posttoday

จอสัมผัสกำลังเป็นปัญหา เมื่อยุโรปไม่เห็นด้วยกับทัชสกรีนบนรถ

27 มีนาคม 2567

กลายเป็นประเด็นใหญ่เมื่อ Euro NCAP ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการใช้ทัชสกรีนบนรถยนต์ จนหลายท่านอาจตั้งคำถามว่าเหตุใดทัชสกรีนจึงเป็นปัญหา? วันนี้เราจึงมาเจาะลึกรายละเอียดและปัญหาที่อาจจะเกิดจากจอสัมผัสบนรถ

เมื่อพูดถึง จอสัมผัส หรือ ทัชสกรีน เชื่อว่านี่เป็นหนึ่งในระบบที่ทุกท่านคุ้นเคยเป็นอย่างดี เมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมายต่างพากันใช้ระบบนี้ ตั้งแต่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ไปจนหน้าจอชนิดต่างๆ ทำให้ทัชสกรีนกลายเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่มีการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน

 

         หนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับอานิสงค์ไม่แพ้กันคือ รถยนต์รุ่นใหม่ การติดตั้งทัชสกรีนทดแทนแผงควบคุมแบบเดิมเพิ่มเติมฟังก์ชันใหม่เข้าไปมากมาย สร้างความถูกใจให้แก่คอรถยนต์หลายท่าน ตั้งแต่การควบคุมจีพีเอส, เครื่องเล่นเพลง, ชมภาพยนตร์ ฯลฯ ช่วยอำนวยความสะดวกบนท้องถนนและการใช้ชีวิตขึ้นมาก

 

         แต่แนวคิดนี้กลับเริ่มสั่นคลอนเมื่อหน่วยงานในยุโรปเริ่มไม่เห็นด้วยเมื่อมีการพึ่งพาทัชสกรีนมากเกินไป

 

จอสัมผัสกำลังเป็นปัญหา เมื่อยุโรปไม่เห็นด้วยกับทัชสกรีนบนรถ

 

การตั้งคำถามต่อทัชสกรีนเมื่อมีการใช้งานมากเกินไป

 

         ข้อโต้แย้งนี้มาจาก European New Car Assessment Program หรือ Euro NCAP องค์กรประเมินและให้คะแนนความปลอดภัยของรถยนต์ในยุโรป ออกมาแสดงความเห็นว่ารถยนต์รุ่นใหม่เริ่มมีการพึ่งพาจอสัมผัสมากเกินไป ซึ่งนั่นอาจนำไปสู่อันตรายบนท้องถนนได้

 

         สำหรับท่านที่ไม่รู้จักองค์กร Euro NCAP ทำหน้าที่ทดสอบและประเมินความปลอดภัยของรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนน โดยจะทดสอบในหลายด้านตั้งแต่การชนหน้า, ชนข้าง, ชนสิ่งกีดขวาง, ชนหลัง, เบรก ฯลฯ เพื่อแสดงถึงมาตรฐานความปลอดภัยและระดับความคุ้มครองผู้ขับ ผู้โดยสาร ไปจนคนรอบข้างเวลาเกิดอุบัติเหตุ

 

         ล่าสุดทางองค์กรออกมาแสดงความเห็นว่ารถยนต์รุ่นใหม่พึ่งพาทัชสกรีนมากเกินไป ปัจจุบันระบบการทำงานและฟังก์ชันเกือบทั้งหมดของรถยนต์เริ่มพึ่งพาการสั่งงาหรือเรียกใช้จากจอสัมผัสเป็นหลัก จึงเกิดข้อโต้แย้งว่านี่อาจนำไปสู่อันตรายบนท้องถนนได้ในระยะยาว

 

         จริงอยู่ทัชสกรีนช่วยอำนวยความสะดวกการใช้งานในหลายด้าน การควบคุมส่วนที่มีความซับซ้อนอาจตอบโจทย์มากกว่า เช่น การตั้งพิกัดเป้าหมายบน GPS, การเลือกเพลงหรือรายการที่ฟัง, การค้นหาปลายทางบนแผนที่ ไปจนฟังก์ชันอัจฉริยะทั้งหลายที่เพิ่มความสะดวกสบายต่างๆ

 

         แต่ล่าสุดเมื่อเริ่มมีแนวคิดพัฒนาทัชสกรีนให้ครอบคลุมจนกลายเป็นรถยนต์ไม่มีปุ่มกดหรือคันบังคับอื่นๆ ทางองค์กรจึงเกิดข้อโต้แย้งว่าการนำฟังก์ชันทั้งหมดมาควบคุมผ่านทัชสกรีนไม่เหมาะสมนัก และอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ใช้งานในการเกิดอุบัติเหตุและสถานการณ์อันตรายต่างๆ แทนที่จะทำให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น

 

จอสัมผัสกำลังเป็นปัญหา เมื่อยุโรปไม่เห็นด้วยกับทัชสกรีนบนรถ

 

ข้อโต้แย้งและเหตุผลของแนวโน้มการใช้ทัชสกรีน

 

         มุมมองของทาง Euro NCAP เห็นว่าการพึ่งพาทัชสกรีนเพื่อควบคุมทุกระบบเป็นเรื่องอันตราย มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ใช้งานอาจต้องละสายตาไปจากท้องถนน หรือแบ่งสมาธิไปรับมือกับการควบคุมฟังก์ชันทั่วไประหว่างการขับขี่ กลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับแผงควบคุมรถยนต์

 

         แน่นอนพวกเขาไม่ได้ต่อต้านการใช้งานทัชสกรีนทั้งหมด การควบคุมหลายส่วนจำเป็นต้องพึ่งพาหน้าจอ แต่ส่วนที่ได้รับการโต้แย้งคือระบบการควบคุมพื้นฐานของรถยนต์ตั้งแต่สัญญาณไฟเลี้ยว, สัญญาณแตร, ที่ปัดน้ำฝน, สัญญาณไฟฉุกเฉิน ไปจนฟังก์ชันขอความช่วยเหลือฉุกเฉินต่างๆ

 

         สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเนื่องจากรถยนต์รุ่นใหม่ของ Tesla ซึ่งเริ่มมีการย้ายคันบังคับไฟเลี้ยวไปอยู่บนปุ่มทัชสกรีนที่อยู่บนพวงมาลัย เช่นเดียวกับเมนูบังคับที่ปัดน้ำฝนไปจนการควบคุมเกียร์รถยนต์บางส่วนก็ถูกย้ายไปอยู่ใต้การควบคุมของทัชสกรีน นำไปสู่ความกังวลในการใช้งานรถยนต์รุ่นใหม่

 

         ในปัจจุบันการใช้งานทัชสกรีนเป็นเรื่องทั่วไปผู้ขับขี่ย่อมมีความคุ้นเคย ในเชิงการออกแบบเองเมื่อลดจำนวนปุ่มก็ช่วยให้แผงควบคุมสะอาดตาสวยงามขึ้น อีกทั้งทัชสกรีนยังทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกถึงความหรูหรามีระดับ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความพอใจให้แก่ผู้ใช้งาน

 

         แต่ส่วนสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การเปลี่ยนผ่านตัดทอนปุ่ม แผงควบคุม และคันบังคับทุกรูปแบบออกจากระบบควบคุมรถจะช่วยประหยัดต้นทุน เพราะสามารถสั่งการระบบทั้งหมดผ่านหน้าจอโดยไม่ต้องไปติดตั้งระบบแยกส่วนเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตรถยนต์ลง

 

         อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับอันตรายที่จะตามมานี่อาจเป็นส่วนที่เราจำเป็นต้องประเมินอย่างละเอียดอีกครั้ง

 

จอสัมผัสกำลังเป็นปัญหา เมื่อยุโรปไม่เห็นด้วยกับทัชสกรีนบนรถ

 

 

         อันตรายจากการพึ่งพาทัชสกรีนมากเกินไป

 

         จริงอยู่ทุกวันนี้เรามีการใช้งานทัชสกรีนกันทั่วไป แต่นั่นก็ย่อมทำให้เรารู้ดีว่าการควบคุมหน้าจอทัชกรีนทั้งหลายให้แม่นยำเป็นเรื่องยาก เนื่องจากการควบคุมและแสดงผลเหล่านี้ไม่มีขอบเขตแน่ชัด จำเป็นต้องอาศัยการกะเกณฑ์และเล็งตำแหน่งอย่างแม่นยำ เพื่อให้การควบคุมไม่มีความผิดพลาด

 

         เปรียบเทียบกับกรณีการใช้งานสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวัน แม้จะเป็นในช่วงเวลาที่เราจ้องหน้าจอตาไม่กระพริบ การสั่งใช้งานให้ถูกต้องแม่นยำยังทำได้ไม่เต็มร้อย หลายครั้งที่เราเผลอกดไปโดนอย่างไม่ตั้งใจหรือตำแหน่งที่ได้รับการออกแบบอาจเล็กกว่านิ้วเราจนจิ้มไปโดนอีกส่วน สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจระหว่างการใช้งานไม่น้อย

 

         สำหรับสมาร์ทโฟนข้อผิดพลาดเหล่านั้นอาจน่าหงุดหงิดไม่ถึงขั้นคอขาดบาดตาย แต่ในกรณีการใช้งานบนท้องถนน ปุ่มที่เผลอกดผิดอาจนำไปสู่อันตราย อีกทั้งเราไม่สามารถละสายตาไปมองแผงควบคุมให้ชัดได้ เพราะเราต่างทราบดีว่าบนท้องถนนเวลาเสี้ยววินาทีทำให้เกิดความสูญเสียมานักต่อนัก

 

         ประเด็นต่อมาคือทัชสกรีนทำให้เกิดแสงสว่างค่อนข้างมาก กรณีเปิดใช้งานในที่มืดหรือตอนกลางคืนอาจทำให้ผู้ขับขี่เกิดอาการตาพร่า เพราะรูม่านตาปรับตัวตามแสงไม่ทันจนอาจประสบอุบัติเหตุได้เช่นกัน หากระบบควบคุมพื้นฐานในการขับรถยังพึ่งพาทัชสกรีน อันตรายที่เกิดอาจไม่ต่างจากการใช้สมาร์ทโฟนระหว่างขับขี่เลย

 

         อีกหนึ่งอันตรายคือกรณีประสบอุบัติเหตุ จริงอยู่ปัจจุบันยังไม่มีปุ่มขอความช่วยเหลือหรือไฟฉุกเฉินที่เปิดผ่านทัชสกรีน แต่ในอนาคตหากมีการย้ายฟังก์ชันนี้ลงสู่ทัชสกรีน อาจทำให้เมื่อประสบเหตุเข้าจริงๆ ผู้ใช้งานอาจไม่สามารถสั่งการหรือเปิดใช้ได้อย่างสะดวก อาจทำให้การขอความช่วยเหลือติดขัดจนเป็นอันตรายได้

 

         สุดท้ายที่ชวนให้ตั้งคำถามไม่แพ้กันคือ แนวโน้มการตลาดของบริษัทรถยนต์ จากข่าวการเปิดระบบอุ่นเบาะบนรถ BMW ที่การใช้งานจำเป็นต้องสมัครสมาชิกเสียค่าใช้จ่ายรายเดือน แล้วจึงสามารถเปิดใช้งานจากหน้าจอทัชสกรีน ทั้งที่ความจริงฟังก์ชันนี้ได้รับการติดตั้งควบคู่ภายในรถและควรเปิดให้ใช้งานตั้งแต่ต้น

 

         สิ่งนี้เองนำไปสู่การตั้งคำถามว่าหากระบบควบคุมทุกชนิดถูกย้ายไปผูกกับทัชสกรีนจริง ฟังก์ชันพื้นฐานเหล่านี้จะถูกเปิดให้ใช้งานผ่านระบบจ่ายรายเดือนแบบเดียวกันหรือไม่? เมื่อนี่เป็นระบบพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อรถยนต์ทุกคัน ซึ่งอาจเป็นช่องทางใหม่ในการสร้างกำไรของบริษัทรถยนต์

 

         ทั้งยังนำไปสู่การตั้งคำถามด้วยว่าถ้าลงท้ายแม้แต่ระบบเบรก คันเร่ง หรือพวงมาลัยถูกใช้ผ่านระบบทัชสกรีนจะเป็นอย่างไร?

 

 

 

         อย่างไรก็ตามแนวคิดในการตัดคันบังคับสำหรับเปิดใช้สัญญาณไฟเลี้ยวยังคงจำกัดเพียงไม่กี่เจ้า นี่จึงอาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลในเร็ววัน แต่ทาง Euro NCAP เองก็เป็นเพียงหน่วยงานประเมินความปลอดภัยที่ใช้สำหรับเพิ่มความน่าเชื่อถือ สิ่งเดียวที่พวกเขาทำได้คือลดคะแนนประเมินลง แต่ไม่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อห้ามหรือหยุดยั้งเรื่องนี้เช่นกัน

 

         คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจากนี้ทิศทางของระบบบังคับรถยนต์จะทำให้ทัชกสกรีนควบคุมส่วนใดได้บ้าง

 

 

         ที่มา

 

         https://www.gooinspection.com/%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%8D%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%9B-%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84/

 

         https://www.carscoops.com/2024/03/has-touchscreen-tech-gone-too-far-euro-ncap-thinks-so/

 

         https://www.lifewire.com/car-touchscreens-safety-ratings-8605508