posttoday

เมื่อรถติดทำให้ความดันโลหิตเราสูงขึ้นนานถึง 24 ชั่วโมง

31 มกราคม 2567

เมื่อรถติดทำให้ความดันโลหิตเราสูงขึ้นนานถึง 24 ชั่วโมง รถติด อีกหนึ่งเรื่องน่าหงุดหงิดที่เกิดทั่วไป ทำให้เราเสียทั้งเวลาและสุขภาพจิตไม่เว้นแต่ละวัน แต่จะเป็นอย่างไรหากรถติดไม่ได้แค่ส่งผลทางอ้อม แต่ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นโดยตรง

เชื่อว่าทุกท่านต้องเคยผ่านประสบการณ์การจราจรติดขัดมาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนที่จำนวนรถมักแน่นขนัดจนการจราจรพากันหยุดนิ่ง ขยายเวลาในการเดินทางให้ยืดยาวน่าเบื่อหน่ายแต่เรากลับทำอะไรได้ไม่มาก เพราะบางครั้งเราก็หลวมตัวเข้ามาในจุดที่ถอยกลับไม่ได้

 

          แน่นอนไม่มีใครชอบสภาพที่ต้องติดชะงักอยู่บนท้องถนนเพราะทำให้เราต้องเสียเวลาเดินทางเพิ่มโดยใช่เหตุ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้โดยสารรถประจำทางหรือขับขี่รถยนต์ส่วนตัวก็ตาม เป็นเรื่องที่ทำให้เสียสุขภาพจิตเป็นอย่างยิ่งจนทุกคนอยากหลีกเลี่ยง

 

          แต่จะเป็นอย่างไรหากบอกว่าการที่รถติดไม่พียงเสียสุขภาพจิตแต่ทำให้ความดันโลหิตของเราพุ่งสูงตามไปด้วย

 

เมื่อรถติดทำให้ความดันโลหิตเราสูงขึ้นนานถึง 24 ชั่วโมง

 

การอยู่ในสภาวะรถติดทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

 

          สำหรับท่านที่ใช้งานท้องถนนเป็นประจำอาจรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ในช่วงเวลาเร่งด่วนการจราจรพลุกพล่านย่อมนำไปสู่รถติด ใครบ้างเมื่อเผชิญกับเรื่องแบบนี้แล้วจะพอใจ เมื่อเจอเรื่องหงุดหงิดน่าโมโหย่อมส่งผลกระทบต่อความดันโลหิต ถือเป็นกลไกตามปกติของร่างกาย

 

          แต่จากการตรวจสอบของ University of Washington พบว่า เมื่อทำการเก็บข้อมูลของผู้ใช้รถยนต์สุขภาพดีช่วงอายุ 22 – 45 ปี ที่เผชิญรถติดเป็นเวลาเฉลี่ยราว 1 ชั่วโมงพบว่า ค่าความดันโลหิตของผู้เดินทางสูงขึ้น อีกทั้งผลลัพธ์นี้ไม่หายไปในเวลาอันสั้นแต่มีผลสะสมตกค้างยาวนานถึง 24 ชั่วโมง

 

          สิ่งนี้สอดคล้องกับข้อมูลภายในห้องวิจัยที่พบว่า ควันไอเสียรถยนต์ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาไหม้เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะกับฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 จะทำให้ความดันโลหิตของผู้ใช้งานท้องถนนสูงขึ้นเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 24 ชั่วโมง แม้จะอยู่ในสภาพอากาศที่มีมลภาวะต่ำที่ค่า AQI 36 ก็ตาม

 

          ถึงตรงนี้อาจมีข้อโต้แย้งสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนบางส่วนว่าอาจเป็นเรื่องบังเอิญ แต่เมื่อมีการทดสอบนำเครื่องฟอกอากาศติดตั้งให้แก่ผู้ใช้รถกลุ่มเดิมพบว่า เครื่องกรองอากาศลดระดับค่าฝุ่นภายในรถได้กว่า 86% และส่งผลให้มีระดับความดันโลหิตลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 มิลลิเมตรปรอท

 

          ปริมาณความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น 4.5 มิลลิเมตรปรอทอาจฟังดูไม่มาก แต่ถือเป็นภัยร้ายแรงสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่ประสบปัญหาความดันโลหิตสูงอยู่ก่อน เพราะเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

          เราจึงสามารถพูดได้เต็มปากว่ารถติดไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพจิตแต่ยังส่งผลต่อร่างกายโดยตรง

 

เมื่อรถติดทำให้ความดันโลหิตเราสูงขึ้นนานถึง 24 ชั่วโมง

 

สู่ปัญหาที่ยังไม่มีแนวทางรับมือแก้ไข

 

          จริงอยู่การทดสอบครั้งนี้ยังมีรายละเอียดที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากความดันโลหิตเป็นค่าชี้วัดที่มีอัตราการผันผวนสูง แต่งานวิจัยนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ในขั้นต้นว่า ค่าความดันโลหิตที่สูงขึ้นไม่ได้มาจากความเครียดหรือเสียงรบกวนต่างๆ แต่เป็นผลกระทบมาจากค่าฝุ่นละอองในอากาศอย่าง PM2.5 โดยตรง

 

          ต้องยอมรับว่าการใช้ชีวิตหรืออยู่อาศัยในเมืองใหญ่ไม่ว่าใครก็หลีกเลี่ยงรถติดไปไม่ได้ สิ่งนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คน ทั้งกับคนใช้รถใช้ถนนที่ต้องเผชิญกับรถติดอยู่ทุกวัน หรือแม้แต่ผู้อยู่อาศัยบริเวณที่มีการจราจรพลุกพล่าน ถือเป็นสถานการณ์ที่ผู้คนใหญ่ต้องเผชิญทุกวันจากการใช้ชีวิตภายในเมือง

 

          นั่นย่อมนำไปสู่การตั้งคำถามเป็นลำดับถัดมาว่า ในช่วงเวลาเก็บข้อมูลค่าฝุ่นเฉลี่ยในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ที่เป็นสถานที่ทำการทดสอบอยู่ที่ AQI 36 จัดว่าเป็นระดับมลพิษทางอากาศในเกณฑ์ดียังส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นถึง 4.5 มิลลิเมตรปรอท ในกรณีที่ค่ามลพิษทางอากาศหรือฝุ่น PM2.5 สูงกว่านั้นจะเป็นเช่นไร

 

          สำหรับประเทศไทยเราทราบดีว่ามลพิษทางอากาศถือเป็นปัญหาร้ายแรงที่รอการแก้ไข จริงอยู่ฝุ่นละอองในประเทศไม่ได้เกิดขึ้นจากไอเสียรถยนต์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีควันเผาไหม้จากภาคการเกษตร และมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าฝุ่นละอองเหล่านี้ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตของเราขนาดไหน

 

          อีกทั้งทุกท่านยังทราบดีว่ามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 นั้นสร้างผลกระทบในหลายด้าน ทั้งในต่อผิวหนัง, เยื่อบุดวงตา, ระบบทางเดินหายใจ, หลอดเลือดหัวใจ, เส้นเลือดในสมอง, ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย, เป็นสารก่อมะเร็งทางเดินหายใจและทรวงอก ส่งผลกระทบแม้แต่กับทารกในครรภ์

 

          ร้ายแรงกว่านั้นคือในปัจจุบันเราก็ยังไม่มีแนวทางรับมือที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมในระยะยาว

 

 

 

 

          ปัจจุบันประเทศไทยตื่นตัวจากพิษภัยของมลพิษทางอากาศจาก PM2.5 มีมากขึ้น นำไปสู่การเดินหน้าขับเคลื่อนพ.ร.บ.อากาศสะอาด เริ่มได้รับอนุมัติหลักการและอยู่ในกระบวนการพิจารณาอยู่ 4 ฉบับ ที่เหลือเราคงต้องรอดูกันต่อไปว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาและบังคับใช้เมื่อใด

 

          คงได้แต่คาดหวังว่าเมื่อพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับการบังคับใช้จะช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศที่เราหายใจขึ้นมาบ้าง

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/104003

 

          https://www.posttoday.com/post-next/innovation/688242

 

          https://www.washington.edu/news/2023/11/27/breathing-highway-air-increases-blood-pressure-uw-research-finds/#

 

          https://www.esmo.org/newsroom/press-and-media-hub/esmo-media-releases/air-pollution-and-breast-cancer-risk-a-link-that-calls-for-political-action