posttoday

เมื่อการนอนกระทบ GDP และชีวิตแบบโปรดักทีฟ ปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ!

15 มีนาคม 2567

ปัญหาการนอนกระทบกับการทำงานที่มีประสิทธิภาพทั่วโลก โดยกระทบกับ GDP สหรัฐอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียกว่าพันล้านดอลลาร์ จากการขาดลา อุบัติเหตุและการสูญเสียชีวิต แพทย์จึงระบุหลัก 10 ข้อที่ทำให้การนอนมีประสิทธิภาพ และระยะเวลาการนอนที่เหมาะสมในแต่ละวัย

หลายคนไม่เห็นความสำคัญของการนอนหลับ แค่ปล่อยให้กลไกธรรมชาติพาเรานอนก็เพียงพอ หรือฝืนได้หน่อยก็ค่อยไปหลับชดเชยก็ย่อมได้ หรือบางคนแทบจะไม่อยากนอน เพราะอยากมีเวลาเยอะๆ ด้วยความที่ว่าจะได้ใช้ไปกับการทำงาน หาเงิน รับผิดชอบหน้าที่ โดยละเลยสิ่งที่ติดตัวเรามา นั่นคือ ‘การนอน’

แต่มีการวิจัยที่พบว่าประสิทธิภาพการทำงานแท้ที่จริงแล้วต้องเริ่มจากการนอนหลับที่เพียงพอ โดยผู้ที่นอนหลับ 7-8 ชั่วโมงจะทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าถึงร้อยละ 20 ส่วนคนที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงจะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงที่ร้อยละ 29 เลยทีเดียว โดยการทดลองพบว่า การงีบหลับครึ่งชั่วโมงระหว่างทำงานสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ร้อยละ 1

 

การนอนส่งผลต่อ GDP

ในประเทศออสเตรเลียได้พบว่าปัญหาการนอนนั้นส่งผลต่อ GDP โดยมีนัยยะสำคัญ คือส่งผลโดยตรง ร้อยละ 1.5 ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ต้องใช้จ่ายในการรักษาเรื่องปัญหาการนอนหลับ ส่วนร้อยละ 4.6 คือส่งผลต่อ GDP ทางอ้อม จากปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน

นอกจากนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานว่าร้อยละ 7 ของพนักงานในสหรัฐที่นอนหลับไม่พอมีอัตราการขาดงานโดยไม่ได้วางแผนมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับพนักงานคนอื่นๆ และส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง โดยสหรัฐต้องสูญเสียราวๆ 44.6 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี และหากนับความเสียหายทางเศรษฐกิจจากโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางการนอนทำให้สหรัฐเสียหายอีก 411 พันล้านดอลลาร์ต่อปี

ในขณะที่คนทำงานซึ่งอยู่บ้านไกลจากที่ทำงานมาก แม้จะได้นอนเพิ่มชั่วโมงหนึ่งต่อสัปดาห์แล้วแต่ก็ยังมีแนวโน้มขาดงานและมีประสิทธิผลน้อยลง ส่งผลให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกว่า 138 พันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

และร้อยละ 49.7 ของพนักงานใน 97 บริษัทที่ตั้งอยู่ในเยอรมันนีรายงานว่ามีปัญหาในการล้มและนอนหลับในระดับปานกลาง ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพงานลดลง เกิดการลาป่วยและอุบัติเหตุ!

 

การนอนนั้นสำคัญไฉน?

แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลว่า การนอนหลับที่สม่ำเสมอและเพียงพอเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการรักษาสุขภาพ ความสำคัญของการนอน คือ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน ได้ซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตลอดทุกช่วงวัยตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา เด็กปฐมวัย และเด็กวัยเรียน การนอนหลับมีบทบาทสำคัญกับการเจริญเติบโตพัฒนาการของร่างกายและสมอง ในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุมีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน สุขภาพและโรคประจำตัว

ส่วนการนอนหลับไม่เพียงพอ หรือโรคของการนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว ภาวะภูมิต้านทานต่ำ และเพิ่มความโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน วิถีชีวิตที่เร่งรีบส่งผลให้ประชาชนมีพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดการเสื่อมถอยของร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อ กระดูก สมอง การรับรู้และการตอบสนองช้าลง อาจนำไปสู่ปัญหาการนอนไม่หลับเรื้อรังได้

 

รู้จัก Obstructive Sleep Apnea ความผิดปกติจากการนอน อันตรายต่อตนเองและคนรอบข้าง

สำหรับคนที่เป็นเพศชาย มีภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง หมดรอบประจำเดือน รอบคอกว้าง และลักษณะโครงสร้างผิดปกติ รวมไปถึงปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การทานยานอนหลับ ภาวะภูมิแพ้หรือความผิดปกติในช่องจมูก เหล่านี้ เป็นส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น หรือ OSA

โดยลักษณะอาการนั้นจะเป็นการหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งจะส่งผลต่อความจำ สภาวะอารมณ์ รวมไปถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่สำคัญคือมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือการทำงานที่ผิดพลาดได้  เพราะมักจะพักผ่อนไม่เพียงพอ จนทำให้ตื่นขึ้นมาพร้อมความรู้สึกที่อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น อารมณ์หงุดหงิดตลอดเวลา หากเป็นนานๆ เข้าจะทำให้เกิดโรคอ้วน ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจและหลอดเลือด ประสิทธิภาพการทำงานไม่ดี อันตรายจากการทำงานหรือขับขี่รถยนต์

หลายคนอาจจะอยากรู้ว่าหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะมีวิธีการสังเกตอย่างไร สามารถสังเกตได้ดังนี้

1. เสียงกรนที่ดังแม้กระทั่งปิดประตูยังได้ยิน

2. ลักษณะของการกรนแล้วหยุดเป็นพักๆ ตามด้วยเหมือนอาการสำลักขณะนอนหลับ หรือมีผู้สังเกตเห็นว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

3. ภาวะง่วงนอนผิดปกติ เช่น ขณะทำงานหรือหลับในขณะขับรถ

4. ไม่มีสมาธิ ขี้ลืม

5. ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า

6. ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน

7. ความรู้สึกทางเพศลดลง

เพราะฉะนั้นหากใครเป็นกลุ่มเสี่ยง และรู้สึกว่าตนเองเข้าข่ายดังกล่าว จึงควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป เพื่อนำคุณภาพการนอนกลับมา

 

แพทย์แนะวิธีช่วยให้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ

สำหรับบุคคลทั่วไป ที่อยากจะมีการนอนที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ จากข้อมูลของกรมอนามัยได้แนะนำวิธีการนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ ดังนี้

  1. เข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำ
  2. รับแสงแดดตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาที
  3. ไม่ควรนอนในเวลากลางวัน หากงีบหลับ ไม่ควรเกิน 30 นาที
  4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  5. หลีกเลี่ยงคาเฟอีนและอาหารมื้อดึก 4 ชั่วโมงก่อนนอน
  6. งดดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ 4 ชั่วโมงก่อนนอน
  7. นอนเตียงนอนที่สบาย
  8. ผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล
  9. ควรใช้ห้องนอนเพื่อการนอนเท่านั้น ไม่ควรเล่นโทรศัพท์มือถือ
  10. หากไม่หลับภายใน 30 นาที ควรลุกไปทำกิจกรรมอื่นแล้วกลับมานอนใหม่

 

ส่วนระยะเวลาในการนอน สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย แนะนำระยะเวลาในการนอนที่เหมาะสมในแต่ละวัย ได้แก่ เด็กหัดเดินอายุ 1-2 ปี เฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง เด็กอนุบาล อายุ 3- 5 ปี เฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง เด็กวัยประถม อายุ 6-13 ปี เฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง เด็กวัยมัธยมอายุ 14-17 ปี เฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง วัยผู้ใหญ่ อายุ 18 ปีขึ้นไป และผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เฉลี่ยวันละ  7-8 ชั่วโมง