posttoday

กสทช.ผสานขุมกำลังปัญญาสถาบันอุดมศึกษาสร้างแนวรบร่วมขับเคลื่อนรู้ทันสื่อ

15 พฤศจิกายน 2561

กสทช.จัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมการรู้จักสิทธิรู้จักสื่อวิทยุ-โทรทัศน์กับภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคกลาง 14-15 พย.61 มีคณาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนเข้าร่วมกว่า 50 แห่ง

กสทช.จัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมการรู้จักสิทธิรู้จักสื่อวิทยุ-โทรทัศน์กับภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภาคกลาง 14-15 พย.61 มีคณาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนเข้าร่วมกว่า 50 แห่ง
 
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้ปฏิบัติงานประจำกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวบรรยายภายใต้หัวข้อเรื่อง “พัฒนาการสื่อภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐไทย” โดยเปิดประเด็นให้ตระหนักว่า การรู้เท่าทันสื่อประการแรกคือผู้ที่จะมากำกับการรู้เท่าทันสื่อนั้นต้องรู้เท่าทันสังคมก่อน โดยต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมไม่แยกส่วน บนพื้นฐานของความจริงที่ดำรงอยู่ การที่ต้องสร้างประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อนั้น ต้องพิจารณาปัญหาที่หลากหลายมิติทั้งปัญหาการเมือง ปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ประมวลถาโถมไปที่องค์กรสื่อเองที่ต้องสร้างความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ อีกทั้งความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ของปัจเจกบุคคลของคนทำสื่อเอง ตลอดจนถึงบทบาทภาครัฐ ภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้รับเรื่องราวร้องเรียนจำนวนมาก ในประเด็นปัญหาด้านสาร (message) การโฆษณาที่เกินจริง การใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึงการรายการเล่าข่าวที่ใส่ความคิดเห็นลงไปมากกว่าความเป็นจริง
 
“ กสทช.ออกใบอนุญาตให้สื่อการเมืองออกไปได้อย่างไร กลุ่มการเมืองใช้สื่อเหมือนโฆษณาชวนเชื่อ ข้อมูลข่าวสารที่ใส่ไปยังประชาชน เหมือนการต้มน้ำที่เติมข้อมูลข่าวสารลงไปให้ผู้รับสารเดือดขึ้นด้วยสารทางการเมือง เราอนุญาตให้เล่าข่าวที่เติมแต้มความคิดเห็น เราเอาทฤษฏีไหนมารองรับหรือไม่อย่างไร ถ้ารัฐไม่กำกับ ภาคส่วนวิชาการไม่ร้องเตือน”ดร.ธนกร กล่าว
 
อย่างไรก็ตามในมุมมองการแก้ไขปัญหาในการกำกับดูแลสื่อนั้น ดร.ธนกรเสนอว่า ต้องมองทุกอย่างแบบองค์รวมไม่แยกส่วน ซึ่งทฤษฏีที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ความเป็นจริงอย่าง ทฤษฏีโครงสร้างอำนาจ/ทฤษฏีความขัดแย้ง (Marco Theory/conflict) ที่มององค์รวมทั้งระบบสังคมภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐ ที่โครงสร้างนั้นกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจและกำหนดโอกาส และเชื่อว่าเศรษฐกิจ การเมืองมีอิทธิพลส่งผลซึ่งกันและกัน เชื่อว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวแปรหลักของโครงสร้าง และเชื่อว่าระบบความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของคนในสังคมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับโครงสร้างรัฐ

ดร.ธนกรทิ้งท้ายถึงสภาพปัญหาในโลกความจริงที่กำลังเผชิญอยู่ในทางวิชาการและวิชาชีพสื่อสารมวลชนนั้นสังคมกำลังเผชิญปัญหาผลกระทบจากโลกยุคดิจิทัล พฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไป วิกฤติวิธีคิดทางทฤษฎีความรู้ วิกฤติด้านเนื้อหาสื่อ และวิกฤตินโยบายรัฐ จึงมีข้อเสนอแนะในประเด็นความร่วมมือทางวิชาการหรือสร้างองค์กรร่วม การสนับสนุนสื่อสาธารณะ การส่งเสริมเนื้อหาที่สะท้อนปัญหาชาติ การส่งเสริมการผลิตเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ และการส่งเสริมเครือข่ายภาคประชาสังคม

ทั้งนี้ก่อนหน้าการบรรยาย ดร.รมิดา จรินทิพย์พิทักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้กล่าวเปิดเวทีชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดสัมมนาเพื่อสร้างเครือข่ายกับสถาบันอุดมศึกษาขับเคลื่อนความรู้ในการรู้เท่าทันสื่อในสถาบันอุดมศึกษาและเพื่อขับเคลื่อนไปยังภาคส่วนต่างๆ ทั้งนี้เพราะการกำกับดูแลจะใช้แต่หลักกฎหมายโดยการกำกับของสำนักงานกสทช.โดยลำพังไม่ได้เพราะสิ่งสำคัญคือพลังจากประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนไปพร้อมกับสำนักงาน กสทช.

กสทช.ผสานขุมกำลังปัญญาสถาบันอุดมศึกษาสร้างแนวรบร่วมขับเคลื่อนรู้ทันสื่อ