posttoday

สธ.แจงอาการ 'ไข้ดำ' หากประชาชนกินปลาใน 'แม่น้ำกก' ที่มี 'สารหนู-ตะกั่ว'

21 พฤษภาคม 2568

สธ.แจงอาการ 'ไข้ดำ' หากประชาชนกินปลาในแม่น้ำกกซึ่งมี 'สารหนูและตะกั่ว' แม้จะยังไม่พบผู้ป่วย เร่งตรวจหาสารพิษในระบบห่วงโซ่อาหารย้อนหลัง 4 เดือน

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การปนเปื้อนโลหะหนักในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง พื้นที่ จ.เชียงราย วันนี้ (21 พฤษภาคม 2568) ว่า

จากข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดินโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1–2 พฤษภาคม 2568 พบว่า แม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง บริเวณพื้นที่ จ.เชียงราย มีการปนเปื้อนสารโลหะหนัก โดยเฉพาะ “สารหนู” และ “ตะกั่ว” เกินค่ามาตรฐานในหลายจุด เช่น จุดบ้านแซว บ้านหัวฝาย สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 บ้านป่าซางงาม รวมถึงตะกอนดินแม่น้ำกกและโขงบริเวณเขต อ.แม่อาย และ อ.เมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้จากการบริโภคปลาในพื้นที่เป็นประจำ

โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท มีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้า ระบบผิวหนังเกิดอาการ "ไข้ดำ" คือ ผิวหนังหนา สีคล้ำ และระบบหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

สารหนู

 

ทั้งนี้ โพสต์ทูเดย์ ค้นข้อมูลเพิ่มเติมใน ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี ของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า

เมื่อปลายปี 2530 มีผู้ป่วยเกือบ 300 รายที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช อาการของผู้เป็นโรคไข้ดำคือ ผิวหนังมีลักษณะสีดำคล้ำ ในระยะแรกจะมีอาการของโรคผิวหนังเป็นผื่นแดงและคัน เกิดเม็ดนูนแล้วมีอาการคล้ายโรคหิด ตกสะเก็ด ผิวหนังจะลอกและมีสีคล้ำ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย อาเจียน มือเท้าชา

 

รายที่เป็นมากจะปรากฏเซลล์ผิวหนังมีการเปลี่ยนแปลงเรียงตัวผิดปกติ และแสดงอาการมะเร็งผิวหนังขึ้นมา ความจริงอาการของไข้ดำนี้เกิดมานานแล้ว แต่ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง จนในที่สุดพบว่าเกิดจากสารหนูหรืออาร์ซีนิก ซึ่งเป็นสารปนอยู่ในแร่ดีบุก กระจัดกระจายอยู่ตามธรรมชาติในสิ่งแวดล้อม ทั้งในน้ำและในดิน

 

ความจริงสารหนูเป็นสารที่มีในธรรมชาติ ทั้งที่เป็นธาตุอิสสระและเป็นสารประกอบรวมตัวกับออกซิเจน หรือกำมะถัน มักพบมากตามเหมืองดีบุก ประชาชนในอำเภอร่อนพิบูลย์ได้ขุดบ่อใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคกันทุกครัวเรือน จึงได้รับสารหนู

การแก้ปัญหาที่นั่นคือ ทางการต้องเข้าไปวิเคราะห์จำแนกบ่อน้ำที่ยังใช้ได้ และทำเครื่องกรองน้ำให้ประชาชนใช้ การใช้ประโยชน์จากสารประกอบอาร์ซีนิกมีหลากหลาย เช่นใช้รักษาเนื้อไม้ ใช้เป็นยาฆ่าแมลงและฆ่าวัชพืช เวลาใช้ยารักษาเนื้อไม้และยาฆ่าแมลง ควรอ่านฉลากดูว่ามีสารประกอบอาร์ซีนิกหรือไม่ การกลืนกินปริมาณมากพอมีพิษถึงตาย ทำให้ร่างกายลดการผลิตเซลล์เม็ดเลือดทั้งขาวและแดง หัวใจเต้นผิดปกติ มือเท้าชา มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นสารก่อมะเร็ง

 

สธ.แจงอาการ \'ไข้ดำ\' หากประชาชนกินปลาใน \'แม่น้ำกก\' ที่มี \'สารหนู-ตะกั่ว\'

 

ติดตามเฝ้าระวังใกล้ชิด เน้นล้างผักและผลไม้ให้สะอาด

นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ โดยแจ้งเตือนเรื่องการบริโภคปลาน้ำจืดจากลำน้ำเสี่ยง และเร่งตรวจสุขภาพประชาชนที่บริโภคปลาน้ำจืดในพื้นที่เสี่ยง ประสาน รพ.สต.และโรงพยาบาลในพื้นที่เฝ้าระวังอาการผิดปกติที่อาจเชื่อมโยงกับพิษสารหนูและตะกั่ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยจากพิษสารหนูเรื้อรัง และยังได้จัดตั้งหน่วยแพทย์เฉพาะกิจร่วมกับกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย ลงพื้นที่ตรวจหาสารหนูในห่วงโซ่อาหารเป็นระยะเวลา 4 เดือน

ขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้วางแผนสุ่มตรวจน้ำประปาหมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำกกตลอดสายจนถึงเดือนกันยายน โดยจะส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1-1 เชียงราย

นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ยังได้สื่อสารความรู้เรื่องการทำความสะอาดพืชผักผลไม้และวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารให้ปลอดภัยจากสารหนูตามข้อสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยแนะนำ 3 วิธีล้างผักผลไม้ให้สะอาดซึ่งจะช่วยลดสารพิษตกค้างจากยาฆ่าแมลงและลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคได้  คือ

 

  1. ล้างด้วยน้ำไหล แช่ผักในน้ำสะอาดนาน 15 นาที แล้วเปิดน้ำไหลผ่าน คลี่ใบผักถูไปมาประมาณ 2 นาที
  2. แช่น้ำผสมน้ำส้มสายชู 5% โดยใช้น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ผักผลไม้นาน 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
  3. แช่ในเบกกิ้งโซดา ใช้อัตราส่วนครึ่งช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร แช่ไว้ 15 นาที แล้วล้างออก

ข่าวล่าสุด

คลัง-ธอส. อัดฉีด 1.5 แสนล้าน กระตุ้นอสังหาฯ ครึ่งปีหลัง