้อมูลรสชาติเฉพาะสายพันธุ์ของกาแฟด้วยจมูกอิเล็กทรอนิกส์ต้นแบบ เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูล AI เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์เฉพาะกลิ่นแต่ละชนิดสายพันธ์จากพื้นที่การปลูกกาแฟต่างๆ ของจังหวัดเชียงราย เป็นผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟ GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 

โดยมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ในแบรนด์สินค้า "เชียงอาย" อีกทั้งสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบกาแฟคาเฟอีนต่ำจากพื้นที่ปางขอน ในชื่อแบรนด์สินค้า "Little Caffeine" ที่มีปริมาณคาเฟอีนลดลง ร้อยละ 93.12  และยังคงสารสำคัญและรสชาติของเมล็ดกาแฟเอาไว้ในเมล็ดได้

สกสว.อัพเกรดกาแฟ-หัวปลี สู่เกษตรมูลค่าสูง ตัวท็อป จ.เชียงราย

รวมถึง การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเนื้อเทียมจากหัวปลีอรรถประโยชน์สูงสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร และจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ โดย ผศ.ดร.สมฤทัย ต้นมา และห้างหุ้นส่วนจำกัด มาดี ฟู๊ด อินโนเวชั่น จ.เชียงราย ซึ่งใช้หัวปลีเป็นวัตถุดิบหลักที่อุดมไปด้วยเส้นใย โปรตีน มาพัฒนาเป็นเนื้อเทียมที่ประกอบไปด้วยสารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงและเพิ่มคุณค่าสารอาหารในน้ำนมแม่ เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ แคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง อีกทั้งยังมีแคลอรี่และไขมันต่ำ และช่วยยกระดับภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นต้น

สกสว.อัพเกรดกาแฟ-หัวปลี สู่เกษตรมูลค่าสูง ตัวท็อป จ.เชียงราย

ทั้งสองนวัตกรรมถือเป็นความสำเร็จที่สอดรับกับนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งส่งเสริมให้ภาคการเกษตรเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงประชากรทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 923,551 ล้านบาท สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ประมาณร้อยละ 8.5 ของ GDP ทั้งประเทศ และมีเนื้อที่ทางการเกษตร 147.7 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.1 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ อีกทั้งมีสัดส่วนแรงงานภาคเกษตรประมาณร้อยละ 46.4 ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ และที่สำคัญภาคเกษตรเป็นแหล่งวัตถุดิบหรือต้นน้ำของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขับเคลื่อนการทำงานและบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างสินค้าเกษตรมูลค่าสูงต่อไป

สกสว.อัพเกรดกาแฟ-หัวปลี สู่เกษตรมูลค่าสูง ตัวท็อป จ.เชียงราย

รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวเสริมว่า การนำแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์มากระตุ้นสินค้าทางการเกษตรถือเป็นอีกนโยบายที่มีความสำคัญ เนื่องจากเกษตรกรรมเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การเป็นวัตถุดิบหลักต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร การนำมาพัฒนาเป็นบริการและสินค้าสร้างสรรค์ ฯลฯ  ซึ่งการเพิ่มมูลค่าต้นทุนของประเทศที่มีมาอย่างยาวนานนี้จำเป็นต้องใช้วิจัย และนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การแข่งขันและการเติบโตเป็นไปอย่างรวดเร็ว พร้อมปรับแนวคิดให้เกษตรกรที่ถือเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมนี้ให้เปลี่ยนวิถีเดิม ๆ มาสู่วิธีการที่ทันสมัยขึ้น