posttoday

มลพิษทางอากาศ รากฐานหายนะแห่งสุขภาพปอด

14 ธันวาคม 2565

เหตุการณ์แพทย์หนุ่มจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมะเร็งปอดเรียกเสียงฮือฮาจากสังคม ทำให้ผู้คนพากันสันนิฐานว่าเรื่องนี้อาจเกิดจากมลพิษทางอากาศ แต่แท้จริงนอกจากมะเร็งแล้ว มลพิษทางอากาศยังส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าใครคิด

 

          ก่อนหน้านี้ไม่นานมีเหตุการณ์เรียกเสียงฮือฮาแก่สังคม กับการออกมาเปิดเผยของแพทย์หนุ่มโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งปอด นำไปสู่ข้อสงสัยของผู้คนว่า เหตุใดคนหนุ่มที่ดูแลตัวเองเอาใจใส่สุขภาพ แทบไม่ดื่มเหล้าและไม่สูบบุหรี่จึงกลายเป็นแบบนี้ได้ และสาเหตุที่ผู้คนคิดออกมาพร้อมกันคือ มลพิษทางอากาศ

 

          ล่าสุดมีผลการวิจัยออกมายืนยันแล้วเช่นกันว่า มลพิษทางอากาศสร้างความเสียหายแก่ร่างกายอย่างมาก และคาดว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้แพทย์หนุ่มและใครอีกหลายคนทางภาคเหนือต้องทุกข์ทรมานจากโรคทางเดินหายใจ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งในภาคเหนือกว่าปีละ 14,000 คน

มลพิษทางอากาศ รากฐานหายนะแห่งสุขภาพปอด

 

          มลพิษทางอากาศ ต้นตอมะเร็งปอดแก่ผู้ไม่เคยสูบบุหรี่

 

          สมัยก่อนเราอาจคุ้นเคยว่าการเป็นมะเร็งปอดจำเป็นต้องสูบบุหรี่จัด ทำให้ถุงลมโป่งพอง นำไปสู่มะเร็งปอดจนทางเดินหายใจล้มเหลว ปัจจุบันทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปเมื่ออัตราการเกิดของผู้ป่วยมะเร็งปอดมีจำนวนมากขึ้น สวนทางกับแนวโน้มผู้สูบบุหรี่ที่เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดจนเกิดข้อสงสัยเป็นวงกว้าง

 

          เมื่อลองมีการตรวจสอบสถิติผู้ป่วยมะเร็งปอดในไทยกลับพบว่า ภาคเหนือถือเป็นพื้นที่ซึ่งมีผู้ป่วยมะเร็งปอดมากที่สุด และจังหวัดที่มีการตรวจพบมากสุดคือ เชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงคาดว่า สาเหตุของมะเร็งปอดที่กำลังแพร่กระจายในตอนนี้ มีความเกี่ยวพันกับฝุ่นละออง PM2.5 และคำตอบคือ ใช่

 

          โดยล่าสุดได้มีการทำวิจัยในหัวข้อนี้ในประเทศอังกฤษ พวกเขาได้ทำการศึกษาหาสาเหตุผู้เป็นมะเร็งปอดทั้งที่ไม่เคยสูบบุหรี่ เพื่อตรวจสอบว่ามลพิษทางอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพคนเราเช่นไร ก่อนพบว่ากระบวนการก่อมะเร็งจากมลพิษทางอากาศต่างจากมะเร็งตามปกติโดยสิ้นเชิง

 

          ขั้นตอนทั่วไปในการก่อมะเร็งคือ เซลล์แข็งแรงภายในร่างกายได้รับความเสียหายด้วยวิธีใดก็ตาม จนเริ่มเกิดกลายพันธุ์ในระดับดีเอ็นเอ จากนั้นจะกลายเป็นเซลล์ผิดปกติที่เติบโต ก่อนเริ่มแพร่กระจายจนนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ป่วยในที่สุด ซึ่งสำหรับในกรณีมะเร็งปอดเหตุการณ์นี้มักเกิดขึ้นได้ด้วยการสูบบุหรี่

 

          แต่แนวทางล่าสุดของมะเร็งที่มีการค้นพบคือ เซลล์แข็งแรงไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสียหาย แต่เป็นเซลล์ในร่างกายที่ได้รับความเสียหายอยู่ก่อน ถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยแวดล้อมภายนอก ซึ่งส่วนนี้เกี่ยวพันกับฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิด และเมื่อเซลล์นี้ได้รับการกระตุ้นให้ทำงานจึงเกิดเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด

 

          แต่แม้เราจะโชคดีไม่เกิดมะเร็งจากฝุ่น PM2.5 แต่ก็ยังมีความเสี่ยงต่อโรคชนิดอื่นได้เช่นกัน

มลพิษทางอากาศ รากฐานหายนะแห่งสุขภาพปอด

 

          เมื่อมลพิษทางอากาศทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกาย

 

          ผลการวิจัยล่าสุดจาก Columbia University Irving Medical Center พบว่า เมื่อได้รับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน ปอดอาจอ่อนแอลงจนเกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น เป็นความเสี่ยงไปสู่โรคปอดชนิดอื่นๆ ในอนาคต เช่น ไข้หวัดใหญ่, วัณโรค หรือแม้แต่โควิด-19

 

          การวิจัยนี้เริ่มต้นจกการเก็บข้อมูลเนื้อเยื่อในต่อมน้ำเหลืองของผู้บริจาคร่างกาย โดยการตรวจสอบเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองบริเวณปอดทำให้พวกเขาพบว่า เนื้อเยื่อมต่อมน้ำเหลืองในบริเวณปอดมีสีดำ แตกต่างจากบริเวณอื่นซึ่งมีสีเบจหรือสีเนื้อแบบชิ้นเนื้อทั่วไป

 

          เมื่อได้ลองตรวจสอบชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองปอดพวกเขาพบว่า สิ่งที่ปนเปื้อนคืออนุภาคที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ โดยกลุ่มตัวอย่างนี้ไม่ได้สูบบุหรี่มาก่อนแต่การตรวจสอบทำให้พวกเขาพบว่า ผู้บริจาคทั้ง 84 ราย ในช่วงอายุตั้งแต่ 11 – 93 ปี ล้วนมีการปนเปื้อนในเนื้อเยื่อนี้ทั้งสิ้น โดยอายุที่มากขึ้นยิ่งส่งผลให้การปนเปื้อนเพิ่มตามไปด้วย

 

          สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับส่วนอื่นในร่างกาย ด้วยชัดเจนว่าเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองส่วนอื่นของผู้บริจาคล้วนไม่ได้รับผลกระทบ และเมื่อลงลึกในรายละเอียดพวกเขาพบว่า อนุภาคเหล่านี้เข้าไปรบกวนการทำงานเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า Macrophages โดยเข้ายับยั้งการผลิตเซลล์ชนิดนี้ขึ้นมา ทำให้อัตราการทำงานของภูมิคุ้มกันภายในปอดลดลง

 

          เมื่อเซลล์กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบทำให้ภูมิคุ้มกันภายในปอดเราอ่อนแอ เป็นเหตุให้การรับมือและตอบสนองต่อการติดเชื้อในปอดทำได้แย่ลง ซึ่งจะส่งผลมากต่อผู้สูงอายุที่นอกจากร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพ ยังได้รับมลพิษทางอากาศสะสมปริมาณมาก นำไปสู่การติดเชื้อนานาชนิดในที่สุด

 

          การค้นพบนี้ช่วยอธิบายให้เราเข้าใจว่า เหตุใดผู้สูงอายุจึงมักเกิดปัญหาติดเชื้อในทางเดินหายใจ อีกทั้งยังช่วยให้เข้าใจด้วยว่ามลภาวะทางสิ่งแวดล้อมรอบตัวส่งผลกระทบต่อร่างกายเราเช่นไร และจะส่งผลกระทบแบบไหนต่อลูกหลานเราในอนาคต

 

 

          ปัจจุบันยังไม่ทราบว่ามลพิษทางอากาศส่งผลต่อระบบภูมิคุ้นกันโดยรวมเช่นไร แต่เห็นได้ชัดว่าในพื้นที่มลพิษทางอากาศสูงนอกจากติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับปอดและทางเดินหายใจจะเพิ่มสูงขึ้น เป็นข้อยืนยันว่ามลพิษทางอากาศส่งผลต่อสภาพร่างกายของมนุษย์เป็นวงกว้าง

 

          นโยบายทางสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ลดการเผาไหม้ และนโยบายจำกัดการปล่อยคาร์บอน จึงไม่เพียงแค่เป็นการช่วยเหลือโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยพัฒนาสุขภาพและระบบภูมิคุ้มกันของเราไปในตัว รวมถึงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงพร้อมรับมือโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

 

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.thaipost.net/education-news/49602/

 

          https://siamrath.co.th/n/398876

 

          https://www.bbc.com/thai/articles/cpv1vy7rzzzo

 

          https://newatlas.com/health-wellbeing/long-term-exposure-air-pollution-lung-lymph-immune-infection/?fbclid=IwAR02rR8HMeNe_icABUHcR57x9FDRw6ojteCSkVfoeY4JWMxlGGEWlIDJTVs