posttoday

โคเวิร์กกิ้งสเปซขาขึ้น แบรนด์นอกปักธงกลางกรุง

05 มิถุนายน 2561

โคเวิร์กกิ้งสเปซ หรือที่นั่งทำงานร่วมให้เช่า เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในกรุงเทพฯ

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

โคเวิร์กกิ้งสเปซ หรือที่นั่งทำงานร่วมให้เช่า เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในกรุงเทพฯ หลังผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศเริ่มเปิดตัวในอาคารสำนักงานเกรดเอและจะมีอีกหลายรายตามเข้ามา

ทั้งนี้รายใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาเปิดธุรกิจ หรือเตรียมพื้นที่สำหรับเปิดธุรกิจในกรุงเทพฯ แล้ว ได้แก่ Spaces มีสาขาที่อาคารจัตุรัสจามจุรีและซัมเมอร์ฮิลล์ คอมมูนิตี้มอลล์ย่านพระโขนง Justco เปิดสาขาแรกแล้วที่อาคารเอไอเอสาทร ทาวเวอร์ และกำลังเตรียมเปิดอีกสาขาที่อาคารแคปปิตอล ทาวเวอร์ (ออล ซีซั่นส์ เพลส) WeWork เตรียมเปิดสาขาแรกที่อาคารเอเชีย เซ็นเตอร์ และ The Great Room ซึ่งจะเปิดสาขาแรกที่อาคารเกษร ทาวเวอร์ในเดือนนี้

ยุพา เสถียรภาพอยุทธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการธุรกิจอาคารสำนักงาน เจแอลแอล กล่าวว่า ผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้งสเปซรายใหญ่จากต่างประเทศล้วนเลือกเช่าพื้นที่เพื่อเปิดธุรกิจในอาคารสำนักงานเกรดเอในย่านศูนย์กลางธุรกิจ โดยส่วนใหญ่เช่าพื้นที่ขนาด 3,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ขึ้นไปสำหรับแต่ละสาขา นอกจากนี้ผู้ประกอบการเหล่านี้บางรายยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มอีกจำนวนมาก

ขณะนี้ยังมีผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้งสเปซจากต่างชาติอีกหลายรายที่กำลังอยู่ระหว่างเตรียมเข้ามาเปิดธุรกิจในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเลเซีย และกำลังมองหาพื้นที่เช่าขนาด 2,000-3,000 ตร.ม. ในอาคารสำนักงานเกรดเอ

ในอดีตโคเวิร์กกิ้งสเปซที่เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทยเกือบทั้งหมด โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ บริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทเอสเอ็มอีที่มีจำนวนพนักงานน้อยและไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศเต็มรูปแบบ รวมไปจนถึงกลุ่มคนทำงานอิสระที่ต้องการที่นั่งทำงานซึ่งมีความสะดวกและสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานได้ดีกว่าการนั่งทำงานที่บ้าน ตลอดจนถึงการมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ หรือจากสาขาอาชีพที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นโคเวิร์กกิ้งสเปซที่มีอยู่ตั้งแต่ช่วงแรกๆ มักเปิดบริการอยู่ในตึกขนาดเล็กถึงขนาดกลาง รวมไปจนถึงศูนย์การค้า มีผู้ประกอบการจำนวนไม่มากนักที่เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานเพื่อเปิดบริการ แบรนด์ต่างชาติ อาทิ Launchpad ที่อาคารเศรษฐีวรรณ และ BIGWork ที่ สาทร นครทาวเวอร์ ส่วนตัวอย่างแบรนด์ไทย ได้แก่ Glowfish ที่อโศกทาวเวอร์และอาคารสาทรธานี Draft Board ที่อาคารอรกานต์ Kloud ที่อาคารฟลอริช และ Meticulous Offices ที่เอสเอสพีทาวเวอร์

โคเวิร์กกิ้งสเปซขาขึ้น แบรนด์นอกปักธงกลางกรุง

โคเวิร์กกิ้งสเปซจะเป็นที่นิยมของลูกค้าระดับองค์กรมากขึ้น ไม่เพียงเพราะเป็นรูปแบบที่นั่งทำงานซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดสังคมของการทำงานร่วมกันเท่านั้น แต่ยังมีความยืดหยุ่นสูงด้วย โดยบริษัทที่ใช้โคเวิร์กกิ้งสเปซเป็นสำนักงานหรือที่ทำงาน ไม่จำเป็นต้องลงทุนตกแต่งสำนักงานเอง และไม่ต้องผูกพันกับสัญญาเช่ายาว จึงสามารถย้ายออกได้ง่ายกว่าการเช่าสำนักงานแบบเดิม นอกจากนี้รูปแบบการให้บริการแบบสมาชิก ยังเปิดโอกาสให้สามารถปรับเพิ่มหรือลดจำนวนที่นั่งได้ตามการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนพนักงานที่มีอยู่จริง

กระแสการเติบโตของที่ทำงานรูปแบบใหม่นี้ ทำให้เจ้าของอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ เริ่มสนใจแนวคิดการปรับพื้นที่บางส่วนในอาคารของตนให้เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ ซึ่งต่างจากเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วที่ไม่มีเจ้าของอาคารสำนักงานสนใจแนวคิดนี้เลย อย่างไรก็ดีการบริหารจัดการต้องอาศัยความเชี่ยวชาญที่ต่างจากการให้เช่าพื้นที่สำนักงานรูปแบบเดิม ทำให้ในเบื้องต้นนี้เจ้าของอาคารสนใจที่จะหาผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้งสเปซเข้ามาเป็นหุ้นส่วนมากกว่าที่จะเป็นผู้ดำเนินการเอง

สำหรับสถานที่ทำงานที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งหมายรวมถึงเซอร์วิสออฟฟิศและโคเวิร์กกิ้งสเปซกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้ธุรกิจนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลกโดยเฉพาะเอเชียแปซิฟิก ซึ่งนับเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวของเซอร์วิสออฟฟิศและโคเวิร์กกิ้งสเปซรวดเร็วที่สุดในโลก โดยในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตที่ 35.7% เทียบกับอเมริกาและยุโรปที่มีการขยายตัว 25.7% และ 21.6% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังคาดการณ์ด้วยว่าภายในปี 2573 โคเวิร์กกิ้งสเปซจะมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 30% ของพื้นที่สำนักงานทั่วโลก

ด้านบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ระบุว่า โคเวิร์กกิ้งสเปซในกรุงเทพฯ มีทั้งหมดประมาณ 50 โครงการ พื้นที่รวมว่าประมาณ 1 แสน ตร.ม. คาดการณ์ในปีนี้จะมีการเปิดตัวโครงการพื้นที่รวมประมาณ 2.5 หมื่น ตร.ม. โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากสิงคโปร์ ขณะเดียวกันผู้ให้บริการโคเวิร์กกิ้ง สเปซจะบริการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น โคลีฟวิ่งสเปซ โคมีตติ้งสเปซ โดยการเพิ่มห้องนอนชั้นบนของที่ทำงาน รวมไปถึงการขยายพื้นที่โคเวิร์กกิ้งสเปซใหม่ๆ ภายในพื้นที่ค้าปลีก