posttoday

สถาบันอบรม “เทรนครู” เป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้าน STEM ศึกษา ในงาน Regional STEM Symposium 2019

24 พฤษภาคม 2562

 

 

สถาบันอบรมพัฒนาครู "เทรนครู" โดย บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด เป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมแบ่งปันประสบการณ์การเรียนการสอนและบูรณาการ STEM Education ในงาน Regional STEM Symposium 2019 จัดโดย มูลนิธิ HEAD Foundation ประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ในวันที่ 27-30 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยภายในงานมีตัวแทนที่ได้รับเชิญจาก 9 องค์กร 9 ประเทศ เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อสร้างบรรทัดฐานร่วมกันของ STEM ศึกษาในภูมิภาคเอเชีย

จากการที่โลกได้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษ 21 นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆอย่างรวดเร็ว เป็นผลสืบเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ดังนั้น องค์กรและภาคธุรกิจทั่วโลก จึงมุ่งหวังที่จะหาบุคลากรที่มีทักษะการทำงานในศตวรรษที่ 21 (21st century skill) ซึ่งประกอบไปด้วย 6C ได้แก่ Critical Thinking (การคิดวิเคราะห์) Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) Collaboration (การประสานงานกับผู้อื่น) Communication (การสื่อสาร) Character (คุณลักษณะ) และ Citizenship (ความเป็นพลเมือง) ดังนั้น ระบบการศึกษาจึงต้องมีการปรับตัว เพื่อที่จะสามารถปูความรู้ และสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักเรียนได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถเป็นบุคลากรที่เป็นที่ต้องการในทุกกลุ่มธุรกิจ และสามารถสร้างอาชีพด้วยตนเองจากทักษะเหล่านั้น ซึ่งหนึ่งในหัวใจสำคัญด้านการศึกษาที่จะสามารถพัฒนาเด็กให้เข้าถึงคุณลักษณะแห่งศตวรรษที่ 21 ได้คือระบบ สเต็มศึกษา หรือ STEM Education ซึ่งเป็นการรวบรวมองค์ความรู้จากหลักวิชาต่างๆ อาทิ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง STEM ศึกษา อาจรวมถึงการใช้องค์ความรู้จากสาขาวิชาอื่นๆมาร่วมด้วย โดยในบางประเทศ ยังได้มีการบรรจุหลักศิลปะ และหลักมนุษยวิทยา เข้ามาในหลักสูตร STEM ซึ่งโดยรวมแล้ว หัวใจหลักของ STEM ศึกษา คือการสร้างให้เด็กนักเรียนมีทักษะที่สามารถติดตัวไว้ใช้ตลอดชีวิตหรือที่เรียกว่า Lifelong skills ทั้งนี้ STEM Education ไม่ได้มุ่งเพียงแค่การให้ความรู้ และฝึกฝนวิธีการทำงานให้เด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสอนให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ และสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของ STEM Education คือบรรทัดฐานและวิธีการสอน ที่อาจมีความแตกต่างกันตามบริบทของสังคมและประเทศ ดังตัวอย่างที่พบในบางประเทศ คือการพัฒนาหลัก STEM ศึกษาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศของตนเท่านั้น ดังนั้น นักเรียนที่ผ่านการเรียน STEM ศึกษาในบางประเทศ อาจจะมีทักษะที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจในอีกประเทศ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาความแตกต่างด้านบรรทัดฐานของ STEM ในระบบการศึกษา องค์กร และภาคธุรกิจ อาจเข้ามาช่วยสนับสนุน แนะนำ และชี้แจงถึงทักษะที่ภาคธุรกิจต้องการ หรือแม้แต่การให้ความรู้ในโลกความเป็นจริงทางธุรกิจ อาทิ การมอบหมายให้บุคลากรที่เชี่ยวชาญขององค์กรมาให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน หรือแม้แต่การรับเด็กนักเรียนฝึกงาน เพื่อให้พวกเขาได้รับประสบการณ์ในโลกความจริงแห่งธุรกิจด้วยตนเอง

ทั้งนี้ อ.ดร.ปรัชญพงศ์ ยาศรี อาจารย์ประจำสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายวิศรุต วิญญูเอกสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Social Impact และ หัวหน้าโครงการอบรมพัฒนาสมรรถนะครู บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่นส์ จำกัด ผู้แทนจากสถาบันอบรมพัฒนาครู Trainkru by LearnEducation ผู้เป็นตัวแทนจากประเทศไทยขึ้นกล่าวในงาน Regional STEM Symposium 2019 เผยว่า “สำหรับประเทศไทย STEM ศึกษาได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก โดยมีการจัดตั้งศูนย์ STEM ศึกษาทั้งระดับชาติ และระดับภูมิภาค มีใจหลักของหลักสูตร คือการมุ่งให้นักเรียนสามารถมีทักษะที่ยั่งยืนในตลาดแรงงานระดับสากล โดยรัฐบาลได้มีการขอความร่วมมือจากภาคเอกชน และสถานศึกษาต่างๆให้เข้ามาช่วยสนับสนุนในด้านองค์ความรู้ เพื่อให้ STEM ศึกษาพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ประเทศไทย ยังคงมีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของโรงเรียนทั่วประเทศ ทำให้ STEM ศึกษาไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างทัดเทียม โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่พบปัญหาความไม่สมดุลทางเพศสภาพในระบบ STEM ศึกษา

สถาบันอบรม “เทรนครู” เป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้าน STEM ศึกษา ในงาน Regional STEM Symposium 2019

“ดังนั้นมูลนิธิ HEAD Foundation ประเทศสิงคโปร์ จึงได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ในการจัด Regional STEM Symposium 2019 โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อสร้างบรรทัดฐานร่วมกันของ STEM ศึกษาในภูมิภาคเอเชีย โดยมีผู้แทนจากประเทศต่างๆทั่วเอเชีย อาทิ อินเดีย กัมพูชา คีร์กีซสถาน มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ อุซเบกิสถาน เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยมาเข้าร่วม เพื่อถ่ายทอดมุมมอง และอธิบายถึงองค์ความรู้ในระบบ STEM ศึกษาภายในประเทศของตน ทั้งนี้ มุมมองและองค์ความรู้จากผู้แทนแต่ละประเทศ จะถูกนำมาสร้างบรรทัดฐานของหลักสูตร รวมถึงพัฒนาระบบการเรียนการสอน STEM ศึกษาในแบบใหม่ที่ตอบโจทย์สากลร่วมกัน”

ทั้งนี้ สถาบันอบรมพัฒนาครู "เทรนครู" โดย บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กิจการเพื่อสังคมด้านการศึกษาในเครือบริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด หลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาครู เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาไทย โดยมีการบรรจุหลักสูตร STEM ศึกษาให้เป็นหนึ่งในสาขาวิชาหลักของหลักสูตร ซึ่งได้อบรมครูผ่านสื่อออนไลน์และสื่อแบบผสมผสานให้แก่ครูมาแล้วทั่วประเทศ ได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนของประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์การเรียนการสอนและบูรณาการ STEM Education ภายในงาน Regional STEM Symposium 2019 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นเวลาทั้งสิ้น 4 วันตั้งแต่วันที่ 27 – 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถรับรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://headfoundation.org/programmes/หรือติดตามข่าวสารการศึกษาและเรื่องราวเกี่ยวกับ STEM Education ได้ที่ www.trainkru.com