posttoday

ราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเริ่มขยับ

18 มีนาคม 2563

คอลัมน์ Property Digest

ท่ามกลางสภาพจราจรที่ติดขัดของกรุงเทพมหานครนั้น การพัฒนาขนส่งมวลชนระบบรางจึงถือเป็นข่าวดีให้คนกรุงได้ชื่นใจว่า สภาพการจราจรที่แน่นขนัดเช่นในทุกวันนี้จะผ่อนคลายลงในระยะเวลาอันใกล้ โดยเฉพาะนับแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ที่รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายต่างๆ ทยอยเปิดให้บริการจึงทำให้เกิดการเชื่อมต่อของการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น

การประกาศใช้ของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายนั้นไม่ได้เพียงแต่ส่งผลดีต่อการจราจรของคนเมืองหลวงเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิดการกระจายตัวของความเจริญตลอดแนวรถไฟฟ้าและนำไปสู่การกระจายตัวของที่อยู่อาศัยให้ขยายไปสู่ชานเมือง และรถไฟฟ้าก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาที่ดินตลอดแนวรถไฟฟ้าอีกด้วย

ดังเช่นล่าสุดพบว่าตัวเลขราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายได้ขยับขึ้นไปอย่างมีนัยสำคัญ ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯได้ประกาศตัวเลขราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาเขตกรุงเทพและปริมณฑล ประจำไตรมาส 4/2562 พบว่ามีค่าดัชนีเท่ากับ 284.7 จุด เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีที่ 256.5 และเพิ่มขึ้น27.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 223.2

โดยส่วนมากทำเลที่เพิ่มขึ้นจะเป็นพื้นที่ปลายสายรถไฟฟ้าที่มีแผนเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะสายสีเขียว คูคต- ลำลูกกา ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจาก หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่เปิดให้บริการแล้ว 4 สถานี ทำให้ทำเลนี้มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 66% ซึ่งถือว่าบริเวณนี้มีการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินมากที่สุดต่อเนื่องหลายไตรมาสแล้ว 

และในปี 2563 นี้ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจะเปิดให้บริการอีกหลายเส้นทาง ซึ่งทำให้มีโอกาสที่ราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้นได้แก่สายสีเขียวเหนือ (คูคต-ลำลูกกา) สายสีชมพู (แคราย -มีนบุรี) สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน -ศาลายา) สายสีเขียวใต้ (สมุทรปราการ - บางปู) และสายสีเทา (วัชรพล - พระราม 9 - ท่าพระ) และที่น่าสนใจอีกหนึ่งเส้นทางก็คือการก่อสร้างของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ซึ่งเป็นโครงการใหญ่มีความสำคัญต่อชาวกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกเป็นอย่างมาก

โดยโครงการในระยะที่ 1 จะมีเส้นทางตั้งแต่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ซึ่งตัดกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตรงเข้าสู่ถนนพระราม 9 แล้วเลี้ยวเข้าถนนรามคำแหง จนตัดกับสายสีเหลืองที่สถานีลำสาลี และสายสีชมพูที่สถานีมีนบุรี ก่อนสิ้นสุดโครงการที่สถานีสุวินทวงศ์ รถไฟฟ้าสายนี้จึงขยายขอบเขตในการเดินทางของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกได้อย่างกว้างขวาง โดยล่าสุด (ม.ค. 63) การก่อสร้างของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรีมีความคืบหน้าถึง 54.93% และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ทันในปี 2566 และแน่นอนเมื่อรถไฟฟ้าผ่านไปที่ไหนย่อมส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ในย่านนั้นด้วยเช่นกัน

ดังเช่นราคาที่ดินในเส้นรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี โดยเฉพาะบริเวณสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-สถานีลำสาลีซึ่งเป็นสถานีอินเตอร์เชนจ์บริเวณนี้ราคาที่ดินเติบโตเฉลี่ยพุ่งสูงถึง 12% ด้านอุปทานสะสมในตลาดพบว่าตั้งแต่ปี 2559-2562 เติบโตราว 11% ต่อปี

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีผู้ประกอบการเห็นถึงศักยภาพและนิยมเข้ามาพัฒนาโครงการใหมในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวมักกระจุกอยู่ในบริเวณรามคำแหงและแยกลำสาลี

ทั้งนี้ ในปี 2562 พบการพัฒนาโครงการใหม่เริ่มกระจายตัวออกไปยังฝั่งมีนบุรีมากขึ้นขณะที่ราคาคอนโดมิเนียมในบริเวณพื้นที่ตลอดเส้นรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น กลุ่มราคายังเกาะตัวในระดับราคาราว 85,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งเน้นกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองเป็นหลัก การปรับขึ้นของราคาที่ดินทั้งแนวรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ ถือว่าเป็นข่าวดีที่เศรษฐกิจยังมีการขับเคลื่อนส่งผ่านการเติบโตจากการลงทุนภาครัฐขยายไปยังส่วนอื่นๆ ซึ่งในปี 2563 นี้ก็จะเห็นการทยอยประกาศเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของราคาที่ดินใจกลางเมืองที่เริ่มหายาก ซึ่งในอนาคตเราอาจจะให้ได้เห็นราคาที่ดินชานเมืองเริ่มขยับแรงๆจนใกล้เคียงราคาที่ดินใจกลางเมืองก็เป็นได้